จดแล้วไม่ค่อยจำ เข้าใจแล้วไม่ค่อยลืม
 
     
 
หวังป่าคู่ "ภูทับเบิก"
ด้วยจุดเด่นในหลายด้านของภูทับเบิกทำให้นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปพักผ่อนกันจำนวนมาก ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ภูทับเบิกมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
 

 

•"ภูทับเบิก"เกริกก้องการท่องเที่ยว

คนลดเลี้ยวเทียวไปอย่างไหลหลั่ง

ยิ่งนับวันเลื่องลือชื่อโด่งดัง

"ภู"รอพัง "ทับ"ถมช้ำ "เบิก"น้ำตา

•อดีตกาลชาวภูเขาคนเผ่าม้ง

เร่ร่อนลงจากจีนใต้ตายดาบหน้า

ยึดภูสูงถิ่นไทยไพรพนา

จับจองป่าถากถางสร้างบ้านเรือน

•พืชเกษตรปลูกดาษดื่นในพื้นที่

กะหล่ำปลีทะเลผักยากใดเหมือน

ยิ่งขายดียิ่งรุกใหญ่ไม่แชเชือน

ปลูกกันเกลื่อนลามลุกสุดลูกตา

•ทิวทัศน์งามตื่นใจยามได้เห็น

อากาศเย็นตลอดปีที่ยากหา

ทะเลหมอกเกินสรรสุดพรรณา

แดดทอฟ้าตื่นชมชื่นลมโชย

•หยาดน้ำค้างพราวพร่างจากกลางหาว

ชมหมู่ดาวคนเหงาเศร้าใจโหย

ซากุระดอกรายร่วงปรายโปรย

ชมพูโรยกลางป่าพาหนาวใจ

•นักท่องเที่ยวทะลักมาพาทำวุ่น

เหล่านายทุนซื้อหากล้าทุ่มให้

จึงเหล่าม้งหลายรายขายที่ไป

ทั้งรุกใหม่บุกป่าพาวอดวาย

•ก่อเดือดร้อนปัญหาสารพัด

ภูมิทัศน์เริ่มด้อยพลอยเสียหาย

น้ำเริ่มขาดขยะมากยากทำลาย

คนมากมายคณานับคับคั่งนัก

•ต้องปรับใหม่ให้น่าอยู่"ภูทับเบิก"

วอนคนเลิกมุ่งเงินตราเกิดตระหนัก

เน้นท่องเที่ยวเคียงคู่อนุรักษ์

เพื่อปกปักชุมชนเกิดผลดี

•ครูนิด วน.43 (ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

แรงดลใจ: 

ภูทับเบิกเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ที่บ้านทับเบิก ต.วังบาน ห่างจากอำเภอหล่มเก่า 40 กิโลเมตร ตามเส้นทางจากหล่มเก่า ไปภูหินล่องกล้า  หรือห่างจากตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 90 กิโลเมตร ภูทับเบิกมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตร มีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามด้วยธรรมชาติแบบทะเลภูเขา  มีอากาศบริสุทธิ์ สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี เนื่องจากร่องลมเย็นจากเทือกเขาหิมาลัย และอยู่บนที่สูง จึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยช่วงเช้าสามารถมองเห็นกลุ่มเมฆและทะเลหมอกตัดกับยอดเทือกเขาเพชรบูรณ์  ทำให้มีสภาพที่สวยงามยิ่ง ภูทับเบิกเคยเป็นสถานที่สำคัญในการเป็นจุดรองรับน้ำฟ้ากลางหาวเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542  เพื่อนำไปประกอบทำน้ำเพชรน้อมเกล้าถวายเป็นน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ถวายในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542

ภูทับเบิกเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่อพยพมาจากจีนตอนใต้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาตั้งรกรากในประเทศไทย ลาว และเวียตนาม สำหรับในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้มาตั้งรกรากในท้องที่จังหวัด แพร่ น่าน พะเยา เชียงใหม่ และบางส่วนอพยพตามเทือกเขาลงมาอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์และที่บ้านภูทับเบิก   ทางราชการโดยกรมประชาสงเคราะห์(กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ.2509 ได้รับการมอบหมายให้ดำเนินการนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร ชุมชนประกอบอาชีพหลักได้แก่การทำเกษตรแบบขั้นบันไดตามภูเขา ส่วนใหญ่ทำการปลูกกะหล่ำปลี ผักกาดขาว     แครอท บล็อคโคลี่ และสตรอเบอรี่  โดยเฉพาะกะหล่ำปลีนั้นเป็นที่นิยมปลูกกันมากสุดลูกหูลูกตา จัดได้ว่าเป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ด้วยจุดเด่นในหลายด้านของภูทับเบิกทำให้นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปพักผ่อนกันจำนวนมาก   ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ภูทับเบิกมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว  จึงมีนายทุนทั้งชาวไทยและชาวม้งได้ทำการก่อสร้างบ้านพักและรีสอร์ทเป็นจำนวนมาก บางส่วนมีการเปลี่ยนผู้ครอบครองที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การเติบโตทางการท่องเที่ยวปราศจากการวางแผนที่ดี การก่อสร้างเกิดขึ้นอย่างสะเปะสะปะโดยขาดการจัดระบบ ไม่มีแผนการท่องเที่ยวรองรับ ทำให้เป็นการท่องเที่ยวแบบไร้ทิศทาง ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งด้านน้ำกินน้ำใช้ การเพิ่มขึ้นของขยะ การแออัดทางด้านจราจร การทำลายภูมิทัศน์ที่คาดไม่ถึง การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นธรรมฯลฯ หากปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีกเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเกิดดินสไลด์ หรือโคลนถล่มในบริเวณหน้าผาสูงชัน และการตัดต้นไม้ทำลายป่า  จึงต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนจะสายเกินแก้เหมือนบางพื้นที่

 


Last updated: 2015-10-25 09:23:06


@ หวังป่าคู่ "ภูทับเบิก"
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ หวังป่าคู่ "ภูทับเบิก"
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,034

Your IP-Address: 3.135.247.17/ Users: 
1,033