ในช่วงวิกฤตการณ์ต้องคิดถึงคนอื่นให้มาก ๆ
 
     
 
พลังเครือข่ายสมุทรสาคร
มีพื้นที่บางส่วนที่ติดกับชายฝั่งอ่าวไทย ได้ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่และทรัพย์สินของชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมาก
 

•ชายทะเลพันท้ายนรสิงห์

ริมตลิ่งพังทลายไปโคกขาม

บางหญ้าแพรกแหลกซ้ำน้ำคุกคาม

คลื่นลุกลามบางกระเจ้าพาร้าวราน

•อีกบ้านบ่อน้ำเซาะเลาะเล็มกัด

บางโทรัดชายฝั่งหายให้สงสาร

ถิ่นกาหลงเจอปัญหาพาซมซาน

ชุมชนบ้านนาโคกโศกระทม

•หลายปีแล้วต้องผจญทนปัญหา

หลายน้ำตาร่วงหล่นจนขื่นขม

หลายครอบครัวหมองหม่นคนล่มจม

หลายคลื่นลมยังบุกรุกรานมา

•ยิ่งคอยหนียิ่งซ้ำระกำนัก

ยิ่งคอยผลักยิ่งแพ้พ่ายให้ปัญหา

ยิ่งคอยกลัวยิ่งชอกช้ำเสียน้ำตา

ยิ่งผวายิ่งฝันร้ายในชีวัน

•จนพบเพื่อนผลักดันให้ทันรู้

รวมเป็นหมู่สู้ไปให้ถึงฝัน

หลากวิธีต้านไปใฝ่ประจัน

ไม่หวาดหวั่นลมคลื่นฝืนสู้ภัย

•ทั้งทำเขื่อนป้องไว้ชายตลิ่ง

นำหินทิ้งแน่นหนักปักไม้ไผ่

ลดลมคลื่นตะกอนถมสะสมไป

ปลูกป่าไม้ยึดพื้นที่ยิ่งดีนัก

•ค่อยร่วมทำช่วยกันวันละนิด

ร้อยความคิดจิตใจให้แน่นหนัก

ร้อยน้ำใจเหลือล้นปนความรัก

จนประจักษ์ถักทอก่อสัมพันธ์

•คือพลังเครือข่ายไม่สิ้นสุด

เพื่อสมุทรสาครขจรฝัน

หวังชายฝั่งพบสุขทุกคืนวัน

เอื้อชุมชนผลอนันต์สืบนานไป

• ครูนิด วน. 43

17.00 น. 25 มีค. 58

ดูงานกัดเซาะชายฝั่งเพชรบุรี -ชุมพร

แรงดลใจ:

ชุมชน 8 ตำบลได้แก่พันท้ายนรสิงห์ โคกขาม บางหญ้าแพรก บางกระเจ้า บ้านบ่อ บางโทรัด กาหลง และนาโคก ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีพื้นที่บางส่วนที่ติดกับชายฝั่งอ่าวไทย ได้ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่และทรัพย์สินของชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างมากกับทั้งปัญหามีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับทั้งนี้ได้มีความพยายามจากชาวบ้าน หน่วยงานราชการทั้งในท้องถิ่น และส่วนกลาง รวมทั้งภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่นการสร้างเขื่อน การใช้ไส้กรอกทราย การทิ้งหิน การปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น การปลูกป่าชายเลน เป็นต้น เพื่อป้องกันชายฝั่งพังทลาย ซึ่งแต่ละวิธีจุดแข็งจุดอ่อนและมีความเหมาะสมที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้พี่น้องในชุมชนที่ติดชายฝั่งทั้ง 8 ตำบล ได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จังหวัดสมุทรสาคร ขึ้น โดยมุ่งหวังให้ชาวบ้านได้มีการร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดทั้งแสวงหาทรัพยากรที่จำเป็นในการช่วยเหลือชุมชนเพื่อคลี่คลายปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556ซึ่งได้มีการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายหลายด้าน เช่น การศึกษาดูงานที่ชุมชนอื่น ทั้งในจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี เพชรบุรี และชุมพร การซ่อมแซมแนวไม้ไผ่ที่เคยปักไว้ในบางชุมชน การปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ที่มีเลนตกตะกอนชายฝั่ง การเก็บขยะในบริเวณป่าชายเลนและชายฝั่งของชุมชน การตั้งกองทุนเพื่อการบริหารงานของเครือข่าย ทั้งนี้เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจังอีกทางหนึ่งแล้วเครือข่ายคงประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังเอาไว้

อย่างไรก็ตามการที่เครือข่ายจะมีความเข้มแข็งมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับกรรมการและสมาชิกของเครือข่ายต่อการมีจิตสำนึกและให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนของตนเองและชุมชนข้างเคียง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครและประเทศชาติเป็นการต่อเนื่อง


Last updated: 2015-04-11 11:22:12


@ พลังเครือข่ายสมุทรสาคร
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พลังเครือข่ายสมุทรสาคร
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,159

Your IP-Address: 3.16.76.36/ Users: 
1,158