องค์สมเด็จพระเทพฯทรงแนะนำ
ชาวบ้านทำโครงการฯอันมุ่งผล
"เศรษฐกิจพอเพียง" เคียงชุมชน
ประโยชน์ล้นสู่ประชาค่าอนันต์
ไปเยี่ยมเยียนยี่สิบสองผองหมู่บ้าน
ถิ่นอีสานเริ่มสดใสไปสู่ฝัน
พอประมาณมีเหตุผลภูมิคุ้มกัน
เชื่อมสัมพันธ์ความรู้คู่คุณธรรม
หลายครอบครัวผลงานดีทีเด็ดนัก
ด้วยตระหนักรักชุมชนผลเลิศล้ำ
พืชสัตว์เลี้ยงงานหลากหลายใฝ่น้อมนำ
กิจกรรมเพื่อส่วนรวมร่วมพัฒนา
มีผู้นำแข็งขันมั่นประสาน
ราชการหมั่นส่งเสริมเพิ่มหรรษา
เกิดพลังผลักดันสร้างสรรค์พา
เชื่อมโยงป่าชุมชนคนรุ่งเรือง
สหกรณ์พาจำเริญเงินคล่องดี
ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ลือเลื่อง
ปุ๋ยท้องถิ่นลดรายจ่ายไม่สิ้นเปลือง
ช่วยประเทืองรายได้ให้ชุมชน
เกิดเครือข่ายห่วงหาอาทรนัก
ทั้งทอถักร่วมมือระบือผล
ทรัพยากรระดมไว้คลายอับจน
เพื่อทุกคนคลายทุกข์สุขอุรา
ชาวบ้านฝากกุหลาบแดงแฝงไมตรี
กล้วยหัวปลีลูกตะคร้อใบยี่หร่า
ผักกะเฉดถั่วลิสงผลพุทรา
ต้นพลูป่ายอดกระถินถั่วฝักยาว
สะระแหน่ผักบุ้งพริกตะไคร้
ข่าหน่อไม้ฝักเพกากะเพราขาว
ใบมะกรูดมะม่วงเห็ดมะนาว
ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ที่ลือนาม
ลูกมะกอกมะละกอแก้วมังกร
เสื่อกกหมอนน้ำผลไม้ให้ล้นหลาม
ถึงไม่รวยยิ่งใหญ่แต่ใจงาม
ซาบซึ้งความมี "น้ำใจ"ในทุกคน
จากกันแล้วรอวันหน้ากลับมาใหม่
อวยพรให้โครงการฯนั้นเกิดผล
ร้อยใจรักสามัคคีมิอับจน
มีสุขล้นกันทั่วทุกครัวเรือน
ครูนิด วน.43(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ;
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานให้พสกนิกรชาวไทยได้ใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต การดำเนินงานและกิจการต่างๆ เป็นไปอย่างยั่งยืน ด้วยความไม่ประมาท มีความพอเหมาะพอสม มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันและเกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้านอย่างสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความผาสุกและมั่นคงทั้งในระดับบุคคล กลุ่มและ ชุมชน อันจะส่งผลต่อสังคม ตลอดทั้งประเทศชาติเป็นการต่อเนื่อง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเอง รวมถึงการพัฒนาในระดับต่างๆ ซึ่งโครงการในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และหน่วยงานต่างๆ ได้ส่งเสริมให้ชุมชนหมู่บ้านเป้าหมาย ได้มีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การเรียนรู้และลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยในรุ่นที่ 1 ในปี พ.ศ.2557 มีจำนวน 22 ชุมชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การดำเนินงานของโครงการฯได้มีความก้าวหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสไปเยี่ยมพื้นที่และให้การนิเทศติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของชุมชนทั้งหมด ในภาพรวมพบว่าประสบผลสำเร็จในเบื้องต้นอย่างน่าพึงพอใจ กับทั้งได้รับการต้อนรับและให้ความร่วมมือจากผู้นำและสมาชิกของชุมชนต่างๆ เป็นอย่างดียิ่ง ทำให้มีความรู้สึกภาคภูมิใจและซาบซึ้งในไมตรีจิตที่ได้รับครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง
Last updated: 2014-10-23 20:35:33