เกิดเป็นลูกชาวนาชายป่าเขา
แต่ใจเฝ้าใฝ่เรียนเพียรศึกษา
สมพ่อแม่หวังใจได้ปริญญา
เกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัย
เบื่อเมืองกรุงเหลือล้นมีมลพิษ
ทั้งรถติดน้ำโสโครกโรคเครียดใส่
คนเล่ห์เหลี่ยมแก่งแย่งแล้งน้ำใจ
ของกินใช้แพงโลดโหดร้ายจริง
ทำงานหลวงก็ไม่เป็นเช่นที่หวัง
นายคอยสั่งทั้งรีดไถไปทุกสิ่ง
ครั้นเปลี่ยนมาเอกชนทนติติง
เขาใช้ยิ่งงานเยอะเกินเทียบเงินตรา
พ่อแบ่งให้ได้ที่นามาสิบไร่
จึงตัดใจกลับบ้านที่ฝันหา
หอบความรู้คู่ใบปริญญา
ติดข้างฝากระตุ้นใจให้ก้าวเดิน
น้อมนำพาเกษตรทฤษฎีใหม่
ปรับที่นาเหลือสามไร่ไม่ขัดเขิน
ไม้ยืนต้นปลูกสามไร่ไว้ทำเงิน
กลัวแล้งเกินขุดสระน้ำอีกสามไร่
ส่วนที่เหลือหนึ่งไร่ใช้ปลูกบ้าน
ทำสวนครัวผสมผสานการเลี้ยงไก่
ทั้งปุ๋ยหมักผักอินทรีย์สมุนไพร
เน้นเลิกใช้สารเคมีหนีภัยมา
ยอมเหน็ดเหนื่อยหนักเหลือเหงื่อไหลปรี่
ไม่กี่ปีปานสวรรค์ดังฝันหา
ผลผลิตจากเหงื่อไคลได้พึ่งพา
ใช้ชีวาที่เรียบง่ายสมใฝ่ปอง
เก็บกระถินสักกำตำน้ำพริก
ผัดขลุกขลิกปลาสวายจากในหนอง
เจียวไข่ไก่กลิ่นโชยมาน่าลิ้มลอง
หอมข้าวกล้องเกี่ยวได้จากในนา
ขาดก็เพียงคนเคียงคู่ที่รู้ใจ
ได้ชิดใกล้ปันทุกข์สุขหรรษา
ทั้งกอดเกยเคลียเคล้าเจ้ากานดา
ค่ำคืนมาหายเปลี่ยวนอนเดียวดาย
ขอเพียงเธอมั่นคำพ่อความพอเพียง
สุขร่วมเรียงเคียงวิถีที่มั่นหมาย
คนบ้านป่าจะมอบให้ทั้งใจกาย
จวบวันตายขอใฝ่อยู่คู่เนื้อนวล
ครูนิด วน.(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ:
จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาเกือบสี่สิบปี หลังจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าผู้ที่เรียนจบทางด้านการเกษตร(รวมถึงป่าไม้)ทุกระดับ จากสถาบันการศึกษาทั้งในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาค ส่วนใหญ่แล้ว(เกือบทั้งหมด)มุ่งแต่ทำงานภาคราชการหรือเป็นลูกจ้างภาคเอกชน มีเพียงจำนวนน้อยนิดเหลือเกินที่หวนกลับไปประกอบอาชีพทางด้านเกษตรตามที่ร่ำเรียนมาอย่างมากมาย จึงเกิดคำถามในใจอยู่เสมอว่า ทำไมสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จึงไม่ตั้งเข็มสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เพื่อให้กลับไปประกอบอาชีพการเกษตรที่บ้านเกิดของตนเพราะมีทุนทางสังคมอยู่อย่างเพียงพอทั้งที่ดิน ภูมิปัญญาและทรัพยากรอื่น ๆ ที่บุพการีมีไว้อยู่แล้ว
หากผู้เรียนปรับแนวความคิดที่ไม่หลงวัตถุนิยมและชีวิตที่หลงระเริงกับแสงสี ตลอดจนความสะดวกสบายกับความเป็นอยู่จนมากเกินไป โดยตั้งความมุ่งหมายตะเกียกตะกายทำงานภาคราชการหรือภาคเอกชนเพื่อหวังยศถาบรรดาศักดิ์หรือค่าตอบแทนที่เหมือนเหยื่อล่อ จนเกิดผลลบต่อตัวเองในหลายด้านไม่ว่าทั้งต่อตัวเองและต่อครอบครัว แล้วหันมาประยุกต์ใช้แนวคิดด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ในที่ดินตนเองหรือการเกษตรอื่นๆ ตามศักยภาพของตนเองโดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ มาเป็นหลักในการดำรงชีวิตแล้ว เชื่อว่าคงมีความสุขมากกว่าการทำงานภาคราชการหรือภาคเอกชนอย่างเทียบไม่ได้
ทั้งนี้มีตัวอย่างจากความสำเร็จของหลายคนที่อาจใช้เป็นแบบอย่างได้อย่างแท้จริง เพียงแต่เป็นสิ่งท้าทายให้ผู้กล้าต่อการแหกคอกหรือปลดเปลื้องพันธนาการของสังคมได้พิสูจน์ตัวเองเท่านั้น
Last updated: 2014-09-27 10:35:22