กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
อย่าให้งานต้องรอการตัดสินใจของเรา
 
     
 
อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนไป
กลุ่มคนที่ล่อแหลมต่อผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มไร้ที่ทำกิน และกลุ่มยากจน
 

ความต้องการของมนุษย์ ส่งผลต่อการใช้ทรัพยากร และการปลดปล่อยพลังงานฟอสซิลที่ฝังตัวอยู่ใต้ดินสู่บรรยากาศ ในรูปของกาซเรือนกระจก ซึ่งทำให้ภูมิอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี และมีอัตราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

IPCC (2001) ได้รวบรวมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ดังนี้

                    1)    การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำในทะเลและมหาสมุทร มีการคาดการณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอาจทำให้ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร ในปี พ.ศ. 2643 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรอาจส่งผลให้ระดับน้ำทะเลในท้องถิ่นหรือภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นคือการขยายตัวของผิวน้ำทะเลเมื่อความร้อนเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการละลายของภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกเป็นตัวสนับสนุน

                            ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ดี พื้นที่แต่ละแห่งมีโอกาสจะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน ผลกระทบที่สำคัญคือ พื้นที่บริเวณชายฝั่งจะถูกน้ำท่วมและถูกกัดเซาะมากขึ้น โดยเฉพาะแถบชายฝั่งของประเทศกำลังพัฒนาที่มีขีดความสามารถในการปรับตัวต่ำ อย่างไรก็ดี แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากระดับการป้องกันยังเป็นอยู่เช่นในปัจจุบัน ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้นคือการสูญเสียที่ดินอันเนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจะมีมากขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าหากระดับน้ำทะลสูงขึ้นอีก 1 เมตร พื้นที่ชายฝั่งของประเทศต่างๆ จะสูญหายไป เช่น ประเทศอุรุกวัยจะหายไปร้อยละ 0.05 ประเทศอียิปต์ร้อยละ 1 ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 6 ประเทศบังคลาเทศ ร้อยละ 17.5 และประเทศที่เป็นหมู่เกาะบางประเทศ อาจสูญเสียถึงร้อยละ 80

                            ทางเลือกเชิงนโยบายในการปรับตัวต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมีค่อนข้างจำกัด ส่วนหนึ่งเนื่องจากชายฝั่งมักมีลักษณะเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งไม่อาจหาพื้นที่ลักษณะเดียวกันมาทดแทนได้เช่นทรัพยากรที่ดินทั่วไป มาตรการที่อาจดำเนินการเพื่อเตรียมรับระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ การสร้างเขื่อนหรือแนวป้องกัน การออกกฎระเบียบในการก่อสร้างเพื่อป้องกันการคุกคามระบบนิเวศ และการกำหนดระเบียบในการพัฒนาชายฝั่ง เป็นต้น

                    2)    ผลกระทบต่อการเกษตร  ผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยบางภูมิภาคอาจได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ และการเปลี่ยนแปลงของมรสุม ซึ่งอาจทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น การศึกษาในระดับโลกที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มดังนี้

  • เขตภูมิอากาศและเขตเกษตรมีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายไปในทิศทางสู่ขั้วโลก เนื่องจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในแถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้มากกว่าแถบศูนย์สูตร การเคลื่อนย้ายของเขตภูมิอากาศจะมีผลต่อการผลิตพืชและสัตว์เป็นอย่างมาก
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพฝนจะมีผลต่อความชุ่มชื้นในดิน ภายใต้ข้อสมมุติว่าอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 1-3.5 องศาเซลเซียสใน 100 ปีข้างหน้า แบบจำลองสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ว่า ปริมาณ และความถี่ ของการระเหยของน้ำและน้ำฝนจะเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้บางภูมิภาคจะมีความชุ่มชื้นมากขึ้น ในขณะที่บางภูมิภาคจะแห้งแล้งมากขึ้น พื้นที่ที่เสี่ยงต่อความแห้งแล้งในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบที่ยาวนานขึ้น
  • อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตและความแข็งแรงของพืชบางชนิด แต่ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลเสียต่อพืชบางชนิด โดยเฉพาะเมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำ วัชพืชอาจแพร่กระจายจากเขตร้อนชื้นไปยังเขตอบอุ่น
  • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ของพืชได้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะกระตุ้นการสังเคราะห์แสงของพืชบางชนิด ทำให้ประสิทธิภาพการใช้น้ำของพืชเพิ่มมากขึ้น จากการทดลองโดยสมมุติว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าชี้ให้เห็นว่า “ปุ๋ยคาร์บอนไดออกไซด์”สามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยของพืชขึ้นอีกร้อยละ 30 ผลกระทบอาจเพิ่มมากขึ้น หรือลดน้อยลง ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ศัตรูพืช และความอุดมสมบูรณ์
  • ผลผลิตต่อพื้นที่ของหญ้าในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการทำปศุสัตว์ให้เพิ่มสูงขึ้น
  • ผลผลิตประมงของโลกอาจไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดในระดับประเทศหรือท้องถิ่นที่อาจต้องเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ หรือโยกย้ายสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งผลกระทบต่อท้องถิ่นนี้อาจมีแรงกดดันต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่พึ่งพาการประมง
  • กลุ่มคนที่ล่อแหลมต่อผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มไร้ที่ทำกิน และกลุ่มยากจน โครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอ การขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีข่าวสาร ตลอดจนข้อขัดแย้งทางการเมือง ทำให้การปรับตัวต่อผลกระทบด้านการเกษตรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นไปได้ยากลำบากขึ้น ประชาชนที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงนี้ได้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแถบอาฟริกา เอเซียใต้ อเมริกากลาง และบางประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก

                    3)    ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศความหลากหลายทางชีวภาพจะถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็ว อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้เขตภูมิอากาศปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะพื้นที่ในเขตอบอุ่น  องค์ประกอบและการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตตามพื้นที่ของระบบนิเวศธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมใหม่ พืชและสัตว์ต่างๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ไม่อาจกลับคืนมาได้ แนวโน้มของผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพจะกล่าวโดยละเอียดในหัวข้อที่ 4.2 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

  • ป่าไม้มีการปรับตัวอย่างช้าๆ ตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จากการสังเกตการณ์ การทดลอง และแบบจำลองในการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียสจะมีผลต่อบทบาทและองค์ประกอบของป่าไม้ ภาพจำลองของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลกระทบต่อองค์ประกอบของพรรณไม้ในป่าถึงหนึ่งในสามของโลก ป่าบางชนิดอาจสูญสลายในขณะที่องค์ประกอบของพันธุ์ใหม่อาจเกิดขึ้น ทำให้มีระบบนิเวศใหม่ได้ การคุกคามของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น อาจรวมถึงศัตรูพืช และไฟป่าที่เพิ่มขึ้น
  • อุณหภูมิและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นจะเปลี่ยนแปลงขอบเขตระหว่างทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าไม้และระบบนิเวศอื่น ในเขตร้อนชื้น การเปลี่ยนแปลงของการระเหยของน้ำอาจมีผลต่อผลผลิตพืชและจำนวนสัตว์ รวมทั้งสัดส่วนของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เป็นอย่างมาก
  • พื้นที่ชุ่มน้ำอาจลดลง พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ของพืชและสัตว์มากมาย และยังเป็นแหล่งปรับปรุงคุณภาพน้ำ ควบคุมน้ำท่วม และสภาวะแห้งแล้ง การศึกษาในหลายประเทศชี้แนะว่าโลกร้อนขึ้นจะมีผลทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำลดน้อยลง เนื่องจากอัตราการระเหยที่เร็วขึ้น

                    4)    ผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณและความถี่ของฝนเปลี่ยนแปลง จากการศึกษาโดยใช้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยสมมุติให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็นสองเท่า พบว่า ปริมาณน้ำฝนของโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5แต่ปริมาณน้ำฝนจะแตกต่างกันตามภูมิภาค นอกจากนี้ ผลจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ปริมาณน้ำท่าลดน้อยลงกว่าเดิม ประเด็นสำคัญของผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ สามารถสรุปได้ดังนี้

  • แม้จะมีฝนตกมากขึ้น แต่จะมีการระเหยมากขึ้นเช่นกัน โดยทั่วไปแล้ว การเร่งตัวของวงจรน้ำนี้จะทำให้มีน้ำฝนมากขึ้น แต่ปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นนี้ อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่พึงประสงค์
  • ปริมาณน้ำฝนจะมากขึ้นในบางพื้นที่และลดลงในบางพื้นที่ การเปลี่ยน แปลงของปริมาณฝนอาจมีผลต่อปริมาณน้ำบนพื้นผิว การสะท้อนแสงและพืชพรรณธรรมชาติ ซึ่งมีผลต่อการระเหยของน้ำ และการก่อตัวของเมฆและจะส่งผลกลับมายังปริมาณน้ำฝนอีก
  • ภูมิภาคใกล้ขั้วโลกเหนืออาจมีน้ำท่วมมากขึ้นเนื่องจากฝนตกมากขึ้น แบบจำลองสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่แสดงว่าในหน้าหนาวพื้นที่ที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรมากจะมีน้ำมากขึ้นในขณะที่ในพื้นที่อื่นจะลดลง แบบจำลองส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าความชื้นของดินและพื้นที่ปลูกธัญญพืชที่สำคัญบางแห่งในเขตอบอุ่นจะลดลง
  • การคาดการณ์ผลกระทบในเขตร้อนชื้นทำได้ค่อนข้างยาก แบบจำลองสภาพภูมิอากาศให้ผลแตกต่างกันในเรื่องของเข้มข้นและการกระจายของน้ำฝนในเขตร้อนชื้น ความซับซ้อนของระบบภูมิอากาศในเขตร้อนชื้นทำให้การคาดการณ์มีความไม่แน่นอนสูง การศึกษาเบื้องต้นในประเทศไทยพบว่าผลที่ได้ระหว่างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศมีความแตกต่างกันสูง เนื่องจากแบบจำลองที่ใช้เป็นแบบจำลองระดับโลก ปัจจุบัน จึงได้มีการดำเนินการวิจัยเพื่อศึกษาแบบจำลองภูมิอากาศโดยใช้แบบจำลองระดับท้องถิ่น เพื่อให้มีความถูกต้องมากขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงของฝน ส่งผลกระทบต่อการกระจายของน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินในภูมิภาคต่างๆ
  • สภาพภูมิอากาศมีความแห้งแล้งมากขึ้น พื้นที่แห้งแล้งและกึ่งแห้งแล้งอาจมีความอ่อนไหวมากขึ้นอันเนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลง  รวมทั้งการระเหยของน้ำและการคายน้ำของพืชที่มากขึ้น
  • ปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำและบ่อน้ำ การเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวจะมีอิทธิพลต่อปริมาณน้ำใต้ดินและน้ำบาดาลในระยะยาว
  • การเปลี่ยนแปลงของน้ำท่าและการระเหยของน้ำจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบนิเวศของธรรมชาติ ในระบบนิเวศน้ำจืดนั้น การเปลี่ยนแปลงระดับของน้ำ อุณหภูมิของน้ำ และความร้อนของน้ำมีผลต่อการอยู่รอดและการเติบโตของพืชบางชนิด ส่วนการเปลี่ยนแปลงลักษณะการไหลของน้ำและปริมาณน้ำฝน จะส่งผลต่อคุณภาพของน้ำ และปริมาณน้ำในทะเลสาบและลำน้ำ

                    5)    ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากสุขภาพขึ้นอยู่กับอาหารที่พอเพียง น้ำดื่มที่สะอาด และสภาพแวดล้อมที่ดี ตลอดจนเงื่อนไขของสังคมที่เหมาะสมในการควบคุมเชื้อโรคติดต่อ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพของมนุษย์ อาจสรุปได้ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและบ่อยขึ้น เช่น คลื่นความร้อน อุทกภัย พายุ และความแล้ง เป็นภัยคุกคามที่อาจก่อให้เกิดภัยถึงแก่ชีวิต สภาวะขาดธาตุอาหาร การโยกย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ การระบาดของโรค และปัญหาสุขภาพจิต
  • คลื่นความร้อนเกี่ยวโยงกับโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ความเจ็บป่วยและการสูญเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและผันผวนมากขึ้น จะทำให้คุณภาพของอากาศในเมืองแย่ลง ในขณะเดียวกัน อากาศหนาวที่น้อยลงในพื้นที่เขตอบอุ่นอาจลดการสูญเสียชีวิตเนื่องจากความหนาวเย็นได้เช่นกัน
  • เมื่อโลกร้อนขึ้น พาหะนำเชื้อโรค เช่น ยุง และหนู สามารถแพร่ขยายไปยังพื้นที่แถบเหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นไปได้มากขึ้น โดยมีการคาดประมาณว่าร้อยละ 45 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการแพร่กระจายของมาลาเรีย แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชี้ให้เห็นว่าการแพร่ขยายของพื้นที่เสี่ยงต่อมาลาเรียเป็นไปได้สูง ทั้งตามแนวเส้นรุ้งและเส้นแวง
  • ปริมาณน้ำจืดที่ลดลงอาจส่งผลต่อสุขภาพ เนื่องจากน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคลดน้อยลง ทำให้ประชาชนต้องใช้น้ำที่ไม่สะอาด ซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญหาการระบาดของโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารได้มากขึ้น

                    6)    ผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานที่ล่อแหลมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องจักร ระบบส่งพลังงาน ถนน ท่าเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งอื่นๆ ทรัพย์สินบ้านเรือนและธุรกิจ สรุปได้ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง โดยเฉพาะพายุตามชายฝั่ง อุทกภัย และแผ่นดินถล่มที่เกิดจากฝนตกหนัก หิมะถล่ม พายุไซโคลนและเฮอริเคน หรือความแล้งที่เกิดจากไฟป่า สามารถทำลายโครงสร้างพื้นฐานหรือส่งผลเสียหายต่อการผลิต
  • การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล พายุและน้ำท่วมทำให้ประชาชนต้องอพยพและส่งผลต่อเนื่องไปยังโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ที่ลึกเข้าไป ประเทศที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรตามชายฝั่งสูงและขาดระบบการป้องกันชายฝั่งที่ดีจะมีความล่อแหลมมากที่สุด


 


Last updated: 2011-01-11 21:01:50


@ อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนไป
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนไป
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,553

Your IP-Address: 3.239.76.211/ Users: 
1,552