จงยินดีที่เป็นผู้ให้ มากกว่าจะเป็นผู้รับ
 
     
 
หัวโขนป่าไม้
แต่งกลอนบทนี้เพราะเห็น รุ่นพี่ เพื่อนและรุ่นน้องบางคน(เท่านั้น)เปลี่ยนไปเมื่อมีตำแหน่งทางราชการใหญ่โตขึ้น
 

๏พี่เพื่อนน้องเคยเคียงใกล้ใจย่อมรู้

ขึ้นมึงกูอั๊วลื้อไม่ถือสา

พอตำแหน่งหล่นใส่ใหญ่ขึ้นมา

กลับวางท่าทำเป็นเช่นเจ้านาย

๏ลืมครั้งเก่าก่อนมีที่ วน.

อยู่ตึกหอชิดกันได้มั่นหมาย

แบ่งสุขทุกข์ร่วมเรียงเคียงใจกาย

มั่นเกลียวสายสัมพันธ์สานสืบมา

๏ประเพณีกิจกรรมร่วมทำไป

วิ่งทางไกลเต้นอินเดียนเพียรรักษา

ร้องเพลงเชียร์ช่วยคณะพัฒนา

สู้ฟันฝ่ายังตราตรึงซึ้งกมล

๏กล่อมกาแฟหันหน้าสามัคคี

ยกพวกตีต่างคณะมาหลายหน

กินน้ำชากาเดียวกันมันสุดทน

แล้วไม่พ้นฉีดกาน่าอนามัย

๏กินสาโทเหล้าขาวเคล้าถั่วบัง

ขนมปังเอบีซีนี่จำได้

ยามธนาณัติพ่อส่งมาเฮฮาไป

หาหวานใจฟังดนตรีที่แสนแพง

๏รอยามเผลอแอบจับปลาทำอาหาร

เจ๊เล็กไม่ให้ใช้ร้านพากันแกล้ง

แยกปากหมานั่งม้าขาวแซวสาวแรง

คนนุ่งแหว่งแต่งสั้นปั่นจักรยาน

๏แม้ยืมตังค์กันไปใครชักดาบ

ไม่เข็ดหลาบติดใจให้ร้าวฉาน

อีกตำราของใช้ได้เจือจาน

คราวกลับบ้านหิ้วของฝากซึ้งนักเชียว

๏บางวิชาเรียนด้วยกันวันสอบไล่

ลอกกันไปให้ฝิ่นกันพาลหวาดเสียว

หากอาจารย์จับได้ตายแน่เทียว

หายหน้าเซียวผ่านถ้วนหน้าพาสำราญ

๏ปลูกต้นไม้ด้วยภักดีที่สวนจิตรฯ

ปลุกความคิดคนรักป่าพาสืบสาน

ฟอเรสเตอร์โด่งดังไปใจเบิกบาน

คราวมีงานช่วยกันขนดนตรีไป

๏พี่เพื่อนน้องสัมพันธ์กันปานนี้

พอถึงทีเป็นป่าไม้ได้โตใหญ่

ต้องเรียกท่านทำเจ้านายไอ้จังไร

เชิญกอดไว้ใส่หัวโขนจนมึงตาย

 ครูนิด วน.43 (ชมรมสีเสียดแก่น)

 www.lookforest.com


แรงดลใจ:

 

แต่งกลอนบทนี้เพราะเห็น รุ่นพี่ เพื่อนและรุ่นน้องบางคน(เท่านั้น)เปลี่ยนไปเมื่อมีตำแหน่งทางราชการใหญ่โตขึ้น

 

หมายเหตุ :  ความหมายของศัพท์เฉพาะในกลอนบทนี้(ย้อนยุค ปี พ.ศ.2520-2524)

วน. =  วอนอ เป็นชื่อย่อของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคนที่ไม่คุ้นเคยมักเรียกว่าวะนะ

ตึกหอ = ตึกพัก(อาคารสร้างด้วยปูนซีเมนต์)และหอพัก(อาคารสร้างด้วยไม้)ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่อนูญาตให้นิสิตพักอยู่เพียง 2-4 คนตามขนาดของห้อง แต่ในทางความจริงบางครั้งอยู่อัดกันมากกว่า 10 คน (คนที่มาอาศัยเพื่อนอยู่เรียกว่าสิง) นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง ยากที่สถาบันการศึกษาอื่นจะมาเทียบเคียงได้

วิ่งทางไกล = วิ่งประเพณี 15 กิโลเมตรที่ชาว วน.ชั้นปีที่ 1-3 ต้องวิ่งทุกคน (ผู้หญิงก็ไม่เว้น ใครป่วยหรือมีความจำเป็นต้อง   วิ่งซ่อมตอนอยู่ชั้นปีที่ 4 แทน) ทั้งนี้เฉพาะชั้นปีที่ 1ต้องทำการวิ่งทดสอบ 12 กิโลเมตรก่อนด้วย รวมแล้วผู้ที่จบจาก วน.ต้องผ่านการวิ่งรวม 57 กิโลเมตร  (เท่าที่แอบสังเกตุดู ก็มิได้มีผลทำให้สาว วน.ขาและน่องใหญ่ขึ้นแต่ประการใด ยกเว้นแต่คนที่พ่อแม่ให้มาแต่กำเนิด บางคนขาเรียวสวยงามมากแม้นางแบบชั้นนำยังต้องอาย...จริงๆนะไม่ได้พูดเล่น )

เต้นอินเดียน = พิธีกรรมในการรับน้องใหม่ของชาว วน. ที่ผู้เต้นรอบกองไฟขนาดมหึมา(โดยเฉพาะผู้อยู่วงในที่มีความสามารถพิเศษในการเต้น) นอกจากต้องเข้มแข็งแล้วยังต้องอดทนต่อความร้อนที่อุณหภูมิสูงเป็นอย่างมากแทบขนภายนอกเกือบจะไหม้

เพลงเชียร์ = เพลงประจำชาว วน.ที่มีหลากเพลงหลายอารมณ์ทั้งอ่อนหวาน แช่มช้อย ครึกครื้น คึกคัก ดุดันและกระชากความรู้สึกเกินจะบรรยาย ที่โด่งดังมากๆเช่นมาร์ชป่าไม้ ป่าลั่น พนาสวาท รำวงลูกป่าไม้

กาแฟ = กลุ่มนิสิต วน.จำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมเข้าร่วมประเพณีและกิจกรรมต่างๆที่รุ่นพี่จัดขึ้น ซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกันไปจึงต้องมีการชี้แจงเป็นการส่วนตัวเพื่อให้เข้าใจและให้ความร่วมมือเหมือนรุ่นน้องส่วนใหญ่ ยกเว้นบางรายที่มีเหตุผลส่วนตัว ก็ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวและอ้างว้าง สุดท้ายมักต้องย้ายคณะหรือลาออกไปเรียนที่อื่น เช่นคุณธาริต(เบ็ญจะ)  เพ็งดิษฐ์

ยกพวกตี = การทะเลาะเบาะแว้งของชาว วน.กับนิสิตคณะอื่น เพราะชาว วน.มักคบหาแต่เฉพาะพวกเดียวกัน บางครั้งมีการกระทบกระทั่งกับต่างคณะเหมือนลิ้นกับฟัน จึงมีการลงไม้ลงมือกันบ้างพอเจ็บปากเจ็บตัว โดยมักใช้อาวุธที่พ่อแม่ให้มาแต่กำเนิด หรืออย่างดีก็แค่ใช้อุปกรณ์กีฬาบางประเภทเป็นเครื่องทุ่นแรงอยู่บ้าง ชาวเกษตรไม่ติดใจกับเรื่องดังกล่าวมากนัก บางรายพอเสร็จกิจกรรมนี้ยังกอดคอไปถองเหล้าเพื่อปรับความเข้าใจกัน หลายรายถือเป็นเรื่องเฮฮาของการสนทนายามพบกันหลังการจบจากมหาวิทยาลัย

กินน้ำชา = การเที่ยวผู้หญิง มักใช้บริการกันแถวย่านแครายและสะพานควายเพราะราคาย่อมเยาและอยู่ใกล้หอพัก สามารถนั่งรถประจำทางไปได้

กาน่า = ยาแก้โรคอักเสบทางเพศสัมพันธ์ ไม่รวมโรคเอดส์เพราะขณะนั้นยังไม่เคยได้ข่าวว่ามีการระบาดในเมืองไทย

อนามัย = สถานีอนามัยบางเขน ตรงข้ามวัดพระศรีมหาธาตุ แหล่งที่บางครั้งทั้งรุ่นพี่ เพื่อนและรุ่นน้องได้มีโอกาสพบปะกันโดยมิได้นัดหมาย

สาโท = เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาถูก(แต่รสชาติดี สามารถปรุงแต่งความเข้มข้นหรือดีกรีได้ตามใจชอบของลูกค้าโดยการใส่น้ำตาลทรายเพิ่มเติม)จากชุมชนแออัดลาดยาว หลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มักใช้ประกอบงานพิธีการต่างๆของชาวนิสิต วน. เพราะเหมาะสมกับงบประมาณที่พวกเรามีกัน หากมีเหลือจากงานมักใส่ถังแทนน้ำวางบนตู้ทำน้ำเย็น ช่วยทำให้มีรสชาติดียิ่งขึ้น แต่มักถูกต่อต้านจากสาวๆและสามัญนิสิตเพราะต้องใช้เวลานานในการกำจัดกลิ่นตกค้างอันไม่พึงประสงค์ของเครื่องดื่มประเภทนี้ที่หลงเหลืออยู่ในเครื่องทำน้ำเย็น

เหล้าขาว = เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ราคาถูกมากเมื่อเทียบกับบรรดาเหล้าสี(ทั้งแม่โขงและแสงโสม) เหมาะสำหรับเหล่าปีศาจสุรายามเบี้ยน้อยหอยน้อย ขณะรอคอยธนาณัติที่พ่อแม่ส่งมาให้จากต่างจังหวัด โดยมากนิยมผสมน้ำอัดลมจำพวกน้ำแดง น้ำเขียวและสไปรท์เพึ่อให้มีรสชาติดีขึ้นและไม่บาดคอจนเกินไป

ถั่วบัง = ถั่วทอดหลายชนิดที่แขกอาบังใส่กล่องไม้ มีช่องแยกชนิดถั่ว และมีขาตั้ง(แบบโต๊ะ)เทินหัวเดินขาย ชาว วน.มักให้ร้องเพลงช้างเพื่อนแก้วเป็นภาษาอินเดียแถมเมื่อซื้อถั่วแกล้มเหล้า บางครั้งต้องร้องหลายครั้งตามดีกรีของแอลกอฮอล์ที่ผู้ซื้อเติมเข้าไปในร่างกาย

ขนมปังเอบีซี  = ขนมปังกรอบมันเค็มรูปตัวอักษรภาษาอังกฤษ บรรจุในปี๊บที่ด้านข้างมีช่องกระจกหรือพลาสติคใส  ชาว วน.นิยมซื้อเลี้ยงรุ่นน้องและใช้เป็นกับแกล้ม เนื่องจากจ่ายเงินน้อยแต่ได้ของที่มีปริมาณมาก

ธนาณัติ = ช่องทางการส่งเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนของผู้ปกครองให้นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เจ๊เล็ก =  บางคนเรียกว่าพี่เล็ก(ชื่อจริงว่านางศรีสะอาด หนูใจคง) แม่ค้าขายอาหารร้านเดียวของคณะวนศาสตร์ ที่ต้องมีความเป็นเลิศด้านความอดทนทางอารมณ์ด้วยอยู่กลางเหล่าทะโมนชาว วน.  โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสุนทรีย์ทางอารมณ์(ในการขอยืมอุปกรณ์)ทำอาหารแกล้มเครื่องดื่มเปลี่ยนนิสัยยามค่ำคืน  แต่ภายหลังเริ่มผ่อนคลายลงบ้างเพราะคณะมีการรับนิสิตหญิงเข้ามาเรียนด้วย (ทราบว่าปัจจุบันนี้นิสิตหญิงมีจำนวนมากกว่านิสิตชายราว 2-3 เท่า จึงขอเป็นห่วงเมื่อจบไปทำงานในป่า)  อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เจ๊เล็กได้รับการขนานนามว่า “ป้าเล็กสาวใหญ่ใจบุญ” เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมาได้ให้ทุนอาหารกลางวันแก่นิสิตคณะวนศาสตร์ที่ยากจนเป็นประจำทุกปี ดังนั้นต้องกราบขออโหสิกรรมที่เคยทำไว้คราววัยคะนองด้วย

แยกปากหมา = สามแยกหน้าไปรษณีย์เดิม  ทางเข้าคณะวนศาสตร์ทางประตูใหญ่ทางถนนพหลโยธินซึ่งอยู่เยื้องกับหอประชุมหลังเดิม(อาคารหน้ามหาวิทยาลัย) และเกือบตรงข้ามหอสมุดเก่า

ม้าขาว = เก้าอี้นั่งยาวมีพนักพิง พื้นไม้ โครงเหล็กทาสีขาว(เดิมทาสีเขียวเรียกม้าเขียว)ขนาดนั่ง  4 คน ของชาว วน.พวกขาลุย (ที่เหลือนั่งกับพื้นหญ้า) ซึ่งมักใช้พักผ่อนและเฮฮาช่วงบ่ายถึงค่ำและแซวตักเตือนนิสิตหญิงที่ชอบนุ่งสั้น จึงหลายครั้งที่ถูกมือดีแอบโยนทิ้งในบึงน้ำข้างเคียงตอนยามวิกาล ชาว วน.ต้องหมั่นกู้ขึ้นมาด้วยความเจ็บใจ(ปัจจุบันไม่ทราบว่าไปอยู่แห่งหนใด ใครรู้ช่วยบอกด้วย)

จักรยาน = พาหนะเดินทางของนิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีจำนวนเหยียบหมื่นคัน เนื่องจากหลายคนได้ทอดทิ้งไว้หลังจบการศึกษา

ชักดาบ = การยืมเงินแล้วไม่ใช้คืนให้ อาจจากการลืมจริงหรือแกล้งลืมของผู้ยืมเงิน

ฝิ่น = กระดาษหรืออุปกรณ์บางชนิดที่ใช้จดเนื้อหาสำคัญหรือคำตอบของวิชาที่สอบ ซึ่งพกพาได้อย่างแนบเนียนและยากต่อการค้นหา

สวนจิตรฯ = พระราชวังสวนจิตรลดาซึ่งได้เปิดโอกาสให้คณะวนศาสตร์นำคณาจารย์ บุคคลากรและนิสิตเข้าไปปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้เป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ป๊ พ.ศ.2504

ฟอเรสเตอร์ = วงดนตรี FORESTER ของนิสิต วน. ซึ่งมีชื่อเสียงและโด่งดังมากในยุคนั้นเพราะนักดนตรีมีฝีมือเยี่ยมยอด บางคนหล่อเหลาหรือดูเท่ห์มากๆ(สไตล์ชาวป่าไม้ที่สาวต่างคณะหลายคนแอบหมายปอง) มีคนว่าจ้างให้ไปแสดงตามงานต่างๆหลายครั้ง ซึ่งเป๊นที่แน่นอนว่าชาว วน.ต้องตามไปให้กำลังใจ(ทั้งช่วยขนเครื่องดนตรีและคุ้มกัน)อย่างล้นหลามทำให้มีผู้ชมมากมายเกินปกติ  และไม่ค่อยเหลือเงินค่าจ้างมากนักเพราะหลังจบการแสดงต้องเลี้ยงดูทั้งนักดนตรีและผู้ติดตาม

หัวโขน = ตำแหน่งทางราชการที่คนได้รับการแต่งตั้งชั่วคราว แต่มีข้อแม้ที่หลายคนลืมไปว่าต้องส่งคืนกลับอย่างแน่นอนในโอกาสอันใกล้ อย่างช้าก็ตอนปลดเกษียณ(หากไม่โดนสอบสวนหรือถูกลงโทษเสียก่อน)

    



Last updated: 2014-07-19 08:59:07


@ หัวโขนป่าไม้
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ หัวโขนป่าไม้
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,328

Your IP-Address: 18.97.14.88/ Users: 
1,327