การทำงานเป็นทีมได้ดี ต้องไม่กังวลว่าคนอื่นทำน้อยกว่าเรา
 
     
 
เป้าหมายของแนวเชื่อมต่อระหว่างผืนป่า
เป็นทางเลือกสำหรับหลบภัยของสิ่งมีชีวิตในช่วงที่เผชิญกับการรบกวนที่มีความรุนแรงมาก เช่น ภัยจากไฟป่า หรือน้ำท่วม
 

ก่อนที่จะกล่าวถึงการออกแบบแนวเชื่อมต่อระหว่างผืนป่า(Design of Corridors) มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของทางเชื่อมที่มีต่อระบบนิเวศ หน้าที่หลักของแนวเชื่อมคือการส่งเสริม (enhance) ให้เกิดความสามารถในการเชื่อมต่อ (connectivity) กันของสิ่งมีชีวิตระหว่างหย่อมป่าที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป กล่าวคือเป็นการส่งเสริมหรือช่วยเหลือให้เกิดการเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิต(โดยเฉพาะสัตว์ป่า) สามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างหย่อมถิ่นที่อาศัยที่มีระยะทางห่างจากกันได้ การส่งเสริมให้เกิดมีความเชื่อมต่อกันระหว่างหย่อมป่าต่าง ๆ นั้นจะช่วยให้สิ่งมีชีวิตมีโอกาสแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างประชากรที่แตกต่างกันมากขึ้น เปิดโอกาสการตั้งถิ่นฐานของประชากรสิ่งมีชีวิตในพื้นที่แห่งใหม่ รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเสาะแสวงหาปัจจัยสำคัญหลักในการดำรงชีวิต (keystone resources) ได้มากขึ้น การจัดการพื้นที่คุ้มครองในลักษณะของกลุ่มป่า โดยการส่งเสริมให้มีการเชื่อมต่อระหว่างผืนป่าต่าง ๆ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักสำคัญในการจัดการวางแผนการจัดการพื้นที่คุ้มครองแบบเป็นระบบ (systematic conservation planning) (Margules & Pressey, 2000) ข้อดีของการจัดให้มีทางเชื่อมต่อระหว่างหย่อมป่าสรุปได้ดังต่อไปนี้ (Forman, 1995; Haddad et al., 2003)


1. เพิ่มอัตราการอพยพเข้าสู่พื้นที่คุ้มครองโดยช่วยให้เกิดการ

ก) เพิ่มหรือรักษาความหลากหลายของชนิด
ข) เพิ่มขนาดของประชากรแต่ละชนิดและช่วยลดโอกาสการสูญพันธุ์ เกิดการตั้งถิ่นฐานใหม่ของบางประชากรในระดับท้องถิ่นซึ่งได้สูญพันธุ์ไปก่อนในอดีตแล้ว
ค) ป้องกันไม่ให้เกิดความกดดันภายในประชากรจนเกิดการผสมพันธุ์ในสายเลือดที่ใกล้ชิดกัน และขณะเดียวกันเป็นการดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมภายในประชากร


2. เพิ่มพื้นที่ในการเสาะแสวงหาอาหาร เป็นการช่วยให้ชนิดที่เคยอยู่ในถิ่นที่อาศัยที่ไม่เหมาะได้ผ่านไปยังที่ที่มีความเหมาะสมกว่า

3. ทำหน้าที่เป็นพื้นที่คุ้มภัย (cover) สำหรับชนิด ในขณะที่มีการเคลื่อนที่ระหว่างหย่อมป่า

4. ก่อให้เกิดความหลากหลายของถิ่นที่อาศัยเพื่อช่วยให้สิ่งมีชีวิตในแต่ละช่วงชีวิตสามารถเลือกใช้ถิ่นที่อาศัยที่เหมาะสมในพื้นที่ และช่วงเวลาที่ต้องการตามวงจรชีวิตของสัตว์ชนิดนั้น

5. จัดหาพื้นที่ที่เป็นทางเลือกสำหรับหลบภัยของสิ่งมีชีวิตในช่วงที่เผชิญกับการรบกวนที่มีความรุนแรงมาก เช่น ภัยจากไฟป่า หรือน้ำท่วม เป็นต้น

6. เกิดทางสีเขียว (greenway or green belt) ช่วยจำกัดการเติบโตของเขตเมืองที่ไม่หยุดยั้งทางอ้อม ส่งเสริมให้เกิดโอกาสทางนันทนาการ และช่วยพัฒนาทิวทัศน์ให้เกิดความร่มรื่น เป็นการเพิ่มคุณค่าทางอ้อมให้กับพื้นที่

7. ส่งเสริมให้มีการดูแลคุณภาพแหล่งน้ำและการจัดการแหล่งน้ำที่ดีขึ้น (กรณีของการใช้ลำน้ำเป็นทางเชื่อมต่อ)

 

สำหรับสมมติฐานหลักในการออกแบบแนวเชื่อมต่อนั้น Hilty et al. (2006) ได้เสนอแนะ
ไว้ว่าจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายในการอนุรักษ์ ด้านใดด้านหนึ่ง หรือทุก ๆ ด้านดังต่อไปนี้

1) เป้าหมายตามความหลากหลายทางชีวภาพ

  • ระดับรายตัวของสัตว์ป่า (individual of a species)
  • ระดับประชากร (deme of a species)
  • ระดับชนิดพันธุ์ (species)
  • ระดับสังคม (community)
  • ระดับภูมิภาพ (landscape)

2) เป้าหมายตามระดับมาตราส่วนเชิงพื้นที่ของการเชื่อมต่อ (spatial scale of linkage)

  • ระดับท้องถิ่น เช่น ทางลอด หรือทางข้ามของสัตว์ป่าเป็นทางเชื่อม
  • ระดับภูมิภาค เช่น การใช้แนวแม่น้ำหรือลำน้ำเป็นทางเชื่อม
  • ระดับทวีป หรือการข้ามไปยังอีกทวีป เช่นการใช้แนวเทือกเขาเป็นทางเชื่อม

3) เป้าหมายตามศักยภาพเฉพาะในการใช้ประโยชน์

  • เพื่อการเคลื่อนที่ในรอบวัน (daily movement) เช่น การเสาะแสวงหาอาหารรายวัน
  • เพื่อการเคลื่อนที่ตามฤดูกาล (seasonal movement) เช่น การอพยพเปลี่ยนถิ่นที่อาศัย
  • เพื่อการขยายการกระจาย (dispersal) เช่น เพื่อแลกเปลี่ยนพันธุกรรม การค้นหา
    คู่ผสมพันธุ์
  • เพื่อเป็นถิ่นที่อาศัย (habitat) เช่น แนวเชื่อมต่อที่มีความกว้างมาก
  • เพื่อให้แน่ใจว่าชนิดนั้นยังคงอยู่สืบไป (long-term species persistence) เช่น
    การปรับตัวให้เข้ากับภาวะโลกร้อน


Last updated: 2013-01-31 22:39:12


@ เป้าหมายของแนวเชื่อมต่อระหว่างผืนป่า
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ เป้าหมายของแนวเชื่อมต่อระหว่างผืนป่า
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,320

Your IP-Address: 18.117.182.179/ Users: 
1,319