หวนค่าป่าไม้
หลายครั้งได้มีโอกาส ..."หวนค่าป่าไม้"... ที่ทำให้รู้สึกว่าคนที่เป็นวนกรที่แท้จริงนั้น เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อสังคมอย่างมากมาย...
.หลังเรียนจบเข้าทำงานการป่าไม้ ร้าวรานใจเกินสรรหาคำมาเทียบ ฟื้นฟูป่าด้วยมุ่งมั่นงานหนักเพียบ ถูกชาวบ้านขานเปรียบเป็นซาตาน
.ด้วยต้องยึดคืนกลับมาที่ป่าไม้ ถูกบุกรุกถือครองไว้ในถิ่นฐาน บ้างซื้อต่อเปลี่ยนมือมากันช้านาน ยังอีกบานนั้นขายฝากฟากนายทุน
.จำเคร่งครัดยึดหลักการด้านกฎหมาย งานป่าไม้หวนหลายคราใจว้าวุ่น บางชาวบ้านพาลหมดทางสร้างทารุณ ต้องเจือจุนเป็นคนงานอันชั่วคราว
.หลายคนเลี้ยงเมียลูกทนทุกข์แท้ ยังพ่อแม่มีโรคร้ายให้เกินกล่าว ที่ป่าไม้หลวงยึดฟรีมีเรื่องราว หากสืบสาวอาจยิ่งทุกข์ติดคุกไป
.หันมองเพื่อนต่างคณะเกษตรศาสตร์ รับใช้ชาติช่วยชาวบ้านสร้างงานให้ ทั้งพืชสัตว์เกิดมูลค่าพานำชัย ของกินใช้ได้อำนวยช่วยเหลือกัน
.ช่วยส่งเสริมเพิ่มเงินทองผองชาวบ้าน ต่างเบิกบานนับถือกันลือลั่น คนป่าไม้ให้สุดท้อพ้อรำพัน เปรียบสวรรค์ปานนรกที่ตกไป
.ยิ่งเพิ่มงานกาลผ่านไปให้ละเหี่ย ชาวบ้านมองเหมือนเหี้ยเพลียใจใหญ่ หวังปลูกป่าพาบ้านเมืองเมลืองชัย คนป่าไม้ได้แต่ตรมขื่นขมนัก
.ตั้งชื่อลูก"วนวัฒน์"ผูกมัดจิต อย่าได้คิดเรียนป่าไม้ให้ทุกข์หนัก ทำงานอื่นหมายชื่นใจในสิ่งรัก แต่จงหนุนทุนปกปักพิทักษ์ไพร
.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น) www.lookforest.com
แรงดลใจ:
ช่วง 18-21 ก.พ.2565 ทาง
มสธ.มอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานสอบไล่ ภาคการศึกษาที่ 1/2564 ที่โรงเรียนจักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขาขึ้นในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
เลยต้องงดกิจกรรมที่เตรียมมาก่อนในบางด้าน
โดยเฉพาะการเยี่ยมเยียนพบปะสังสรรค์กับเพื่อนชาวป่าไม้และผู้ที่คุ้นเคยในท้องที่
เหมือนกับที่เคยกระทำมาเป็นประจำในอดีต นับตั้งแต่โอนย้ายจากกรมป่าไม้มาทำงานที่
มสธ.เมื่อปี พ.ศ.2533
ซึ่งนอกจากได้เป็นการสานสัมพันธ์กับหมู่ชาวป่าไม้ที่บางคนไม่ได้พบเจอกันอย่างยาวนานแล้ว
ยังได้ข้อมูลทางด้านป่าไม้ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้นในด้านต่างๆแบบไม่ได้คาดหวัง
หลังจากประสานงานสอบเบื้องต้นกับทางโรงเรียนแล้วเสร็จในภาคเช้าของ
18 ก.พ.2565 แล้ว
ก็ตัดสินใจเข้าพักผ่อนในที่พักข้างโรงเรียน เนื่องจากคราวนี้เดินทางโดยคนเดียว
ทำให้มีเวลาเป็นส่วนตัวมากขึ้น อดคิดถึงเพื่อนชาวป่าไม้และอดีตที่เคยทำงานป่าไม้ไม่ได้
โดยเฉพาะคราวบรรจุใหม่หลังจบการศึกษาจากภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์
ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อ ปี พ.ศ.2524
ที่ยอมรับว่าชีวิตการทำงานของชาวป่าไม้นอกจากความรู้ทางวิชาการที่ได้รับมา
ต้องผนวกกับการปฏิบัติงานภายใต้กฎหมายและระเบียบต่างๆที่มีเกี่ยวข้องเกือบทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทุกด้านที่มีอย่างมากมาย
ซึ่งที่ยากที่สุดคือคนทุกระดับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ชอบหลงผิดในการครอบครองพื้นที่ป่าไม้ในรูปแบบต่างๆ
ซึ่งในขณะนั้นจำเป็นเหลือเกินที่ต้องยึดพื้นที่ป่าไม้กลับคืนเพื่อการฟื้นฟูป่า
แม้คนยากจนที่ต้องเผชิญปัญหาต่อเนื่องมาอย่างมากมายก็ตาม
เคยเจอกับเพื่อนต่างคณะบางคนที่จบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นเดียวกัน
ซึ่งทำงานในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ต่างคนต่างทำงานเพื่อประเทศชาติเหมือนกัน
เพียงแต่คนละบทบาทหน้าที่ ดังนั้นเสียงตอบรับจากชาวบ้านที่เกี่ยวข้องจึงต่างกันราวฟ้ากับเหว
และยังมีอีกหลายกรณีที่ชาวป่าไม้ต้องตกเป็นจำเลยของสังคม
ทั้งๆที่มุ่งทำงานเพื่อประเทศชาติให้สภาพป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์
อันจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อสังคมส่วนรวม
นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับชาวป่าไม้เลย
เมื่อไรหนอคนในสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างแท้จริง
Last updated: 2022-02-19 20:32:31
|
@ หวนค่าป่าไม้ |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ หวนค่าป่าไม้
|