กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
อย่าพูดว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ทำ
 
     
 
ป่าชุมชนห้วยแก้วในฐานะเทคโนโลยีอำนาจชิ้นใหม่ของรัฐ
ภายหลังจากการอนุมัติ กรมป่าไม้ขาดศักยภาพในการติดตามและตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าของผู้เช่า จึงทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าที่ยังสมบูรณ์อยู่
 

ในแง่หนึ่ง การจัดตั้งโครงการทดลองป่าชุมชนห้วยแก้วโดยกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นการมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,600 ไร่ให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลรักษา หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการยอมรับศักยภาพของชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรจากภาครัฐ มีการตีความว่ากรณีป่าชุมชนห้วยแก้วแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นได้รับความไว้วางใจจากกรมป่าไม้ให้ดูแล จัดการและใช้ประโยชน์จากป่าสงวนแห่งชาติ เครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายป่าชุมชนพยายามสร้างวาทกรรมว่าป่าชุมชนเป็นเครื่องมือในการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน และยังช่วยบรรเทาความยากจนของคนในท้องถิ่น แต่หากพิจารณาจากการปฏิบัติการของชาวบ้านห้วยแก้วที่พยายามฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรในเขตป่าชุมชนที่ได้รับมอบหมายจากกรมป่าไม้ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วป่าชุมชนห้วยแก้วเป็นเพียง “เทคนิค” ของกรมป่าไม้ เพื่อต้องการลดกระแสการวิพากษ์จากสังคมถึงความล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรป่าไม้แบบรวมศูนย์

ป่าชุมชนห้วยแก้วตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือเป็นระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร นับตั้งแต่ปี พ.. 2532 เป็นต้นมาชาวบ้านห้วยแก้วได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ดูแลพื้นที่ป่าประมาณ 1,600 ไร่ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ออน

 

เนื้อหาในส่วนนี้ต้องการนำเสนอให้เห็นพัฒนาการและประวัติศาสตร์ของป่าชุมชนห้วยแก้ว เริ่มตั้งแต่การเริ่มต้นต่อสู้ของชาวบ้านในการคัดค้านการเช่าสัมปทานป่าสงวนแห่งชาติของนายทุน ไปจนกระทั่งถึงการจัดตั้งสถาบันชุมชนขึ้นในหมู่บ้านเพื่อจัดการทรัพยากรป่าในรูปป่าชุมชนในระหว่างการรณรงค์และผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชน

 

ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 เครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายป่าชุมชนได้นำเสนอเรื่องของป่าชุมชนห้วยแก้วสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ในฐานะชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรท้องถิ่นจากการบุกรุกจากภายนอกป่าชุมชนห้วยแก้วจึงกลายมาเป็นวาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเรียกร้องกฎหมายป่าชุมชนสำหรับการคุ้มครองสิทธิของชาวบ้านในเขตป่า

 

ภาพการต่อสู้ของชุมชนเพื่อรักษาฐานทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของคนในชุมชนของชาวบ้านห้วยแก้วจึงเป็นภาพที่รับรู้กันทั่วไป ป่าชุมชนห้วยแก้วกลายเป็นพื้นที่ “ป่าชุมชนตัวอย่าง” ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักพัฒนา และชาวบ้านต่างยอมรับและเข้ามาศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

 

อย่างไรก็ดี จากการเข้าไปศึกษาในพื้นที่ป่าชุมชนห้วยแก้วที่ผ่านมา ผู้เขียนพบว่าในอีกด้าน ป่าชุมชนห้วยแก้วได้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตป่าชุมชนของชาวบ้าน

 


สามารถกล่าวได้ว่าความขัดแย้งระหว่างนายทุนเช่าป่าสงวนแห่งชาติกับชาวบ้านในตำบลห้วยแก้วเป็นภาพสะท้อนที่เด่นชัดถึงความล้มเหลวของการจัดการทรัพยากรป่าไม้แบบรวมศูนย์อำนาจ ทั้งนี้เพราะกรมป่าไม้ได้อนุมัติให้เอกชนรายดังกล่าวเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมายและตอบสนองนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการอนุมัติ กรมป่าไม้ขาดศักยภาพในการติดตามและตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าของผู้เช่า จึงทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าที่ยังสมบูรณ์อยู่ ในขณะเดียวกันกรณีความขัดแย้งในตำบลห้วยแก้วยังสามารถสรุปได้ว่าการจัดการป่าแบบรวมศูนย์อำนาจได้เพิกเฉยและมองข้ามความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในเขตป่า เมื่อปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นและมีความรุนแรง กรมป่าไม้ไม่มีศักยภาพในการระงับและบรรเทาปัญหา และที่สำคัญ กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างบทเรียนให้กับหน่วยงานรัฐในการทบทวนกฎหมายและนโยบายการจัดการทรัพยากร รัฐอาจไม่เคยพิจารณาด้วยซ้ำว่าปัญหาความขัดแย้งในที่ดินระหว่างนายทุนกับชาวบ้านมีรากฐานจากกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่รัฐสามารถทำได้ เช่น ในกรณีป่าชุมชนห้วยแก้ว ก็คือการมอบพื้นที่ป่าให้ชาวบ้านจัดการและดูแล แต่ในขณะเดียวกันรัฐไม่เคยมอบอำนาจตัดสินใจในการจัดสรรใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้กับชาวบ้านและชุมชนในเขตป่า ชาวบ้านเหล่านั้นมีสถานะเพียง “ผู้เฝ้าป่าของรัฐ”

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอขยายความคำว่า “ผู้เฝ้าป่าของรัฐ” จากกรณีศึกษาป่าชุมชนห้วยแก้วพบว่าแม้ว่ากรมป่าไม้จะมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,600 ไร่ให้ชาวบ้านดูแล มีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน พร้อมทั้งกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตป่าชุมชน แต่หากพิจารณาสถานภาพของพื้นที่ป่าชุมชนทางกฎหมาย จะพบว่าพื้นที่ป่าชุมชนห้วยแก้วยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรมป่าไม้ตามประมวลกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 นั่นหมายความว่าอำนาจและความชอบธรรมทางกฎหมายยังคงอยู่ที่กรมป่าไม้ หากมองในแง่มุมดังกล่าว ชาวบ้านห้วยแก้วได้รับมอบเพียงหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรที่เป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของรัฐ

เจ้าหน้าที่รัฐมักอ้างว่ากระบวนการจัดการและควบคุมป่าชุมชนอยู่บนพื้นฐาน “การมีส่วนร่วมของประชาชน” การจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนและระเบียบข้อบังคับป่าชุมชนล้วนมาจากการปรึกษาหารือและการประชุมร่วมกับชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระเบียบข้อบังคับป่าชุมชน พบว่าไม่ต่างจากกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติมากนัก จะต่างกันก็เพียงแต่ในระเบียบข้อบังคับของป่าชุมชนมีการอนุญาตให้ชาวบ้านเก็บหาของป่าเพื่อการยังชีพ กฎระเบียบป่าชุมชนอนุญาตให้ชาวบ้านเก็บหาเพียงของป่าบางประเภท เช่น เห็ด หน่อไม้ น้ำผึ้ง ซึ่งถือเป็นทรัพยากรในป่าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำของป่าเหล่านี้สามารถเก็บหาได้เพียงบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น อีกทั้งปริมาณของของป่ายังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่เนื้อไม้ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เฉพาะในครัวเรือนเท่านั้น ห้ามมิให้ตัดและนำไปจำหน่าย แม้แต่การตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนยังระบุว่าต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการป่าชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบล เหตุผลหลักก็เพื่อต้องการรักษาต้นไม้ให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นและเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ดังนั้น การสร้างระเบียบข้อบังคับป่าชุมชนโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นเทคนิคของรัฐที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นกฎหมายของตนเอง และต้องยอมรับระเบียบข้อบังคับเหล่านั้น เพราะเป็นระเบียบข้อบังคับที่ผ่านกระบวนการภายในชุมชนเอง ในความเป็นจริง ระเบียบข้อบังคับป่าชุมชนก็คือการแปลงร่างของกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งยังคงทำหน้าที่แบบเดิมในการคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้และควบคุมคนที่อาศัยอยู่ในเขตป่า

การศึกษายังพบอีกว่าการกำหนดกฎระเบียบการใช้ประโยชน์ในป่าชุมชนไม่อาจสะท้อนความต้องการที่แตกต่างหลากหลายและบางครั้งก็ขัดแย้งกันระหว่างสมาชิกในชุมชน ในกรณีของป่าชุมชนห้วยแก้ว ระเบียบข้อบังคับป่าชุมชนทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างคณะกรรมการป่าชุมชนกับชาวบ้านรายที่เก็บหาของป่า เพราะคณะกรรมการป่าชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนที่ต้องพึ่งพิงป่าโดยตรง มุมมองของคณะกรรมการฯ จึงเน้นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และต้องการรักษาผืนป่าไว้ให้ทำหน้าที่ทางระบบนิเวศอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินและต้องพึ่งพิงป่าเพื่อเป็นแหล่งรายได้มักจะมองในเรื่องของความจำเป็นและความอยู่รอดในการดำรงชีพ ทั้งสองกลุ่มมีเหตุผลและมุมมองต่อการจัดการใช้ประโยชน์ในป่าชุมชนต่างกัน เช่น คณะกรรมการป่าชุมชนห้วยแก้วต้องการกำหนดช่วงฤดูกาลเก็บหาหน่อไม้ซึ่งกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคมถึงวันที่ 31 พฤษภาคม หมายความว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะไม่มีการอนุญาตให้เก็บหาหน่อไม้ในเขตป่าชุมชน คณะกรรมการฯ ให้เหตุผลว่าต้องการให้มีการทดแทนของป่าไผ่ ในขณะที่ชาวบ้านที่เก็บหาหน่อไม้เพื่อจำหน่ายกลับมองว่าการกำหนดช่วงเวลาเก็บหาหน่อไม้ทำให้พวกเขาและครอบครัวมีรายได้น้อยลง และพวกเขามีความเชื่อว่าการเก็บหาหน่อไม้ตลอดทั้งฤดูกาลไม่ได้ส่งผลให้ป่าไผ่เสื่อมโทรมแต่อย่างใด สังเกตได้จากการที่พวกเขายังสามารถเก็บหาหน่อไม้ในป่าชุมชนในปริมาณที่สม่ำเสมอเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

นับตั้งแต่การจัดตั้งป่าชุมชนห้วยแก้วตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา กรมป่าไม้พยายามรักษาอำนาจเหนือพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับบทบาทของตนมาเป็น “องค์กรพี่เลี้ยง” มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนความรู้ เทคนิคในการจัดการป่า และงบประมาณในการดำเนินการ เช่น ในปี พ.ศ.2545 กรมป่าไม้ได้สนับสนุนงบประมาณ 100,000 บาทให้กับคณะกรรมการป่าชุมชนห้วยแก้ว เพื่อทำการปลูกป่าเสริมและปลูกพืชสมุนไพรในป่าชุมชน ทั้งนี้ การปรับตัวเป็นองค์กรพี่เลี้ยงทำให้ชาวบ้านยอมรับบทบาทของกรมป่าไม้มากขึ้น เพราะเสมือนว่าตนเองได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังถูกบังคับจากเจ้าหน้าที่ ทว่างบประมาณที่กรมป่าไม้มอบให้ชุมชนในการฟื้นฟูป่ามักกำหนดเนื้อหาของกิจกรรมไว้อย่างชัดเจน เช่น เพื่อปลูกพืชสมุนไพรในป่าชุมชน หรือเพื่อทำแนวกันไฟรอบป่าชุมชน ดังนั้น แม้ว่าตัวเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ได้แสดงตนเองในหมู่บ้าน แต่แนวคิดและรูปแบบการจัดการป่าของรัฐยังคงได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมการจัดการป่าของชุมชน

ดังนั้น หากจะมองในอีกแง่มุมหนึ่งว่าแท้จริงแล้วป่าชุมชนมิใช่เครื่องมือหนุนเสริมอำนาจชุมชนในเขตป่าอย่างที่เคยเข้าใจกันมา แต่เป็นเทคโนโลยีอำนาจที่แยบยลของรัฐในการควบคุมและจัดการชาวบ้านและทรัพยากรป่าไม้ เทคโนโลยีป่าชุมชนถือเป็นเทคนิคอันชาญฉลาดของกรมป่าไม้ที่ต้องการลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมถึงความล้มเหลวของตนเองในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้ การมอบป่าชุมชนให้ชาวบ้าน แต่กลับไม่มอบอำนาจตัดสินใจในการจัดการใช้ประโยชน์ในป่าให้กับพวกเขาถือเป็นเทคนิคของรัฐในการจัดความสัมพันธ์กับชาวบ้านในเขตป่า ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับจากรัฐ และทำให้ชาวบ้านในเขตป่าเกิดความรู้สึกว่าการจัดการป่าเป็นหน้าที่และภารกิจของตนเอง ชุมชนในป่ามักจะเกิดการรับรู้ว่าหากชาวบ้านไม่ลุกขึ้นมาปกป้องและพิทักษ์รักษาทรัพยากรป่าไม้ที่อยู่ติดกับหมู่บ้านของตนเองแล้ว “ใครเล่าจะทำ” ความรู้สึกว่าป่าเป็นของชุมชนและการจัดการป่าเป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่พึ่งพิงป่า ทำให้ชาวบ้านในเขตป่าหยุดการวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของรัฐและนโยบายการจัดการป่าแบบรวมศูนย์ แต่กลับมุ่งเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ไปยังคณะกรรมการป่าชุมชนและเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตหมู่บ้านเดียวกัน ผลก็คืออำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้แบบรวมศูนย์ไม่ได้ถูกท้าทาย และป่าชุมชนเองก็ไม่เปิดพื้นที่ของการถกเถียงในประเด็นการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ยังคงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรมป่าไม้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าป่าชุมชนอาจเป็นเทคโนโลยีอำนาจของรัฐ ทว่าในบริบทของการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างอำนาจภายนอกกับชุมชนท้องถิ่น วาทกรรมป่าชุมชนอาจช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับชุมชนในเขตป่าในการควบคุมและจัดสรรการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในท้องถิ่น กรณีป่าชุมชนห้วยแก้วค่อนข้างชัดเจนว่าการประยุกต์ใช้วาทกรรมป่าชุมชนช่วยลดความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของนายทุนที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากการเช่าพื้นที่ป่าของรัฐ พร้อมกับช่วยเปิดพื้นที่ทางสังคมและการเมืองให้กับชุมชนในเขตป่า อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขามีที่ยืนอยู่ในโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้แบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ในขณะเดียวกันการมองป่าชุมชนแบบ “โรแมนติก” และขาดการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ถึงการปฏิบัติการของป่าชุมชน อาจทำให้ป่าชุมชนเป็นเพียงเทคโนโลยีอำนาจชิ้นใหม่ในการควบคุมการเข้าถึงทรัพยากรของชาวบ้านในเขตป่า



Last updated: 2012-12-30 19:33:23


@ ป่าชุมชนห้วยแก้วในฐานะเทคโนโลยีอำนาจชิ้นใหม่ของรัฐ
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ป่าชุมชนห้วยแก้วในฐานะเทคโนโลยีอำนาจชิ้นใหม่ของรัฐ
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,402

Your IP-Address: 3.239.76.211/ Users: 
1,401