"บ้านหัวทุ่ง"มุ่งรักษ์ป่า
."บ้านหัวทุ่ง"เชียงดาวแดนเชียงใหม่
ปิติใจในผลงานตระการล้น
ชาวบ้านรวมร่วมรักษาป่าชุมชน
จนเกิดผลมีคุณค่าน่าชมเชย
.ป่าสมบูรณ์ผ่านมาอดีตกาล
สัมปทานทำเศร้าใจให้เหลือเอ่ย
บางชาวบ้านพาลถางซ้ำยิ่งช้ำเอย
ดินน้ำท่าอากาศเอ๋ยเลยแย่ไป
.จึงส่วนใหญ่ชาวบ้านหันรักษ์ป่า
ประชุมพากำหนดกฎเกณฑ์ไว้
ห้ามทุกอย่างถางดงครองพงไพร
จัดการไฟที่ไหม้ลามซ้ำทุกปี
.ตั้งเวรยามป้องกันป่าลาดตระเวน
สร้างจุดเด่นเน้นบวชป่าพาเลี้ยงผี
ทำเหมืองฝายกั้นน้ำไว้ให้พอดี
เหมาะสมที่ใช้อยู่กินถิ่นสำราญ
.ปลูกแปลงไผ่เป็นส่วนกลางหวังชุมชน
ส่งเสริมคนให้ตระหนักการจักสาน
อีกท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตรการณ์
สรรค์สร้างงานด้านเพิ่มค่าสมุนไพร
.ได้รับทุนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
ก่อผลพวงด้านคาร์บอนเครดิตให้
รักษาป่าลดโลกร้อนผ่อนคลายไป
ก่อรายได้พัฒนาป่า-ชุมชน
.ทั้งผู้นำย้ำชาวบ้านหมั่นมุ่งมั่น
ร่วมมือกันหลายหน่วยงานอันมุ่งผล
ก่อตระหนักคนรักษ์ป่าป่ารักษ์คน
พาสดใสในมณฑลเลิศล้นนัก
.ประทับใจในผลงาน"บ้านหัวทุ่ง"
ที่เรืองรุ่งคนนำพามั่นตระหนัก
ป่าสมบูรณ์ค่าอนันต์สานใจภักดิ์
ร้อยความรักมากเหลือเพื่อพงไพร
.ครูนิด
วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com 17 ส.ค. 66
หมายเหตุ ขอขอบพระคุณแม่หลวงศิริวรรณ รู้ดี
และชาวบ้านบ้านหัวทุ่ง คุณพิชัย เอกศิริพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าชุมชน กรมป่าไม้
และเจ้าหน้าที่ของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1(เชียงใหม่)
ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้
แรงดลใจ: มีโอกาสร่วมกับ Assoc.Prof.
Dr.Kurashima Takayuki จาก Faculty of International
Relations, Daito Bunka University ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 15-16 ส.ค.66
ในการเดินทางไปศึกษาการจัดการป่าชุมชนที่บ้านหัวทุ่ง หมู่ที่ 14 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
เนื่องจากได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่าป่าชุมชนแห่งนี้
ได้รับการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
ในการร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
อันเป็นเตรียมรับมือกับภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม
ได้รับการต้อนรับจากแม่หลวงศิริวรรณ รู้ดี
และทีมงานเป็นอย่างดีในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โดยป่าไม้ในพื้นที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ในอดีต แต่มีการให้สัมปทานการทำไม้
กอปรกับมีการบุกรุกครอบครองพื้นที่จากชาวบ้านในการปลูกพืชเกษตร
ทำให้สภาพป่ามีความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก
สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้
จนชาวบ้านส่วนใหญ่อดรนทนไม่ได้
จึงร่วมมือกันกำหนดเขตพื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านขึ้น
ซึ่งได้มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆในการรักษาป่าอย่างมากมาย
ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง
แม่หลวงศิริวรรณ รู้ดี กล่าวในบางตอนของการสนทนาที่น่าสนใจ เช่น
"พ่อบอกว่าพวกสัมปทานทำไม้ ตัดไม้ใหญ่ออกไปเยอะแยะ
ชาวบ้านบางคนบุกพื้นที่ทำไร่อีก จนคนส่วนใหญ่ทนเดือดร้อนไม่ไหว ช่วยกันรักษาป่าไว้
ห้ามเด็ดขาดไม่ให้มีการตัดไม้และยึดพื้นที่ทำไร่"
"กว่าป่าจะกลับมามีสภาพที่ดีอย่างนี้ต้องใช้เวลาน่าดู
พวกเราพยายามป้องกันไฟป่าอย่างมาก พอไฟไม่ไหม้ป่า พวกลูกไม้ก็โตกันขึ้นมาเอง
ไม่ต้องเสียเวลาไปปลูกก็ได้"
"ตอนหลังนี่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯให้เงินช่วยชาวบ้านรักษาป่าไร่ละ 300 บาท ได้มา 2 แสนกว่าบาท
เลยตั้งเป็นกองทุนรักษาป่าส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งพัฒนาชาวบ้านตามที่กรรมการเห็นเหมาะสม"
"ตอนนี้ชาวบ้านยิ่งช่วยกันรักษาป่าอย่างเต็มที่
เพราะรู้ว่าป่ามีประโยชน์มากมาย วันก่อนแม่ฟ้าหลวงกับGISTDA :สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ยังเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ป่า เพื่อจะให้การสนับสนุนอีก"
ได้แต่หวังว่าการที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพที่อุดมสมบูรณ์เช่นที่บ้านหัวทุ่งนี้
คงได้รับการตระหนักถึงและขยายวงกว้างออกไป
ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม
และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จะบังเกิดในสังคมไทยอย่างแท้จริง
Last updated: 2023-08-20 19:28:50