."ห้วยสะพาน"นั้นลือชาป่าชุมชน
คนช่วยป่าป่าช่วยคนผลประจักษ์
ก่อประโยชน์ทางตรงอ้อมมีพร้อมรัก
พาตระหนักร่วมพลังทั้งกายใจ
.จากพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ผล
ถูกเล่ห์กลสัมปทานการทำไม้
ทั้งนายทุนคามคุกรุกซ้ำไป
ปลูกพืชไร่ภัยมากล้นผลตามมา
.ได้ผู้นำตระหนักค่าของป่าไม้
ชักชวนไปพี่น้องตรองปัญหา
จนเข้าใจแจ่มแจ้งแห่งปัญญา
ชวนรักษ์ป่าปกป้องไว้ให้ชุมชน
.ร่วมทำแผนวางทิศกิจกรรม
ลงมือทำทีละน้อยค่อยเกิดผล
สร้างศรัทธาขยายไปในผู้คน
ทั้งรวยจนเพิ่มเรื่อยไปได้ร่วมมือ
.กรมป่าไม้หลายหน่วยงานนั้นคอยเกื้อ
เอกชนทุ่มช่วยเหลือด้วยเชื่อถือ
ยิ่งนานวันนับเนื่องยิ่งเลื่องลือ
พาสร้างชื่อกำจรกระฉ่อนไกล
.คนนับหมื่นมากมายได้ดูงาน
ในหลายด้านนำพาประยุกต์ใช้
ช่วยสร้างผลต้นแบบป่ากระจายไป
สร้างถิ่นไทยมากเชียวเขียวขจี
.หลากรางวัลน้อยใหญ่ที่ได้มา
เกิดคุณค่ากำลังใจให้ถิ่นที่
พาสร้างเหล่าเยาวชนผลมากมี
คงชั่วนาตาปีดียิ่งนัก
."กาญจนบุรี"นี้เลอค่า
ด้วยมีป่าชุมชนคนรู้จัก
"ห้วยสะพานสามัคคี"มีความรัก
ช่วยปกปักรักษ์ป่าไม้ไว้คู่คน
ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ:
นับว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ต.หนองโรง อ.พนมทวน
จ.กาญจนบุรี เป็นครั้งที่ 2
โดยครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564ที่ร่วมกับคณาจารย์ของ
มสธ.ในการหาแนวทางการใช้พื้นที่ป่าชุมชนทดลองทำกิจกรรมการวิจัยการอาบป่า
ส่วนครั้งที่ 2 เมื่อ 30 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา โดยเป็นวิทยากรพานักบริหารระดับกลางของกระทรวงการคลังในการประเมินผลการดำเนินงานป่าชุมชนแห่งนี้
ทำให้ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะความสำเร็จจากการดำเนินงานที่มีผู้เยี่ยมชมทั้งในและต่างประเทศนับหมื่นคน
จนได้รับรางวัลมากมายกว่า 30 รางวัลจากหน่วยงานต่างๆ
พื้นที่ป่าชุมชนแห่งนี้เคยมีสภาพป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างดี
แต่เมื่อรัฐมีการให้สัมปทานการทำไม้
รวมทั้งต่อมานายทุนบุกครอบครองพื้นที่เพื่อปลูกอ้อย
ทำให้ชุมชนเกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งอาหารธรรมชาติที่เคยมีในหลายด้าน
รวมทั้งความแห้งแล้งของสภาพดินฟ้าอากาศที่มากขึ้นตามลำดับ จนในปี พ.ศ.2517 ที่ชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มหนึ่งสิ้นความอดทน
จึงได้เริ่มกิจกรรมการเรียกร้องความชอบธรรมคืนมา
โดยร่วมมือกันทำกิจกรรมหลายด้านเพื่ออนุรักษ์ป่า
ต่อมาได้มีชาวบ้านให้ความร่วมมือเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนในปี พ.ศ.2540 ทางเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556
เป็นต้นมาได้จดทะเบียนเป็นป่าชุมชนอย่างเป็นทางการร่วมกับกรมป่าไม้
โดยมีพื้นที่เกือบ 2,100 ไร่
วัตถุประสงค์ที่สำคัญของป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี
คือ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ลูกหลานในอนาคต เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำและรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชน
เพื่อเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เพื่อเป็นแหล่งอาหารและแหล่งไม้ใช้สอยในครัวเรือน
และเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในชุมชนที่มุ่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนที่เพิ่มรายได้ให้ชุมชน ซึ่งได้มีการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น
การจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาเป็นแกนกลางร่วมกับชาวบ้านในการออกกฎระเบียบเพื่อจัดการป่าชุมชนที่เหมาะสม
ป้องกันรักษาพื้นที่ป่าจากการลักลอบตัดไม้ ปลูกเสริมป่าในโอกาสต่างๆ
ทำแนวป้องกันไฟป่า จัดทำป้ายแสดงแนวเขตของป่า ทำฐานเรียนรู้ให้ผู้สนใจได้ศึกษาฯลฯ
ป่าชุมชนแห่งนี้ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
ที่สามารถสรุปได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยมาจากปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้
1.ผู้นําและคณะกรรมการป่าชุมชนมีความเข้มแข็ง มีจิตอาสา
และมีความรู้ความสามารถในการจัดการป่าชุมชนเป็นอย่างดี
2.การสร้างเครือข่ายป่าชุมชนร่วมกับชุมชนอื่น
เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และนําประสบการณ์มาประยุกต์ใช้
3.พื้นที่ป่าชุมชนมีขนาดใหญ่กว่า 2,000 ไร่
ที่เริ่มกลับมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นตามลำดับ
4.การสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ
ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง
5.ป่าชุมชนเอื้อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
รวมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างต่อเนื่องที่เป็นรูปธรรม
6.ได้รับการยอมรับให้เป็นเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ วิจัย
และท่องเที่ยวให้บุคคลทั้งในและต่างประเทศ
7.การสร้างผู้นํารุ่นใหม่เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการจัดการป่าชุมชนของท้องถิ่น
ขอบพระคุณคุณพิชัย
เอกศิริพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ลุงสวง ชำนาญกำหนด
ประธานคณะกรรมการป่าชุมชนและทีมงานที่กรุณาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่างๆที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
หากในประเทศไทยมีป่าชุมชนที่ประผลผลสำเร็จเช่นป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีแห่งนี้จำนวนมาก
คงช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมได้เป็นอย่างดี
ที่ส่งผลสืบเนื่องเพื่อส่วนรวมต่อโลกของเราให้มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้นต่อไป
Last updated: 2021-12-05 20:56:29