กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
รู้จักให้...ในสิ่งที่คนอื่นอยากได้
 
     
 
ส่วนร่วมป่าไม้
งานของพวกเราได้ผลดีต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมี... "ส่วนร่วมป่าไม้"... ตามแนวทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎระเบียบที่มี...
 

.การป่าไม้มุ่งจัดการอันเกิดผล
เน้นชุมชนเชื่อมภาคีมีส่วนร่วม
ห้าขั้นตอนมุ่งหมายให้ส่วนรวม
อย่ากำกวมต้องชัดเจนเน้นทำไป

.เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ที่เจาะลึก
ร่วมตรองตรึกปัญหาการป่าไม้
มีสาเหตุรองหลักจากการณ์ใด
เพื่อหาทางแก้อย่างไรได้ผลดี 

.ร่วมวางแผนให้ชัดวัตถุประสงค์
จำแนกไปเป้าหมายตรงตัวบ่งชี้
กิจกรรมลำดับขั้นอันถ้วนถี่
สอดคล้องที่ทั้งเวลาทรัพยากร 

.ดำเนินงานตามแผนมีที่กำหนด
ร่วมทำหมดที่คิดไว้ไม่ผลัดผ่อน
วิธีการต้องหนุนเกื้อเอื้ออาทร
อย่าโอนอ่อนเอนเอียงเกี่ยงงานกัน 

.ร่วมจัดสรรสิ่งเกิดมาผลประโยชน์
หลีกเลี่ยงโทษทำร้าวรานสมานฉันท์
ต้องเป็นธรรมนำชัดแจ้งการแบ่งปัน
ผูกสัมพันธ์ทุกฝ่ายให้ยาวนาน 

.หมั่นติดตามความก้าวหน้าว่าเพียงใด
ทั้งแก้ไปอุปสรรคอาจมากด้าน
ประเมินผลที่ได้รับกับการงาน
ร่วมประสานเน้นย้ำตามแผนมี

.มีส่วนร่วมต้องคำนึงถึงกฎหมาย
ระเบียบมีที่มากมายให้ถ้วนที่
งานป่าไม้จึงเลอเลิศเกิดผลดี
หนุนชุมชนช่วยภาคีมีผลงาน 

.วิงวอนขอต่อพวกเราชาวป่าไม้
จงเปิดใจได้ศึกษาพาประสาน
มีส่วนร่วมทั้งคิดทำให้ชำนาญ
สร้างเบิกบานดีกว่าสู้อยู่เดียวดาย

 

.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com

แรงดลใจ:ช่วงเรียนปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ.2520-24 ได้เลือกเรียนทางด้านวนวัฒนวิทยา โดยเหตุผลสำคัญคือต้องการจบไปทำงานด้านการปลูกและบำรุงป่า เพราะพื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างมากสมัยนั้นก็มุ่งเรียนเนื้อหาทางวิชาการป่าไม้ที่เกี่ยวข้องทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งเมื่อจบและสอบบรรจุเข้ารับราชการในกรมป่าไม้ได้ ก็นับว่าโชคดีที่ได้ทำงานที่ตรงกับเรียนมา โดยได้ปฏิบัติงานในท้องที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี สมุทรปราการและชัยนาท ซึ่งอยู่ในสังกัดของสำนักงานป่าไม้เขตสระบุรีในขณะนั้น

ยอมรับว่าในช่วงแรกของการทำงาน มีทัศนคติในทางลบกับชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยมองว่าชาวบ้านคือผู้ที่ทำลายป่าเท่านั้น ไม่เคยมีมุมมองในการเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในงานป่าไม้เลย อาจเป็นเพราะว่าในทางกฎหมายและแนวทางการทำงานของกรมป่าไม้ไม่ได้กำหนดแนวทางนี้ไว้ ในช่วงที่เรียนก็ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเลย แต่ก็ยอมรับว่าเริ่มให้ความสนใจบ้าง เพราะช่วงนั้นได้มีการปลูกป่าประชาอาสาในท้องที่จังหวัดสระบุรีหลายครั้ง ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งในจังหวัดอื่นๆอีกด้วย

หลังจากนั้นในช่วง พ.ศ.2527-29 ได้ลาเรียนระดับปริญญาโทที่คณะวนศาสตร์ ได้มีโอกาสเรียนรู้และเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชาวบ้านกับป่าไม้มากขึ้น เพราะกระแสการจัดการป่าไม้ในแนวนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งนอกและในประเทศ  ซึ่งมีงานทางวิชาการได้กล่าวถึงอยู่พอสมควร  จนปลายปี พ.ศ.2529 ได้ตัดสินใจย้ายมาทำงานด้านป่าชุมชนโเยตรงกับพี่โกมล แพรกทอง(วน.30) โดยการสนับสนุนจากท่านธานี ภมรนิยม(วน.15) ผอ.กองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เปิดโลกทัศน์ด้านนี้มากขึ้น

ช่วงปี พ.ศ.2529-33 นับว่าได้มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการจัดการป่าไม้เป็นอย่างมาก เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติมจากการอบรมทั้งในและต่างประเทศหลายครั้ง รวมทั้งการได้มีประสบการณ์ออกปฏิบัติงานในพื้นที่ในเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ หลังจากนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2534-ปัจจุบัน ได้โอนไปทำงานที่ มสธ. ที่ต้องทำวิจัย เขียนเอกสารการสอน ศึกษาดูงาน เรียนต่อและอบรม ทำให้สรุปได้ว่าการจัดการป่าไม้ต้องควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านตามแนวทางที่เหมาะสม จึงทำให้ประสบผลสำเร็จและเป็นผลดีกับทุกฝ่าย



Last updated: 2021-01-17 20:17:50


@ ส่วนร่วมป่าไม้
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ส่วนร่วมป่าไม้
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
530

Your IP-Address: 52.15.72.229/ Users: 
529