.บทเรียนหนึ่งซึ่งค้างใจในความคิด
กับชีวิตการทำงานการป่าไม้
ด้วยมุ่งมั่นหลักการสร้างงานไป
จน"ทิดชัย"ทั้งครอบครัวต้องมัวหมอง
.ด้วย"ทิดชัย"เจ็บไข้บ่อยเงินน้อยแท้
เลี้ยงพ่อแม่เมียร่วมทุกข์มีลูกสอง
เที่ยวรับจ้างแต่ละวันตามครรลอง
แอบครอบครองจองที่ป่าไว้หากิน
.กรมป่าไม้ขยายงานการปลูกป่า
ยึดคืนมาที่ป่าไม้ในทุกถิ่น
ใครแข็งขืนยืนยันจับปรับให้สิ้น
อันทรัพย์สินทั้งปวงหลวงยึดไป
.จึง"ทิดชัย"กลัวกฎหมายได้รับผิด
แม้ดวงจิตสุดชอกช้ำน้ำตาไหล
ยอมคืนหลวงเอาที่มาปลูกป่าไม้
เขาซื้อใจจ้างรายวันงานชั่วคราว
.ปีถัดมานโยบายป่าไม้ใหม่
ผ่อนผันให้คนบุกป่าพาอื้อฉาว
ได้สิทธิอยู่ทำกินสิ้นเรื่องราว
ทำ"ทิดชัย"ให้รวดร้าวแสนเศร้านัก
.เพื่อนชาวบ้านฝืนกฎหมายได้ประโยชน์
คนกลัวโทษถูกเย้ยหยันร้าวรานหนัก
ค่าจ้างน้อยหาเงินไปไม่ผ่อนพัก
ไร้งานหลักน่าสมเพชเวทนา
.ทั้งพ่อแม่ที่แก่เฒ่าเศร้าลำบาก
เมียสุดทนที่จนยากหนีจากหน้า
ลูกหมองหม่นทนกินอยู่ร้าวอุรา
ด้อยโอกาสการศึกษาที่น่ามี
.ด้วยสนองราชการงานป่าไม้
ต้องทำไปให้เกิดค่าตามหน้าที่
สุดฝืนใจในเส้นทางสร้างความดี
จึงต้องหนีไม่อยากเห็นเช่น"ทิดชัย"
ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ: สมัยรับราชการกรมป่าไม้ครั้งแรก ในช่วงปี พ.ศ.2525-2527 ในสังกัดสำนักงานป่าไม้เขตสระบุรี(ในขณะนั้น) ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วยโครงการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาหลัก-เขาช่องลม ในท้องที่อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เป็นช่วงที่มีไฟแรงและมีความสุขในการทำงานป่าไม้ ตามความรู้และหลักการทางวิชาการป่าไม้และกฎระเบียบที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการปลูกป่าทดแทนป่าที่เสื่อมโทรมจากการถูกบุกรุกเปลี่ยนสภาพโดยชาวบ้าน
กรมป่าไม้ได้ใช้แนวทางของการจัดหมู่บ้านป่าไม้ โดยการยึดพื้นที่ป่าไม้จากชาวบ้านที่ครองครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายป่าไม้ แล้วโยกย้ายให้ชาวบ้านเหล่านั้นมาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยสนับสนุนพื้นที่อยู่อาศัยและจัดหาสาธารณูปโภคให้ตามสมควร กับทั้งว่าจ้างแรงงานชั่วคราวในการเพาะชำกล้าไม้และปลูกป่าทดแทน ซึ่ง"ทิดชัย"เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ยอมรับเงื่อนไขด้วยความจำใจ ในขณะที่เพื่อนบ้านหลายคนดื้อแพ่ง ไม่ยอมให้ความร่วมมือ
ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน รัฐบาลได้มีนโยบายในการผ่อนผันให้ราษฎรที่บุกรุกถือครองพื้นที่ป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้อยู่อาศัยโดยออกเอกสารรับรองสิทธิทำกิน(สทก.)ให้ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ หากใครมีมากกว่าก็ให้ทำการเช่าพื้นที่ส่วนที่เกินได้ สร้างความยินดีปรีดาให้แก่ผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการจัดหมู่บ้านป่าไม้ ขณะเดียวกันก็สร้างความรู้สึกตรงกันข้ามในหมู่ชาวบ้านและ"ทิดชัย" ที่ยอมเชื่อฟังและทำตามเจ้าหน้าที่ โดยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะพื้นที่ได้ถูกขึ้นทะเบียนสวนป่าของรัฐไปแล้ว
ในปี พ.ศ.2532 รัฐได้ดำเนินการออก ส.ป.ก.ในพื้นที่เพิ่มเติมให้อีก นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าช้ำใจและผิดหวังแทนชาวบ้านและ"ทิดชัย"เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ เพราะเป็นเพียงฟันเฟืองตัวน้อยเหลือเกินของกรมป่าไม้ กับทั้งทำให้เสียความรู้สึกต่องานทางด้านการฟื้นฟูป่าในรูปแบบหมู่บ้านป่าไม้ ที่ได้ตั้งใจร่ำเรียนมากับทั้งมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีในสมัยนั้นต่อการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนในชนบทที่ยากจนและห่างไกลเมือง จนเป็นส่วนหนี่งให้ตัดสินใจเปลี่ยนสายงานการป่าไม้ในโอกาสต่อมา