เรื่องที่ดินถิ่นป่าไม้ให้ปวดจิต
ใครทำผิดกลับได้ดีมีพบเห็น
พวกเคารพกฎหมายกลายลำเค็ญ
ต้องทุกข์เข็ญน่าสมเพชเวทนา
บทเรียนผ่านนานมาอดีตกาล
บางชาวบ้านรุกจองครองที่ป่า
บ้างเปลี่ยนมือซื้อขายถ่ายโอนมา
ไม่นำพากฎหมายป่าไม้เลย
ตัดกานโค่นก่นถางสางไม้ป่า
ล้ำคุณค่าช่วยป้องภัยทำลายเฉย
บ้างเผาทิ้งยิ่งเสียดายเจ็บใจเอย
บ้านเมืองเอ๋ยนี่กระไรไร้ขื่อแป
เปลี่ยนที่ป่าทำถิ่นฐานบ้านอาศัย
ปลูกพืชไร่เกษตรกรรมทำมากแท้
สารเคมีกระหน่ำใช้หมายดูแล
ไม่แยแสผลกระทบทางลบมา
ที่ปวดใจน่าทุเรศเหล่าเศรษฐี
พวกมีสีเส้นสายนายพ่อค้า
กว๊านซื้อที่สะสมกันปั่นราคา
จึงที่ป่าพาย่อยยับนับเนื่องไป
สร้างเสียหายให้ผืนป่าทุกประเภท
ทั่วประเทศทุกยุคทุกสมัย
รัฐบาลที่ผ่านมาช่างกระไร
เอื้อทางให้พวกทำผิดก่อพิษมา
คอยผ่อนผันอยู่อาศัยให้ทำกิน
มีสิทธิครองที่ดินถวิลหา
สปก.สหกรณ์ ก่อนนำพา
มาเปลี่ยนท่าเป็นโฉนดชุมชนไป
คนทำผิดคอยบุกรุกที่ป่า
ต่างปรีดายิ้มแย้มอย่างแจ่มใส
พวกเคารพกฎหมายเหนื่อยหน่ายใจ
หาเงินไว้ใช้ผ่อนหนี้ซื้อที่ดิน
.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ:
สมัยได้รับการบรรจุให้เริ่มรับราชการ เมื่อปลายปี
พ.ศ.2524 ในตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 3
ซึ่งจัดว่าเป็นคนหนุ่มไฟแรง เนื่องจากเพิ่งจบการศึกษามาหมาดๆ
แต่ยกแรกของชีวิตการทำงานก็ต้องพบกับความสมหวังควบคู่กับผิดหวังเล็กๆพร้อมกันไป
เมื่อได้รับคำสั่งให้ออกไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าสวนป่าคลองไทร-ปางหัวช้าง
ในท้องที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งงานตรงกับที่ตั้งใจเรียนจบมาทางวนวัฒนวิทยา
แต่กิจกรรมการทำงานช่างไม่บรรเจิดเหมือนวิชาการที่ได้รับมา มีข้อติดขัดหลายด้าน
โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณมาใช้ทำงาน
เรื่องเหล่านี้มีรายละเอียดมากเอาไว้ต้องหาเวทีที่เหมาะสมเสนออีกครั้ง
ต่อมาได้รับความเมตตาจากผู้บังคับบัญชา (นายธานี
ภมรนิยม ป่าไม้เขตสระบุรี ในขณะนั้น)
ให้ย้ายไปช่วยงานที่โครงการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ(ป่าเขาหลัก-เขาช่องลม
ในท้องที่จังหวัดชัยนาท) โดยทำงานด้านหมู่บ้านป่าไม้ ควบคู่กับการออก
สทก.(สิทธิทำกิน) ซึ่งผลก็สรุปได้คล้ายเดิมว่า
สบายใจกับแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้ในรูปแบบหมู่บ้านป่าไม้
แต่ขมขื่นใจกับการให้ สทก.
เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้บุกรุกพื้นที่ป่าไม้มากเกินไป
แต่ก็ต้องทนทำงานไป
เพราะเป็นนโยบายของกรมป่าไม้(ที่ต้องทำตามคำสั่งเบื้องบนอีกชั้นหนึ่ง)
กับทั้งตัวเองก็เป็นแค่ข้าราชการตัวเล็ก ที่ต้องทำตามคำสั่งเท่านั้น
ครั้นเมื่อทบทวนย้อนไปในอดีต จนถึงปัจจุบันในยุค
คสช. ก็พบว่า รัฐบาลหลายยุคพยายามใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่าหลักนิติศาสตร์
ในการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้มาโดยตลอด
โดยพยายามผ่อนผันให้ผู้ที่บุกรุกหรือครอบครองที่ดินป่าไม้โดยฝ่าฝืนกฎหมาย
ได้มีโอกาสครอบครองที่ดินในรูปแบบต่างๆ ทั้งสหกรณ์นิคม ปฏิรูปที่ดิน (สปก.)
โฉนดชุมชน ที่ดินแปลงรวมฯลฯ
ซึ่งในทางหลักการแล้วดูเหมือนว่าเลอเลิศประเสริฐศรีสำหรับผู้ยากจน
หรือไร้ที่ดินทำกิน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว พบว่ามีช่องโหว่หลายด้าน
ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลย ทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการเท่าที่ควร
โดยสรุปก็คือ มีการทำผิดกันมากมาย
โดยเฉพาะการเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนหรือผู้อื่นและไม่ทำกินตามเงื่อนไขที่มี
คนที่เคยปฏิบัติงานป่าไม้ในพื้นที่ที่สัมผัสกับชาวบ้านกลุ่มที่อยู่ข้างเคียงแต่เคารพกฎหมายป่าไม้
น่ามีความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกันมาก ก็คือ เห็นใจและสงสารชาวบ้านเหล่านี้
เพราะไม่มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือในด้านการครอบครองที่ดินป่าไม้
เช่นเดียวกับกลุ่มที่บุกรุกครอบครองที่ดินป่าไม้
(ทั้งนี้รวมทั้งผู้ยากไร้ที่ดินที่อาศัยอยู่ห่างพื้นที่ป่าไม้อีกด้วย)
หลายคนได้แต่บ่นให้ฟังว่า ถ้ารู้ว่ารัฐบาลผ่อนผันอย่างนี้
คงบุกป่าเช่นเดียวกับคนอื่นบ้างแน่นอน แต่ที่ส่งผลตามมา ก็คือ
ชาวบ้านหลายคนตัดสินใจบุกป่าเพราะแรงกระตุ้นจากนโยบายของรัฐ
ผู้นำชุมชนหลายคนที่พอไว้เนื้อเชื่อใจกัน ได้เคยสารภาพว่า
"ผมเองนี่แหละเป็นคนชวนชาวบ้านบุกตัดไม้ในป่า เพื่อให้ป่ามันเสื่อมโทรม จึงมีโอกาสได้รับการผ่อนผันให้ครอบครองที่ดิน
หากป่าสมบูรณ์ หลวงไม่มีทางยกที่ดินให้แน่นอน"
ความคิดเห็นส่วนตัว(ทั้งกลอนและแรงดลใจ)ข้างต้น
สะท้อนจากคนที่รักป่าและต้องการเห็นความเป็นธรรมในสังคมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่า หากผู้ที่มั่นใจว่าได้ครอบครองที่ดินป่าไม้(ทั้งที่ราบและที่ภูเขา)
โดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมายป่าไม้ ซึ่งอาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป
ก็ไม่เกี่ยวข้องกับความคิดเห็นที่นำเสนอไว้ ยกเว้นพวกที่ชอบอ้างไปแบบข้างๆคูๆ
เอาแต่ประโยชน์เข้าตัวเองหรือพวกพ้อง
หรือมีสิ่งซ่อนเร้นแอบแฝงเพื่อวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายบางอย่าง ซึ่งที่ผ่านมามีอยู่มากมายเหลือเกินในสังคมไทย
Last updated: 2018-08-31 15:16:16