กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
จดแล้วไม่ค่อยจำ เข้าใจแล้วไม่ค่อยลืม
 
     
 
ป่าชุมชน : ทางเลือกในการคุ้มระบบนิเวศโดยชุมชน
มนุษย์สังเคราะห์แสงเองไม่ได้จึงไม่อาจสร้างอาหารด้วยตัวเอง ต้องเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากระบบนิเวศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากป่าไปใช้ประโยชน์
 

มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ

 

ระบบนิเวศจึงเป็นสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ มนุษย์สังเคราะห์แสงเองไม่ได้จึงไม่อาจสร้างอาหารด้วยตัวเอง ต้องเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากระบบนิเวศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากป่าไปใช้ประโยชน์ วิธีการเก็บเกี่ยวมีหลายแบบ บางวิธีทำให้ระบบนิเวศเสื่อมลง แต่บางวิธีนอกจากจะไม่ทำลายยังช่วยให้เกิดการกระจายพันธุ์ และเพิ่มพูนคุณค่าทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในระบบนิเวศจึงเป็นความสัมพันธ์สองทาง คือ ทั้งใช้หรือเอาออกไปจากระบบ และให้หรือเกื้อกูลให้ระบบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

ในสมัยก่อน มนุษย์ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศป่าทางด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย ยา ไม้ฟืนและไม้ใช้สอย และใช้อยู่ในท้องถิ่น คนในแต่ละท้องถิ่นจึงต้องคุ้มครองรักษาและเสริมสร้างระบบนิเวศป่าไม้ของตนเอาไว้ใช้ประโยชน์ กระบวนการคุ้มครองรักษาและเสริมสร้างระบบนิเวศจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เรื่องที่เกี่ยวข้องมากก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันบางเรื่องก็เกี่ยวข้องเป็นครั้งคราวหรือตามฤดูกาล และสิ่งเหล่านี้ก็พัฒนาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม

 

แต่ในยุคพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปจากการอยู่เป็นกลุ่มเป็นชุมชนเผ่าต่าง ๆ กลมกลืนไปกับระบบนิเวศที่หลากหลาย มาเป็นวิถีชีวิตแบบคนเมือง ทำให้แบบแผนการพึ่งพาทรัพยากรเปลี่ยนไป และไม่ได้จำกัดเพียงแค่พอใช้สอยในท้องถิ่น แต่เก็บไปสนองความต้องการอันไม่มีขีดจำกัดในเมืองและยังมุ่งสะสมเพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้ไปพัฒนาเมือง

 

ในระยะแรกทรัพยากรพื้นฐานที่เก็บเกี่ยวจากป่าเพื่อการนี้คือไม้ซุง เพราะสมัยก่อนใช้ไม้ก่อสร้างบ้านเรือนอาคารร้านค้าต่อเรือสินค้าเดินทะเลขนาดใหญ่ไปค้าขายหรือไปล่าอาณานิคม ส่วนไม้ขนาดเล็ก สมุนไพรหรือพืชอาหารในป่าไม่ได้รับความสนใจและยังถูกมองเป็นวัชพืชที่เกะกะกีดขวางการเจริญเติบโตของไม้เศรษฐกิจ และเพื่อแข่งกันพัฒนาเมืองให้โตเร็วที่สุด จึงได้มีการปรับวิธีการและปริมาณการเก็บหาทรัพยากรจากระบบนิเวศให้ได้มากที่สุด 

ระบบการจัดการป่าไม้เพื่ออุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของการพัฒนาเศรษฐกิจของคนในเมือง ระบบนิเวศป่าซึ่งชุมชนท้องถิ่นดูแลต้องถูกยึดหรือรวบมาเป็นของรัฐ มีการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นมาควบคุมการทำไม้ซุงหารายได้เข้ารัฐ ใครให้ประโยชน์แก่รัฐมากก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเก็บหาหรือทำประโยชน์ตามระบบสัมปทาน สัมปทานป่าไม้จึงเน้นการเก็บเกี่ยวไม้ซุงออกจากระบบนิเวศ จึงมีการพัฒนาระบบการปลูกบำรุงป่าต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อการตัดฟันช่วยการสืบพันธุ์ของไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนไม้อื่นหรือชั้นรองจะถูกกำจัดออกจากระบบนิเวศโดยตรงจากการถูกไม้ใหญ่ล้มทับหรือจากการชักลากไม้

 

นอกจากนี้ยังถูกทำลายทางอ้อมเพราะถูกกีดกันไม่ได้รับแสงแดดและจึงค่อย ๆ เฉาตายไปในที่สุด ระบบนิเวศป่าหลังการทำไม้ในระบบสัมปทานจึงเสื่อมโทรมมากแม้เนื้อไม้หรือมวลชีวภาพที่เก็บเกี่ยวไปในรูปไม้ซุงจะมีปริมาณไม่มากนัก เรื่องนี้เป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้ประเทศพัฒนาปรับปรุงการเก็บเกี่ยวไม้ซุงโดย  วิธีที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ เช่น ชักลากไม้ทางอากาศด้วยสายเคเบิล แต่การทำไม้วิธีนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการซื้อไม้จากประเทศกำลังพัฒนา ป่าเขตร้อนในประเทศพัฒนาจึงไม่ค่อยมีการทำไม้ ไม้ที่ใช้ส่วนใหญ่มักมาจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีเนื้อที่ป่าเหลือน้อยลงทุกที

 

เนื้อที่ป่าประเทศพัฒนาจึงเพิ่มขึ้นและป่าก็สมบูรณ์ขึ้น ส่วนป่าในประเทศกำลังพัฒนากลับลดลงและเสื่อมโทรมลงเพราะประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจให้เปิดป่าเพื่อทำไม้และยังคงใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำไม้ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก  ระบบนิเวศป่าเขตร้อนมีลักษณะเฉพาะตัว กล่าวคือ มีความซับซ้อนหลายหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ภูมินิเวศ และเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่า การพึ่งพิงระบบนิเวศป่าโซนร้อน จึงมีหลายรูปแบบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในการจัดการระบบนิเวศป่าเขตร้อนให้สนองวัตถุประสงค์หลายด้าน สนองความต้องการที่หลากหลายของคนทุกกลุ่ม และสอดคล้องกับระบบนิเวศจึงยุ่งยากซับซ้อน ทำได้ยากและยังไม่มีที่ใดประสพความสำเร็จ

 

นอกจากในการจัดการแบบดั้งเดิมที่อิงวัฒนธรรมและสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น  การจัดการระบบนิเวศป่าของไทยในปัจจุบันเนื่องจากเน้นด้านพัฒนาเศรษฐกิจมาก ไม่ละเว้นแม้แต่พื้นที่คุ้มครองเข้มงวดที่รัฐเปิดให้ทำธุรกิจท่องเที่ยวก็ยังไม่เหมาะสม สมควรต้องการปรับเปลี่ยน เพราะทำให้ป่าอยู่ไม่ได้และประโยชน์ที่ได้รับก็ไม่หลากหลายหรือได้เฉพาะคนบางกลุ่ม ชุมชนจึงล่มสลาย การจัดการระบบนิเวศป่าเพื่อให้เกิดป่าสูงที่มีไม้ชั้นอากาศอายุเดียวกัน หรือใกล้เคียงลดหลั่นกันไปและจัดการตัดฟันเพื่อเปิดโอกาสให้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจสูงได้มีโอกาสสืบต่อพันธุ์และเติบโตทดแทนกันได้อย่างต่อเนื่องอาจจะไม่เพียงพอเสมอไป บางพื้นที่ต้องพัฒนาระบบที่รวมไปถึงการจัดการพืชคลุมดินชั้นล่างเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและเพิ่มปริมาณน้ำที่ซึมลงดิน ตลอดจนการจัดการไม้ชั้นรองเพื่อนำใบดอกและผลไปเป็นอาหารของคนและสัตว์ ส่วนไม้โพรงไม้ผุใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

 

ดังนั้นทางเลือกของระบบจัดการป่าแบบใหม่จึงไม่ควรสร้างป่าชั้นอายุเดียวที่ใช้ผลผลิตเพียงอย่างเดียวในขั้นสุดท้าย แต่ควรจะต้องสร้างป่าให้มีต้นไม้หลากหลายประโยชน์ต่อเนื่องกันไป อันจะช่วยเชื่อมโยงการอนุรักษ์ระบบนิเวศและพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกัน การจัดการระบบนิเวศป่าแบบนี้เป็นการจัดการแบบประณีตซึ่งหน่วยงานของรัฐทำไม่ได้เพราะไม่มีความประณีตและศักยภาพเพียงพอสามารถทำงานได้เฉพาะด้านเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้ไม่มากพอ ในสถานการณ์ปัจจุบันโดยทั่วไปจึงไม่พบว่ามีวิธีใด (รวมทั้งวืธีการประกาศป่าอนุรักษ์แล้วห้ามไม่ให้มีกิจกรรมใด ๆ ของมนุษย์ยกเว้นพนักงานเจ้าหน้าที่) ที่ดีไปกว่าวิธีการจัดการป่าในรูปแบบหรือกระบวนการของ "ป่าชุมชน" ซึ่งสามารถสนองความต้องการของชุมชนในระดับยังชีพ หรือหาอยู่หากินได้  ป่าชุมชนโดยทั่วไปเป็นผืนป่าผืนเล็ก ๆ มีขนาดและรูปแบบผันแปรไปตามลักษณะและพัฒนาการของชุมชน

 

ป่าชุมชนจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับระบบนิเวศป่าในท้องถิ่น ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับชุมชนจะราบรื่นและยาวนานเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของชุมชนเป็นสำคัญ ชุมชนล่มสลายป่าก็หมด ป่าหมดชุมชนก็ล่มสลาย ความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างป่ากับชุมชนจึงเป็นที่รับรู้กันมานาน ดังนั้นเพื่อสร้างกลไกการบริหารจัดการป่าที่เหมาะสม จึงต้องมีการพัฒนาองค์กรชุมชน สร้างแผนการจัดการนิเวศป่าชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้ทำ แผนการจัดการนิเวศป่าชุมชนจะช่วยให้เห็นภาพรวมของป่าทั้งผืน ทำให้รู้จักเข้าใจและเห็นคุณค่าป่าผืนใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้มองเห็นระบบนิเวศย่อย ๆ ในระบบนิเวศป่าผืนใหญ่ เช่น ที่สูงเป็นป่าดิบเขา ที่โคกเป็นป่าโคก หนองน้ำหรือที่น้ำท่วมขังเป็นฤดูกาลก็มีป่าพรุหรือป่าบุ่งป่าทามขึ้นอยู่ ที่ดินตื้นมีกรวดหินมากอากาศแห้งแล้งก็มีป่าเต็งรังขึ้น หากมีดินหนาขึ้นมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้นมาสักหน่อยก็จะมีป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบแล้ง เป็นต้น

 

ดังนั้นหากรู้จักระบบนิเวศดีพอ รู้จักเนื้อหาองค์ประกอบของระบบนิเวศที่มีอยู่ในป่า รู้จักกฎเกณฑ์หน้าที่ตามธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันในป่า รู้ถึงผลกระทบและรู้จักจัดการกับผลกระทบจากการเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์สรรพสิ่งจากระบบนิเวศ และตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ คนกับระบบนิเวศก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกัน คนไม่ทำลายป่าและป่าก็จะไม่ทำลายคน คือ ไม่โค่นล้มมาทับหรือเป็นเหตุให้ชุมชนต้องอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่  กระบวนการที่จะช่วยให้คนรู้จักระบบนิเวศป่า อยู่กับป่าและพึ่งพาป่าได้โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกันมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่มีการจัดการ มีกลไกทางสังคมและทางการบริหารจัดการคอยควบคุมอีกชั้นหนึ่ง คือ รูปแบบของป่าชุมชน ป่าชุมชนจึงช่วยให้ป่าได้รับการคุ้มครอง ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากคนหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกระดับ

 

ในระดับที่ได้ดุลยภาพหรือไม่ทำลายเพื่อช่วยให้ระบบนิเวศทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ดุลยภาพเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกฏธรรมชาติ มีการถ่ายทอดพลังงาน การหมุนเวียนธาตุอาหาร การทดแทน การรบกวนทำลายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและจากมนุษย์ ตลอดจนการฟื้นฟูตามธรรมชาติ หากชุมชนพึ่งระบบนิเวศมากเกินจุดดุลยภาพและระบบนิเวศไม่สามารถฟื้นฟูสภาพได้ตามธรรมชาติ ก็อาจต้องช่วยเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติโดยการปลูกเสริมและป้องกันอันตรายจากไฟหรือสัตว์เลี้ยงหรือใช้ระบบการตัดฟันช่วยการสืบพันธุ์ของต้นไม้ ซึ่งมีมากมายหลากหลายวิธีให้เลือกใช้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดการ ป่าชุมชนจึงไม่ใช่ป่าเพื่อเศรษฐกิจมุ่งทำไม้หรือผลิตไม้ไว้ใช้สอย แต่ไม้ใช้สอยเป็นผลผลิตหนึ่งในหลาย ๆ อย่างของการจัดการระบบนิเวศป่าชุมชน 

 

การจัดการระบบนิเวศที่เป็นป่ามีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดการ เช่น คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อน้ำ และเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่า ในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพคนส่วนใหญ่จะนึกถึงป่าและต้นไม้ในป่า แต่ความสำคัญของป่าในเรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด หรือความหนาแน่นของต้นไม้ แต่ขึ้นอยู่กับคุณค่าของชีวภาพต่อมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ป่าในพื้นที่ราบที่ลุ่มต่ำจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าป่าที่สูง เพราะยิ่งสูงความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะเกี่ยวกับชนิดและพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตยิ่งลดลง ดังนั้นหากจะจัดการระบบนิเวศป่าเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพจึงไม่ควรอพยพโยกย้ายคนจากที่สูงลงมาที่ลุ่มต่ำ และโดยสถานการณ์ทั่วไปก็ไม่ควรอพยพคนหรือชุมชนโดยอ้างเพื่อวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ เพราะการอพยพทำให้วัฒนธรรมและความเป็นชุมชนล่มสลาย ชุมชนตั้งใหม่จะใช้ป่าและทรัพยากรทุกอย่างอย่างหนักเพื่อให้อยู่รอดกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ทำให้ระบบนิเวศป่าซึ่งรวมถึงดินและน้ำในที่ต่ำถูกทำลาย

 

ในทางการจัดการลุ่มน้ำ คนส่วนใหญ่นึกถึงป่าบนภูเขาสูงทางภาคเหนือ เป็นความจริงอยู่มากว่าพื้นที่ป่าตามภูเขาสูงมีความสำคัญต่อน้ำและต่อสภาวะอากาศประจำถิ่น แต่พื้นที่อื่น ๆ อาทิ ที่ลุ่มและที่ริมลำห้วยลำธารก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะประเด็นการเก็บกักรักษาน้ำอาจสำคัญกว่าบนยอดเขาด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เขาไม่สูงมากนักเพราะที่ลุ่มริมห้วยมีชั้นดินลึกกว่าสามารถเก็บน้ำได้มากกว่าที่สูงชันซึ่งมีแต่หินไม่ค่อยมีเนื้อดินจึงเก็บกักน้ำไม่ได้ นอกจากนี้การให้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำใด ๆ มิได้เกิดจากอิทธิพลของป่าแต่เพียงอย่างเดียวยังมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ อาทิ ลักษณะภูมิประเทศ เช่น ความสูงชัน ลักษณะดินหิน และภูมิอากาศ เช่น ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้น ดังนั้นการจัดการป่าเพื่อน้ำจึงต้องเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติและกลไกธรรมชาติซึ่งมีข้อจำกัดอยู่มากและกฎเกณฑ์วิธีการของชุมชนในลุ่มน้ำ ถ้าต้องการให้มีน้ำพอใช้ คุณภาพดี และมีใช้ตามเวลาที่ต้องการ ก็ต้องจัดการป่า จัดการลุ่มน้ำร่วมกับชุมชน ไม่ใช่ล้อมรั้วหรือปล่อยป่าทิ้งไว้ตามยถากรรมซึ่งที่สุด น้ำก็ไม่ได้ ป่าก็ไม่เหลือ

 

ทางด้านการคุ้มครองจัดการสัตว์ป่าก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่วิธีการจัดการสัตว์ป่าในปัจจุบันก็ยังมีปัญหา สัตว์ป่ามีค่าหายากหลายชนิดอยู่ในความควบคุมของมนุษย์โดยเทคโนโลยี สุดท้ายข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า เพื่อป้อนแหล่งธุรกิจท่องเที่ยวตามสวนสัตว์ของประเทศที่ไม่มีป่าหรือสัตว์ป่า สุดท้ายจึงหนีไม่พ้นประเด็นเพื่อธุรกิจการค้า สัตว์ชนิดใดมีศักยภาพในทางการค้าก็จะมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะถูกไล่ล่าจนใกล้สูญพันธุ์จึงจะได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนโดยที่หลายชนิดก็อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนว่าการคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นรายชนิดรักษาชีวิตสัตว์ป่าไว้ไม่ได้ การป้องกันรักษาเฉพาะถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าก็รักษาชีวิตสัตว์ป่าไว้ไม่ได้ เพราะการสูญเสียชีวิตสัตว์ป่าส่วนใหญ่เกิดจากคน

 

คนจึงเป็นปัจจัยสำคัญและหากให้การศึกษา มีความรู้ความเข้าใจสามารถจัดการสัตว์ป่าได้ในระดับที่เหมาะสมก็จะได้ประโยชน์เพราะสัตว์ป่าจะสามารถสืบพันธุ์ทดแทนกันได้แต่หากควบคุมไม่ได้ก็จะทำให้สัตว์สัตว์ป่าสูญพันธุ์ไป โดยปกติสังคมไทยชนบทเลี้ยงสัตว์ไม่กี่ชนิดเพื่ออาศัยแรงงาน อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย หรือเป็นอาหาร และไม่ทรมานสัตว์โดยขังไว้ในกรงตามบ้านเพื่อไว้ดูเล่นหรือจำหน่ายเหมือนคนในเมือง ชุมชนใกล้ป่าก็พึ่งพาสัตว์ป่าบางชนิดเป็นอาหารแบบหาอยู่หากิน และหากนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนก็มักทำไปเพื่อสิ่งของที่จำเป็น เช่น ข้าว ยา มิได้ทำเป็นธุรกิจการค้าใหญ่โต สัตว์ป่าจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน (ซึ่งปัจจุบันบทบาททางอาหารลดน้อยลงไปเพราะมีการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น) และการหาสัตว์ป่าบางชนิดเป็นอาหารช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ป่า เกิดประโยชน์ในแง่การศึกษาอย่างมหาศาล องค์ความรู้เรื่องสัตว์ป่าทั้งของเมืองไทยหรือทั่วโลกก็ได้มาจากชาวบ้านจากพรานป่าเหล่านี้ ป่าชุมชนจึงเป็นประโยชน์ในแง่การคุ้มครองรักษาและจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าได้อีกทางหนึ่ง

 

ถึงแม้ว่าป่าชุมชนบางแห่งจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจและจัดการได้เหมาะสมก็ช่วยคุ้มครองสัตว์ป่าได้ ธรรมชาติของสัตว์ที่อาศัยในป่ามิได้กระจายอยู่ตามแนวราบเท่านั้น ยังกระจายตามแนวดิ่งตามชั้นความสูงของระบบนิเวศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ปีกและสัตว์ห้อยโหนและระบบนิเวศป่าช่วยสมดุลประชากรสัตว์ป่าเหล่านี้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นป่าใหญ่หรือป่าเล็ก แต่หากมีการจัดการระบบนิเวศป่าที่ดี ก็จะช่วยเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพให้คุณค่าทางด้านต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่าเช่นกัน  ระบบนิเวศป่าจึงเป็นที่รวมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสังคมทุกระดับชั้น ดังนั้นหากจะต้องหาทางเลือกในการคุ้มครองระบบนิเวศป่าให้อยู่ได้ คนในสังคมซึ่งเป็นผู้ใช้ทรัพยากรต้องเป็นผู้ตัดสินใจ หากสังคมต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากป่าก็ต้องจัดการให้ได้ผลผลิตอย่างนั้น เช่น ต้องการไม้ซุงก็ต้องจัดการป่าให้ไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจได้มีโอกาสเจริญเติบโตมากกว่าพืชพรรณชนิดอื่นและตัดฟันออกมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังอาจใช้รูปแบบการจัดการแบบสัมปทานรายใหญ่ รายย่อย หรือจัดการโดยรัฐ

 

หากต้องการน้ำก็สร้างกลไกลควบคุมการไหลของน้ำ ควบคุมป้องกันคุณภาพน้ำในลำธาร โดยออกกฎหมายควบคุมสิ่งเหล่านี้ หากต้องการสัตว์ก็ต้องเสริมสร้างแหล่งอาหาร น้ำและพันธุ์ไม้ที่สัตว์ต้องการเพื่อดึงดูดสัตว์ให้เข้ามาอยู่อาศัยและหากิน หากต้องการประโยชน์หลาย ๆ อย่าง เช่น น้ำใช้และทำการเกษตร ไม้ใช้สอย สัตว์ป่า แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์โดยเฉพาะชนเผ่าที่อยู่มาก่อนแล้ว ก็ต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสมที่ให้ความสำคัญทุกด้าน ซึ่งก็หมายถึงการจัดการป่าให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ดีของคนซึ่งรวมเรียกว่าวัฒนธรรม  เมืองไทยจะคุ้มครองและจัดการระบบนิเวศป่าในรูปแบบใด จึงจะเสริมคุณค่าทางอนุรักษ์และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้หากไม่ใช้รูปแบบป่าชมชน อันเป็นทางเลือกที่เป็นทางออกได้ในสถานการณ์ปัจจุบันเพราะสามารถสร้างเสริมนิเวศป่าให้เป็นมรดกไทยได้โดยคนไทย โดยไม่ต้องรอให้ผู้ใดมาประกาศเป็นมรดกโลกแล้วจัดการไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ มิฉะนั้นป่าจะไร้ซึ่งระบบการคุ้มครองจัดการที่เหมาะสมและโปร่งใส และง่ายต่อการถูกทำลายโดยกระบวนการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และหากป่าถูกทำลาย ใครเป็นผู้ผิด

 

จริงอยู่ที่กฎหมายมีเจตนาที่จะรักษาป่า แต่กฎหมายที่ห้ามหรือตัดความสัมพันธ์ของคนกับป่า ขัดกับความเป็นจริง และหลักวิชาการของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบนิเวศ ซึ่งคนและป่าต้องพึ่งพากัน จึงต้องเน้นให้คนใช้ประโยชน์จากป่าด้วยความเคารพและปกป้องคุ้มครองป่าเท่าเทียมกับชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง คนชนบทลักลอบตัดไม้ขาดโรงเลื่อยและโรงงานแปรรูปได้ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ขายให้กับคนทั่วไป คนที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือสินค้าจากป่าผ่านกระบวนการเช่นนี้ ก็มีส่วนร่วมในการลักตัดไม้จากป่าจึงถือได้ว่าเป็นกรรมหรือการกระทำร่วมกันตั้งแต่คนตัดไม้ แปรรูปจนถึงผู้บริโภค จะสำคัญผิดแยกตัวผู้บริโภคไม้ออกมาจากชาวบ้านผู้ลักตัดไม้หาได้ไม่ เพราะหากไม่มีผู้ซื้อไม้ก็จะไม่มีผู้ตัดไม้ขาย ไม่มีคนซื้อที่ดินก็จะไม่มีคนถางป่าขายที่ดิน เพราะการถางเผาป่าให้โล่งเตียนไม่ใช่งานเบางานสบาย และหากเคราะห์ร้ายก็ต้องถูกจับไปลงโทษ ถ้าเหมาเอาคนอยู่ในเขตป่าเป็นผู้ร้าย เป็นศัตรูกับป่า

 

เมืองไทยก็จะมีคนที่ตกอยู่ในข่ายเป็นอาชญากรเกือบสิบล้านคน หากมีคนเกิดใหม่ในคนกลุ่มนี้ร้อยละสองหรือปีละประมาณสองแสนคน ก็หมายความว่ามีผู้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นปีละสองแสนคน ราชการคงจะต้องจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มาปราบปรามคนเหล่านี้ ซึ่งไม่มีผู้ใดได้ประโยชน์ ประเทศชาติเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากมุมมองหรือแนวทางแก้ปัญหาแบบนี้ การกันเขตที่ดินป่าไม้ที่ไม่ใช่ป่าและชาวบ้านอยู่อาศัยทำกินอยู่แล้วไว้เป็นป่าเศรษฐกิจหรือป่าอนุรักษ์ในความควบคุมดูแลของรัฐ จึงเข้าข่ายเสียน้อยเสียมากเสียง่าย เป็นเหตุให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้ป่าสมบูรณ์ดีกลายเป็นป่าเสื่อมสภาพ ดังที่เห็นกันอยู่มากมายในยุคที่มีการอนุญาตให้เอกชนเช่าป่าเสื่อมโทรมทำธุรกิจ โดยไม่พิจารณาถึงศักยภาพของชุมชน  ในอดีตเพียงเมื่อชาวบ้านหรือผู้นำชุมชนเห็นพ้องต้องกัน ก็เกิดป่าชุมชนได้แล้วภายใต้กฎเกณฑ์กติกาของชุมชน สมาชิกของชุมชนเคารพกฎเกณฑ์ และแบ่งปันกัน ไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องสิทธิของชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดของทางตะวันตก ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย

 

แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการมุ่งใช้มาตรการทางกฎหมายในการกำหนดและควบคุมป่า ข้อตกลงของชาวบ้านหรือชุมชนไม่มีความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองป้องกันภัยจากคนนอกชุมชนหรือคนในเมือง ข้อตกลงของชุมชนกลายเป็นข้อตกลงที่ไม่ถูกกฎหมาย ดังนั้นในสถานการณ์ซึ่งมีการแก่งแย่งแข่งขั้นการใช้ทรัพยากรสูงในปัจจุบันหากสังคมไทยอยากให้ป่าชุมชนเดิมอยู่ได้และเกิดป่าชุมชนขึ้นมาใหม่ ก็จะต้องยอมรับสิทธิชุมชนในการจัดการคุ้มครองดูแลระบบนิเวศป่า และกระตุ้นสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันวางแผนการคุ้มครองจัดการนิเวศป่าให้เหมาะสม เมื่อมีกลไกในการสนับสนุนและควบคุมตรวจสอบที่เหมาะสม การสนับสนุนให้เกิดป่าชุมชนในพื้นที่คุ้มครองดูจะเสริมความมั่นคงได้ดีกว่าการปล่อยให้พื้นที่คุ้มครองตกเป็นภาระของทางราชการ ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรก็ต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจจากส่วนกลาง ไม่ต่างอะไรกับการจัดการป่าในระบบอุตสาหกรรมโดยสัมปทาน เพียงแต่ของที่นำไปขายไม่ใช่ไม้ซุงเหมือนเดิม แต่ขายสิทธิประโยชน์ในการควบคุมจัดการทรัพยากร เช่น การท่องเที่ยว สร้างถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกจูงใจคนไปเที่ยวเพื่อหวังรายได้ โดยไม่คำนึงว่าระบบนิเวศป่าจะสามารถที่จะรองรับได้หรือไม่ ส่วนคนกลุ่มไหนจะได้รับความไว้วางใจให้จัดการ ควรปล่อยให้ชุมชนตกลงกันเองโดยมีกลไกควบคุมตรวจสอบที่เหมาะสม  เจตนารมย์ในการคุ้มครองรักษาระบบนิเวศป่าและกลไกการสนับสนุนและติดตามควบคุมการจัดการระบบนิเวศให้เกิดประโยชน์ยั่งยืนได้มีการนำเสนอไว้แล้วใน

 

พระราชบัญญัติป่าชุมชน ที่นำมาทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบของทางราชการ หากช่วยกันสนับสนุนป่าชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นใหม่ จะช่วยให้ชุมชนเริ่มกระบวนการคุ้มครองระบบนิเวศ และเรียนรู้การจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศได้ ส่วนทิศทางในอนาคตคงต้องอาศัยเวลาและนำประสบการณ์ของทุกฝ่ายมาพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมในทางปฏิบัติต่อไป


Last updated: 2011-11-09 20:11:35


@ ป่าชุมชน : ทางเลือกในการคุ้มระบบนิเวศโดยชุมชน
 


 
     
เธ™เธฒเธกเธœเธนเน‰เธชเนˆเธ‡         [1/14741]...xxx135.232.12 2021-11-17 18:45:41
    เธ‚เน‰เธญเธ„เธงเธฒเธก

เธ™เธฒเธกเธœเธนเน‰เธชเนˆเธ‡         [2/12006]...xxx89.92.97 2021-08-17 11:07:56
    เธ‚เน‰เธญเธ„เธงเธฒเธก

 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,548

Your IP-Address: 13.58.18.135/ Users: 
1,546