"ภัยน้ำ-ดิน คราสิ้นป่า"
ขอร่วมปุจฉา-วิสัชนาในกรณี ..."ภัยน้ำ-ดิน คราสิ้นป่า"... เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาแก้ไขปัญหาการเกิดภาวะน้ำท่วมดินถล่มในภาคเหนือ เช่นเดียวกับกรณีที่เพิ่งประสบในช่วง ก.ย.-ต.ค.2567 ที่ผ่านมา...
ภัยน้ำ-ดิน
คราสิ้นป่า
(ปุจฉา) .ถิ่นภาคเหนือทุกข์เหลือใจเจอภัยอ่วม เกิดน้ำท่วมดินถล่มตรมหลายที่ สูญเสียหนักมากล้นท้นทวี การณ์ครั้งนี้มีพิษไปให้หลากด้าน
.คนบาดเจ็บป่วยตายมีไม่น้อย บ้านเรือนพลอยพังเสียหายให้สงสาร ของกินใช้เสื้อผ้าพาแหลกลาญ บางถิ่นฐานย่อยยับยิ่งในสิ่งรัก
.เหล่าส่ำสัตว์แสนระทมบ้างล้มตาย ภาคเกษตรเจอเหตุร้ายไม้ผลผัก ทั้งรถยนต์ถนนทางพังยิ่งนัก เสียหายหนักธุรกิจติดตามมา
.ไยเหตุการณ์อันโหดร้ายได้กระหน่ำ ถิ่นเหนือช้ำระกำเกินเผชิญหน้า จะป้องกันแก้ไขอย่างไรนา เพื่อเยียวยาพาผู้คนพ้นโพยภัย
(วิสัชนา) .เหตุน้ำท่วมดินถล่มซมเศร้ายิ่ง ค้นความจริงอาเพศเหตุเกิดให้ หลายด้านต้องตรองถ้วนถี่วิเคราะห์ไป หาวิธีที่แก้ไขได้ถูกทาง
.เพียงด้านหนึ่งซึ่งผ่านมาป่าต้นน้ำ ถิ่นเหนือนำเปลี่ยนใช้ในหลายอย่าง ป่าสมบูรณ์ถูกถางก่นจนอับปาง ทำเกษตรเขตก่อสร้างทั้งสัญจร
.เคยปลูกป่าปกคลุมไว้ก็ไร้ผล ถูกผู้คนบุกรุกใช้ไม่เหมือนก่อน ฝนกระหน่ำน้ำชุ่มดินสิ้นอาทร จึงเซาะกร่อนทรุดโทรมถล่มมา
.พื้นที่ดินป่าต้นน้ำจำเป็นนัก ใช้ตามหลักวิชาการกันเถิดหนา ทำการณ์ใดได้พิเคราะห์เหมาะคุณค่า รักษาป่าปลูกเสริมไว้ให้เร่งทำ
.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น) www.lookforest.com 27 ต.ค.2567 หมายเหตุ:ขอบพระคุณเจ้าของภาพประกอบ
แรงดลใจ:
ช่วงวันที่ 12-15 สิงหาคม 2567 ร่วมกับคณาจารย์สาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มสธ.
ทำการลงพื้นที่ในท้องที่อำเภอบ่อเกลือและเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการสร้างป่าสร้างรายได้
อันเป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่กรมป่าไม้และกรมส่งเสริมการเรียนรู้(กศน.เดิม)
รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่หลายแห่งเป็นภูเขาสูงชัน
ต้องยอมรับว่าประสบปัญหาและอุปสรรคในการทำงานเป็นอย่างมาก
เนื่องจากเป็นช่วงแรกของปีนี้ที่มีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นอย่างมาก
ต้องปรับเปลี่ยนรถยนต์ พื้นที่เป้าหมาย เส้นทางการเดินทาง
และกระบวนการทำงานในหลายด้าน ด้วยมีเหตุการณ์ดินถล่มปิดถนนหลายแห่ง
แต่สุดท้ายก็สามารถแก้ไขปัญหาไปได้ ด้วยความอนุเคราะห์จากหลายหน่วยงาน
จนทำให้งานลุล่วงด้วยดี
หลังจากกลับมาถึงกรุงเทพฯ
ได้พยายามติดตามสถานการณ์ฝนฟ้าอากาศโดยตลอด
ได้ทราบว่าเกิดพายุฝนถล่มทางภาคเหนือเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนตุลาคม 2567
ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มในหลายจังหวัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ที่สร้างความเสียหายในหลายๆด้าน
ทั้งในชุมชนสองข้างลำน้ำและชุมชนในชนบทที่อยู่ใกล้เคียงกับภูเขาสูงชัน
รวมทั้งชุมชนในเมืองบางแห่ง คิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาท
กับทั้งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหลายราย
สำหรับในจังหวัดน่านก็เผชิญภาวะคับขันในหลายพื้นที่
นับว่ายังโชคดีที่ได้เดินทางไปทำงานก่อน
เพราะทราบในภายหลังว่าในพื้นที่หลายอำเภอแม้แต่ในบริเวณตัวเมืองน่านก็ประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายเส้นทาง
ภาวะวิกฤตจากน้ำท่วมและดินถล่มในภาคเหนือครั้งนี้
นับว่ามีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าที่เคยประสบมาในอดีต
และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการป้องกันหรือแก้ไขอาจต้องเผชิญกันอีกในอนาคต
จึงได้มีการวิพากษ์กันอย่างมากมายเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดมหันตภัยนี้
ซึ่งก็มีหลายความเห็นที่ควรพิจารณา เช่น
การเกิดภาวะฝนที่ตกหนักกว่าปกติมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน
มวลอากาศเย็นที่เคลื่อนมาจากประเทศจีน
อัตราการไหลของแม่น้ำลำธารค่อนข้างช้าเพราะมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ
พื้นที่ทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆมีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดฝนตกสะสมฯลฯ
ซึ่งจำเป็นต้องสรุปให้ชัดเจนเพื่อแก้ไขกันโดยด่วน
แต่สำหรับความเห็นของตัวเองที่สอดคล้องกับอีกหลายท่าน ก็คือ
พื้นที่ต้นน้ำหลายแห่งขาดป่าไม้ปกคลุมอย่างเพียงพอ
ทำให้ดินที่ชุ่มน้ำอย่างมากเกิดการพังทลายลงมา ดังนั้นจึงต้องเน้นการป้องกันรักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร
ให้มีความสมบูรณ์ในพื้นที่ที่จำเป็นและเหมาะสมอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องตลอดไป
Last updated: 2024-11-11 01:30:19
|
@ "ภัยน้ำ-ดิน คราสิ้นป่า" |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ "ภัยน้ำ-ดิน คราสิ้นป่า"
|