Untitled Document
     
 
ไม้ยางพารา (Hevea Brasiliensis)
Untitled Document ยางพารา
(Hevea brasiliensis)
EUPHORBIACEAE
ยางพารา,ยาง(ภาคกลาง),กะเต๊าะ(มลายู ภาคใต้)
 

ไม้ยางพารา (Hevea brasiliensis)

http://www2.oie.go.th
    อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลัก โดยพื้นที่ปลูกยางพาราของไทยในปัจจุบันมีประมาณ 16.9 ล้านไร่ ซึ่งมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากอินโดนีเซีย (21.47 ล้านไร่)[1] จากข้อมูลของสถาบันวิจัยยาง[2] พบว่า ในปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 16,889,686 ไร่ โดยพื้นที่ภาคใต้มีการปลูกยางพารามากที่สุด เท่ากับ 11,339,658 ไร่  รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,845,542 ไร่ ภาคตะวันออกรวมภาคกลาง 2,103,908 ไร่ และภาคเหนือ 600,578 ไร่ ตามลำดับ (ดูรายละเอียดในตารางที่ 1) สำหรับจังหวัดที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดในประเทศคือ สุราษฎร์ธานี โดยมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 1,871,907 ไร่ รองลงมา ได้แก่ นครศรีธรรมราช 1,447,643 ไร่ และสงขลา 1,444,302 ไร่ ตามลำดับ และเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 พ.ศ.  2554-2556 รวม 800,000 ไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่[3] ซึ่งจะทำให้ไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราเป็น 17,789,686 ไร่ (หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ)

ยางพาราที่มีอายุมาก (20-25 ปี) ที่ให้ผลผลิตน้ำยางลดลงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จะถูกตัดโค่นเพื่อปลูกต้นใหม่ทดแทน ซึ่งโดยปกติจะมีบริษัทผู้ค้าไม้ยางพาราท่อนเข้าไปประมูลซื้อไม้ยางพาราจากเกษตรกรเจ้าของสวนยาง จากนั้นจึงเข้าตัดต้นยางเพื่อนำออกจำหน่าย โดยส่วนของลำต้นขนาดใหญ่จะจำหน่ายให้กับผู้ผลิตไม้แปรรูปและผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ส่วนของลำต้นขนาดเล็กและกิ่งไม้ซึ่งมีราคาถูกกว่าจะจำหน่ายให้กับผู้ผลิตแผ่นใยไม้อัดและแผ่นชิ้นไม้อัด



[1] พื้นที่ปลูกยางทั้งหมดของโลกมีประมาณ 69.91 ล้านไร่ โดยอินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุด เท่ากับ 21.47 ล้านไร่ รองลงมา ได้แก่ ไทย 16.69 ล้านไร่ และมาเลเซีย 7.73 ล้านไร่ ตามลำดับ และคาดว่าจะมีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในแถบอาเซียนมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

[2] สถาบันวิจัยยาง (2553) “ข้อมูลวิชาการยางพารา” สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

[3] “รมช. ศุภชัย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 มอบ สกย. เตรียมความพร้อมทุกด้านรองรับการเปิดรับสมัครจริง ก.พ.’54” ข่าว สกย. ข่าวที่ 2/2554 (14 มกราคม 2554)


จังหวัด

พื้นที่ปลูกยาง (ไร่)

พื้นที่ปลูก

พื้นที่ยางอายุมากกว่า 6 ปี

สัดส่วน (ร้อยละ)

ภาคใต้

11,339,658

9,514,176

83.9%

ภาคตะวันออกและภาคกลาง

2,103,908

1,455,016

69.2%

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2,845,542

789,031

27.7%

ภาคเหนือ

600,578

14,841

2.5%

รวมทั้งประเทศ

16,889,686

11,773,064

69.7%

ที่มา : ประยุกต์จาก [สถาบันวิจัยยาง 2553]



ปริมาณไม้ท่อนที่สามารถนำเข้าโรงเลื่อย (ตัน/ไร่)

ปริมาณปลายไม้ (ตัน/ไร่)

กรมป่าไม้

21.67

-

ผู้ประกอบการ

 

 

ภาคตะวันออก สวนขนาดใหญ่

35

13

ภาคตะวันออก สวนขนาดเล็ก

17

13

ภาคใต้ สวนขนาดใหญ่

35

10

ภาคใต้ สวนขนาดเล็ก

20

5

เฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก

29.95

10.87

ที่มา : [ปรียานุชและดุษณี 2551]


ปริมาณผลผลิตไม้ยางพาราที่ได้จากต้นยางที่ถูกตัดโค่น แปรผันตามปัจจัยต่างๆ ได้แก่ พันธุ์ยาง อายุ ขนาดลำต้น จำนวนต้นที่เหลือต่อไร่ พื้นที่เพาะปลูก (ปริมาณน้ำฝน และคุณภาพดิน) รวมถึงตาและร่องรอยตำหนิบนต้นยาง จากผลการศึกษาของกฤษดา (2552)[1] ที่ประเมินน้ำหนักสดของไม้ยางพารา 4 พันธุ์ ขณะอายุ 18 ปีจากศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ พบว่ายางพาราแต่ละพันธุ์ให้ผลผลิตไม้แตกต่างกัน พันธุ์ที่ให้น้ำหนักไม้ทั้งต้นมากที่สุด คือ ไม้ยางพาราพันธุ์ PB 235 รองลงมา คือ ไม้ยางพาราพันธุ์ PRIM 600 สำหรับปริมาตรไม้ท่อนก่อนแปรรูปและผลผลิตไม้แปรรูป พบว่า พันธุ์ PB 235 ให้ปริมาตรและผลผลิตไม้สูงกว่าอีก 3 พันธุ์ประมาณ 2 เท่า เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีลำต้นเดี่ยวสูงตรง มีกิ่งน้อย จากผลการศึกษาของปรียานุชและดุษณี (2551)[2] เกี่ยวกับผลผลิตไม้ท่อนที่ได้จากการตัดโค่นในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก พบว่า ปริมาตรไม้ท่อนที่สามารถเข้าโรงเลื่อยได้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 29.95 ตัน/ไร่ และปริมาณปลายไม้ เท่ากับ 10.87 ตัน/ไร่ (ดูตารางที่ 2)

ด้านปริมาณไม้ยางพาราในประเทศที่จะสามารถเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมไม้ยางพารา กลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางพารา สภาอุตสาหกรรมได้ทำการประเมินปริมาณผลผลิตไม้ยางพาราในประเทศ พบว่าพื้นที่ยางพารา[3] ซึ่งมีอายุประมาณ 25-30 ปี และสามารถตัดโค่นได้ในปี พ.ศ. 2551 มีประมาณ 4 แสนไร่ ซึ่งจะมีไม้ท่อนป้อนอุตสาหกรรมประมาณ 12.2 ล้านตัน เมื่อนำไปแปรรูป จะได้ไม้ยางพาราแปรรูปประมาณ 170.4 ล้านลูกบาศก์ฟุต (4.8 ล้านลูกบาศก์เมตร) ปีกไม้ 4.9 ล้านตัน และขี้เลื่อย 0.97 ล้านตัน ในขณะที่ FAO[4] ได้ประมาณการปริมาณไม้ยางพาราของไทย (potential rubberwoood supply) ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง 2553 จากภาพถ่ายทางอากาศของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรไว้ที่ปีละประมาณ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร (คิดจาก 250 ลูกบาศก์เมตร/เฮกเตอร์หรือประมาณ 40 ลูกบาศก์เมตร/ไร่) แบ่งเป็นไม้ท่อนประมาณ 7.9 ล้านลูกบาศก์เมตร เศษไม้ ปลายไม้ และไม้ขนาดเล็กประมาณ 13.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร[5]ทำการศึกษาปริมาณไม้เฉลี่ยของแต่ละภาคเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการคำนวณปริมาณไม้ยางพารา พบว่ายางพาราในพื้นที่ภาคใต้ให้ปริมาณไม้สูงสุด รองลงมาได้แก่ไม้ที่ปลูกในภาคตะวันออก ส่วนพื้นที่ภาคใต้ตอนบนให้ปริมาณไม้ต่ำที่สุด โดยปริมาณไม้ที่ได้มีค่าเฉลี่ยประมาณ 44, 43 และ 33 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับตัวเลขการประมาณการของ FAO และค่าเฉลี่ยไม้ท่อนที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโตกว่า 8 นิ้วประมาณ 24.5, 23.7 และ 17.8 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ตามลำดับ ซึ่งหากคำนวณตามพื้นที่แล้วจะได้ตัวเลขปริมาณไม้ใกล้เคียงกับการประมาณการของ FAO เช่นกัน




Last updated: 2012-08-09 08:12:52
 
     
     
   
     
Untitled Document