ลักษณะไม้หอม
Untitled Document
ไม้หอม (Aquilaria malaccensis) THYMELAEACEAE ไม้หอม(ตะวันออก, ใต้); กายูการู, กายูกาฮู(มลายู-ใต้) English: Aloe-Wood, Calambac
ไม้หอม
ชื่อพื้นเมือง : ไม้หอม (ภาคตะวันออก, ภาคใต้), กายูการู กายูกาฮู (มลายู-ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aquilaria malaccensis Lamk.
ชื่อวงศ์ : THYMELAEACEAE
ชื่อสามัญ : Agar Wood, Aloe Wood, Eagle Wood, Calambac, Lignum Aloes
ลักษณะ : ไม้ต้นขนาดใหญ่ ลำต้นเปลา เปลือกเรียบสีเทาหรือขาว ใบเดี่ยวรูปรีหรือรูปไข่กลับ ปลายเรียวแหลม โคนมน ขอบเป็นคลื่นม้วนลงเล็กน้อย ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มออกที่ด้านข้างของกิ่งที่ยังอ่อน ดอกเล็กสีเขียวอมเหลือง กลีบรวมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ผลรูปไข่ปลายมน ผิวมีขนสั้นประปรายหรือเกลี้ยง ฐานผลติดอยู่บนกลีบรวม แฉกของกลีบรวมบานตลบล่าง ไม่หุ้มแนบผล
ประโยชน์ : ชาวอาหรับและชาวปาร์ซี (Parsee) นิยมนำไม้หอมมาเผาไฟเพื่ออบห้องให้มีกลิ่นหอม ในยุโรปนิยมนำมาปรุงเป็นน้ำหอมชนิดคุณภาพดี ผงไม้หอมใช้โรยบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายเพื่อฆ่าหมัดและเหา ยาพื้นบ้านของอินเดียและอีกหลายประเทศในทวีปเอเชียใช้เป็นส่วนผสมในยาหอม ยาบำรุง ยากระตุ้นหัวใจ และยาขับลม ในแหลมมลายูใช้ไม้หอมเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและใช้บำบัดโรคผิวหนังหลายชนิด สิ่งสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของเปลือกต้นจากประเทศไทยมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง เปลือกต้นให้เส้นใยใช้ทำเชือก ถุง ย่าม และกระดาษ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 18-30 ม. ลำต้นเปลา เปลือกเรียบสีเทาหรือขาว ใบเดี่ยวรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 5-9 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน ขอบเป็นคลื่นม้วนลงเล็กน้อย แผ่นใบบางและเรียบ ด้านบนเป็นมัน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มออกที่ด้านข้างของกิ่งที่ยังอ่อน ดอกเล็กสีเขียวอมเหลือง กลีบรวมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในมีขนหนาแน่น ผลรูปไข่ปลายมน ผิวมีขนสั้นประปรายหรือเกลี้ยง ฐานผลติดอยู่บนกลีบรวมซึ่งแฉกของกลีบส่วนบนยาวไล่เลี่ยกับกลีบรูประฆังส่วนล่าง และแฉกของกลีบรวมบานตลบลงล่าง ไม่หุ้มแนบผล
ถิ่นกำเนิด : -
การกระจายพันธุ์ : ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย พม่า ภูมิภาคมาเลเซีย สุมาตรา เกาะบอร์เนียวตอนเหนือและตะวันออก ฟิลิปปินส์
การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้
สภาพนิเวศน์ : ขึ้นกระจายอยู่ในป่าดิบ
เวลาออกดอก : -
เวลาออกผล : -
การขยายพันธุ์ : -
ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -
อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์. 2) Santisuk, T. and Larsen, K., eds. 1997. Flora of Thailand (Vol.6: 3). Bangkok. Diamond Printing.
Last updated: 2012-08-13 15:44:40
|