น้ำมันกฤษณา (Agar-oil)
"ของเหลว" ที่สกัดได้จากเนื้อไม้กฤษณา หรือเป็นที่รู้จักและนิยมเรียกกันว่า น้ำมันกฤษณา นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและมีราคาที่ค่อนข้างสูง ราคาขายกันในท้องตลาดจะอยู่ประมาณ 2,400 4,800 บาทต่อโตร่า (Tora) (Barden et al., 2000) โดยมีหน่วยตวงวัดที่ใช้เฉพาะกับน้ำมันกฤษณา คือ โตร่า (Tora) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 12 12.5 กรัม
แหล่งที่มาของชิ้นไม้กฤษณาเพื่อนำมากลั่นน้ำมันกฤษณา
ชิ้นไม้กฤษณาที่มีสารกฤษณาสะสมอยู่ในปริมาณน้อย หรือเนื้อไม้กฤษณาที่มีน้ำมันสะสมเกรดต่ำ จะใช้เป็นวัตถุดิบในการนำมากลั่นน้ำมัน ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อไม้ที่เกิดสารกฤษณาเกรด 3 หรือ เกรด 4 ซึ่งจะมีราคาขายกันตามท้องตลาดประมาณกิโลกรัมละ 80-400 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณการสะสมของสารกฤษณาในเนื้อไม้และการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย จากการศึกษาของเสรี (2546) โดยทำการสำรวจจากผู้ประกอบการกลั่นน้ำมันกฤษณาในจังหวัดตราดจำนวนทั้งสิ้น 18 โรงงาน ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบชิ้นไม้กฤษณาที่นำเข้ามาสกัดเป็นน้ำมันกฤษณาในโรงงาน จำแนกได้มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1) ชาวบ้าน 2) ผู้นำเข้า และ 3) ผู้ประกอบการนำเข้ามาเอง ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาในโรงงาน คือ ผู้ประกอบการเป็นผู้นำเข้ามาเอง คิดเป็นร้อยละ 57 ของปริมาณวัตถุดิบทั้งหมด โดยนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม และพม่า เป็นต้น
ชิ้นไม้กฤษณาที่เกิดสารกฤษณา ชิ้นไม้สับที่เกิดสารกฤษณาเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการกลั่นต่อไป
กระบวนการสกัดน้ำมันกฤษณา
การสกัดน้ำมันกฤษณาจะใช้วิธีการเหมือนกับน้ำมันหอมระเหยโดยทั่วไป ได้แก่ การต้มกลั่นแบบใช้น้ำ (water distillation) แต่น้ำมันกฤษณาจัดเป็นสารจำพวกเรซิน (resin) ที่สร้างขึ้นในเนื้อไม้กฤษณา ซึ่งจะมีลักษณะข้นเหนียว การสกัดที่กระทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ให้ผลผลิตน้ำมันที่มีปริมาณค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการกลั่นน้ำมันหอมระเหยโดยทั่วไป จากกรณีศึกษาการสกัดน้ำมันกฤษณาของบริษัทหนึ่งโดยอิสระ (2545) พบว่า กระบวนการกลั่นน้ำมันกฤษณาโดยวิธีการต้มกลั่นนั้นมีประสิทธิภาพของกระบวนการกลั่นต่ำมาก คิดเป็นค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.124 ซึ่งทั้งนี้การคำนวณหาประสิทธิภาพดังกล่าว เป็นค่าอัตราส่วนร้อยละของปริมาณน้ำมันกฤษณาที่กลั่นออกมาได้ต่อปริมาณน้ำหนักวัตถุดิบที่ใส่เข้าไปในตอนแรก
กระบวนการสกัดน้ำมันกฤษณา
สำหรับเทคโนโลยีกระบวนการกลั่นน้ำมันกฤษณาโดยวิธีการต้มกลั่นด้วยน้ำในปัจจุบัน มีขั้นตอนที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป สามารถสรุปได้ดังนี้
1. การสับแยกชิ้นไม้กฤษณาที่เกิดสารกฤษณา
การรับซื้อไม้กฤษณาที่เกิดสารกฤษณาสะสมอยู่ในเนื้อไม้ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สามารถจะนำมากลั่นให้น้ำมันกฤษณาได้นั้น ผู้รับซื้ออาจจะซื้อมาเป็นท่อนไม้ แล้วนำมาสับคัดแยกเฉพาะส่วนที่เกิดสารกฤษณาเอง หรืออาจจะรับซื้อชิ้นไม้สับ ที่ได้ทำการคัดแยกเนื้อไม้สีขาวที่ไม่เกิดสารกฤษณาออกไปแล้วโดยผู้ขาย ซึ่งราคาชิ้นไม้กฤษณาดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับปริมาณการสะสมสารกฤษณาในเนื้อไม้ว่ามีมากน้อยเพียงไร และคุณภาพของเนื้อไม้ที่เกิดสารกฤษณาดังกล่าว ชิ้นไม้กฤษณาหลังจากสับคัดแยกส่วนที่ไม่เกิดสารกฤษณาแล้ว จะมีลักษณะเป็นชิ้นเล็ก ๆ บาง ๆ ขนาดกว้างประมาณ 2- 3 ซม. และยาว ประมาณ 4-5 ซม. เพื่อง่ายต่อการทำให้แห้ง และนำไปเข้าเครื่องบดต่อไป
2. การตากแดด
นำชิ้นไม้กฤษณาที่สับได้ มาผึ่ง หรือตากแดดประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ความชื้นในเนื้อไม้ลดลง และง่ายต่อการบดโดยใช้เครื่องจักรบด
การแยกเอาเนื้อไม้เฉพาะส่วนที่เกิดสารกฤษณา การผึ่งชิ้นไม้สับที่เกิดสารกฤษณาเพื่อลดความชื้นก่อนนำไปบด
3. การบด
นำชิ้นไม้ที่ตากแดดจนได้ความชื้นภายในเนื้อไม้ที่ต้องการแล้ว มาบดโดยใช้เครื่องบดย่อยไม้ให้ได้ผงไม้ขนาดเล็กเพิ่มผิวสัมผัสของกับเนื้อไม้ให้มากที่สุด
เครื่องบดเนื้อไม้กฤษณาขนาดเล็ก ขนาดของผงไม้กฤษณาหลังจากนำไปบด
4. การหมัก
ผงไม้กฤษณาที่บดแล้วจะนำมาแช่น้ำเปล่าให้ท่วม ทิ้งไว้ประมาณ 2-10 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมวิธีของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยผู้ประกอบการบางรายเชื่อว่า การหมักผงไม้กฤษณาก่อนการกลั่นจะทำให้กลิ่นของน้ำมันที่สกัดได้แตกต่างกันตามเวลาที่ใช้ในการหมัก
ที่มา : Osoguchi (2002)
ขั้นตอนการหมักผงไม้กฤษณาที่บดแล้วในน้ำเปล่าทิ้งไว้ 2-10 วัน
5. การต้มกลั่น
หลังจากหมักผงไม้จนได้ตามเวลาที่ต้องการแล้ว จะนำมาต้มในหม้อต้มตามขนาดและปริมาณที่ต้องการ โดยทั่วไปจะใช้เนื้อไม้แห้งประมาณ 15-20 กิโลกรัมต่อ 1 หม้อต้มกลั่น สำหรับชุดต้มกลั่นน้ำมันกฤษณาจะมีความหลากหลายกันไป แต่หลักการทั่วไปคือเมื่อต้มเนื้อไม้กับน้ำเปล่าจนหม้อต้มได้รับความร้อนจนถึงจุดเดือดของน้ำและน้ำมันกฤษณาแล้ว น้ำและน้ำมันก็จะเปลี่ยนสถานะกลายเป็นไอ เมื่อไอของน้ำและน้ำมันผ่านมาทางท่อเย็น ไอน้ำก็จะเกิดการควบแน่นกลายเป็นของเหลวแยกชั้นระหว่าง น้ำกับน้ำมันกฤษณา โดยน้ำมันจะลอยตัวอยู่เหนือน้ำ
หม้อทองเหลือง และหม้อสแตนเลสที่นิยมนำมาต้มกลั่นน้ำมันกฤษณา การต้มกลั่นน้ำมันกฤษณา
6. การแยกน้ำมันกับน้ำ
หลังจากทำการกลั่นเป็นระยะเวลาประมาณ 2-10 วัน (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการกลั่นของแต่ละโรงงาน) ซึ่งส่วนใหญ่จะดูจากไม่มีน้ำมันแยกออกมาระหว่างทำการกลั่นอีกแล้ว ก็จะหยุดกลั่น และทำการแยกน้ำมันออกจากน้ำ
น้ำมันกฤษณาที่สกัดได้จะลอยแยกชั้นอยู่เหนือน้ำ คุณภาพของน้ำมันกฤษณาเรียงลำดับจากสูงไปหาต่ำ (ซ้ายไปขวา)
โรงงานประกอบการสกัดน้ำมันกฤษณา
จากรายงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี พ.ศ. 2549 พบว่า มีโรงงานที่ขอจัดตั้งเพื่อสกัดน้ำมันจากไม้กฤษณาทั้งสิ้น 49 โรงงาน (ตารางที่ 1) กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ได้แก่ ตราด นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และ ฉะเชิงเทรา ซึ่งจังหวัดตราดมีโรงงานประกอบการกลั่นน้ำมันกฤษณามากที่สุด เท่ากับ 24 โรงงาน (คิดเป็นเกือบร้อยละ 50 ของโรงงานประกอบการทั่วประเทศ) แต่โรงงานส่วนใหญ่มีขนาดเล็กใช้กำลังเครื่องจักรอยู่ระหว่าง 10-30 แรงม้าจำนวนถึง 14 โรงงาน รองลงมา ได้แก่ จังหวัดนครนายก มีโรงงานทั้งสิ้น 9 โรงงาน และจังหวัดปราจีนบุรี มีโรงงานทั้งหมด 8 โรงงาน และยังมีกระจายของโรงงานกลั่นน้ำมันกฤษณาอยู่ในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 2 โรงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 โรงงาน ได้แก่ จังหวัดหนองคาย และภาคใต้ 1 โรงงาน ได้แก่ จังหวัดกระบี่
โรงงานกลั่นน้ำมันจากไม้กฤษณาโรงงานหนึ่ง ในจังหวัดตราด
ตารางที่ 1 การกระจายของจำนวนโรงงานกลั่นน้ำมันจากชิ้นไม้กฤษณาทั่วประเทศไทย
จังหวัด
|
กำลังเครื่องจักรของโรงงาน (แรงม้า)
|
รวม (โรงงาน)
|
ร้อยละ
|
10 - 30
|
31 - 60
|
61-90
|
> 90
|
ตราด
นครนายก
ปราจีนบุรี
เชียงใหม่
จันทบุรี
หนองคาย
ฉะเชิงเทรา
เพชรบูรณ์
ลำปาง
กระบี่ 14
|
14
4
-
1
1
-
-
-
-
1
|
6
4
1
-
-
-
-
-
-
-
|
3
1
-
-
-
-
1
-
-
-
|
1
-
7
1
-
1
-
1
1
-
|
24
9
8
2
1
1
1
1
1
1
|
48.98
18.37
16.33
4.08
2.04
2.04
2.04
2.04
2.04
2.04
|
รวม
|
21
|
11
|
5
|
12
|
49
|
100.00
|
หมายเหตุ : - หมายถึง ไม่มีโรงงานประกอบการ
ที่มา : กรมโรงงานอุตสาหกรรม (2549)
เอกสารอ้างอิง
กรมโรงงานอุตสาหกรรม. 2549. ข้อมูลโรงงาน. แหล่งที่มา: http://www.sql.diw.go.th/results1.asp, 30 มกราคม 2549.
เสรี นันตา. 2546. การตลาดของน้ำมันหอมสกัดจากไม้กฤษณาในจังหวัดตราด, น. 8-1 8-25. ใน เรื่องทั่วไปด้านการจัดการป่าไม้. ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์, กรุงเทพฯ.
อิสระ สถาพร. 2545. ประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของการกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากไม้หอมกฤษณา กรณีศึกษา บริษัทอะกราไทย จำกัด. การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
Barden, A., N.A. Anak, T. Mulliken and M. Song. 2000. Heart of the Matter: Agarwood Use and Trade and CITES Implementation for Aquilaria malaccensis. Available Source: http://www. traffic.org/news/agarwood.pdf, Aug 20, 2004.
Osoguchi, T. 2002. Domestication of Aquilaria crassna Tree in Hevea brasiliensisPlantation, Huai Raeng-Klong Peed Watershed, Trat Province, Eastern Thailand. M.S.Thesis, Kasetsart University.
Last updated: 2012-09-24 23:10:40