เครื่องยา กฤษณา
Untitled Document
กฤษณา (Aquilaria crassna) THYMELAEACEAE กฤษณา(ตะวันออก)
ชื่อเครื่องยา |
กฤษณา |
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา |
|
ได้จาก |
เนื้อไม้กฤษณาที่มีราลง |
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา |
กฤษณา |
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา) |
ไม้หอม พวมพร้าว จะแน กายูกาฮู กายูการู |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte. |
ชื่อพ้อง |
Aquilaria malaccensis Lamk. มีชื่อพ้องว่า Aquilaria agallocha Roxb. Aquilaria subintegra Hou. Aquilaria hirta hirta Ridl. |
ชื่อวงศ์ |
Thymelaeaceae |
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา: เนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวล เสี้ยนตรง เนื้อหยาบปานกลาง หากมีน้ำมันสะสมอยู่บ้างเนื้อไม้จะเปลี่ยนสีจากเดิม เป็นสีเหลืองอ่อนๆ และจะมีสีเข้มมากขึ้นตามปริมาณน้ำมันที่สะสมอยู่ในเนื้อไม้ หรือบางครั้งอาจเห็นเป็นจุดเข้มๆ กระจายเป็นแผ่นบางๆ บริเวณผิวไม้ แต่ยังไม่แทรกลึกเข้าไปในเนื้อไม้ หากมีน้ำมันสะสม จะมีกลิ่นหอมซึ่งเกิดจากการที่มีเชื้อราบางชนิดเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้สร้างชันน้ำมัน (oleoresin) เนื้อไม้จึงมีสีเข้มขึ้น เมื่อหักกิ่งจะมีชันน้ำมันไหลเยิ้มออกมา มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดร้อน และขม
เครื่องยา กฤษณา
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี: ไม้กฤษณาที่มีคุณภาพดี เนื้อไม้จะเป็นสีดำ มีกลิ่นหอม และท่อนไม้จะจมได้ในน้ำ กฤษณาที่มีคุณภาพดีในต่างประเทศเรียกรวมๆกันว่า true agaru มีรสขมเล็กน้อย กลิ่นหอมชวนดมคล้ายกลิ่นจันทน์หิมาลัย (Sandal wood) หรืออำพันขี้ปลา (Ambergris) เมื่อเผาไฟจะให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม ชาวอาหรับนิยมเอามาเผาไฟเพื่ออบห้องให้มีกลิ่นหอม และนิยมจำหน่ายเป็นชิ้นไม้ หากมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำเงิน ลอยปริ่มน้ำ เป็นคุณภาพขนาดกลาง ส่วนชนิดที่มีคุณภาพรองลงมา เรียกกันว่า dhum ซึ่งเมื่อนำมากลั่นจะให้น้ำมันระเหยง่ายที่เรียกว่า agar attar มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันดอกยี่สุ่น (rose oil) ในยุโรปเอามาใช้ทำน้ำหอมชนิดคุณภาพดี สำหรับท่อนที่ลอยน้ำ มักจะไม่มีกลิ่นหอม หรือไม่มีสารหอมสะสม เป็นเนื้อไม้ที่คุณภาพต่ำ
โบราณแบ่งชั้นคุณภาพของกฤษณาโดยใช้สีและน้ำหนักเป็นเกณฑ์ แบ่งเป็น
1) เนื้อไม้ (หรือไม้หอม) ชนิดนี้มีคุณภาพดีที่สุด มีสีดำเข้มตลอดกันหมด แข็งมาก และหนักมาก หนักกว่าน้ำ และมีชันอยู่ในปริมาณสูง ชนิดนี้มีหลักฐานบันทึกว่าไทยเราเคยส่งไปเป็นบรรณาการในประเทศอังกฤษ มักไม่นำไปกลั่นน้ำมัน แต่จะจำหน่ายเป็นชิ้นไม้ ใช้ในพิธีกรรม และประโยชน์ด้านอื่นๆ
2) กฤษณา เป็นชนิดที่มีคุณภาพรองลงมา มีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ แข็ง และหนักกว่าน้ำ ชนิดนี้โบราณมักใช้ทำยา
3) ลูกผุด เป็นชนิดที่มีคุณภาพด้อยกว่า เนื้อไม้สีอ่อนกว่า มีสีน้ำตาลเข้มหรือดำเฉพาะที่ หรือเป็นจุดๆ ชนิดนี้จะเบากว่าน้ำ ใช้นำมากลั่นเอาน้ำมัน สรรพคุณ: เนื้อไม้ซึ่งเป็นสีดำ และมีกลิ่นหอม รสขม ตามตำรายาไทย: ใช้ คุมธาตุ บำรุงโลหิตและหัวใจ ทำให้หัวใจชุ่มชื่น ใช้ผสมยาหอม แก้ลมวิงเวียนศีรษะ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงตับและปอดให้ปกติ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้อาเจียน ท้องร่วง แก้ไข้ต่างๆ บำบัดโรคปวดบวมตามข้อ ต้มดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ โดยนำมาผสมกับยาหอมกิน หรือนำมาต้มน้ำดื่ม กรณีกระหายน้ำมาก ในตำราพระโอสถพระนารายณ์: มีการนำแก่นไม้กฤษณาไปใช้หลายตำรับ โดยเป็นตัวยาผสมกับสมนุไพรชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดในตำรับเพื่อรักษาอาการของโรคต่างๆ เช่น ตำรับยาขี้ผึ้งบี้พระเส้น หรือยาถูนวดเส้น ตำรับยาน้ำมันมหาวิศครรภราชไตล ทำให้โลหิตไหลเวียนดี และเป็นยาคลายเส้น ตำรับยาทรงทาพระนลาฎ ใช้ทาหน้าผากแก้เลือดกำเดาที่ทำให้ปวดศีรษะ ยามโหสถธิจันทน์ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน และยังปรากฏเป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมเทพจิตร ซึ่งมีสมุนไพรชนิดอื่นๆร่วมอยู่ด้วยในตำรับ ตามบัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาของไทย ในแหลมมลายู: ใช้กฤษณาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและใช้บำบัดโรคผิวหนังหลายชนิด ผงกฤษณาใช้โรยบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายเพื่อฆ่าหมัดและเหา ในประเทศมาเลเซีย: นำเอากฤษณาผสมกับน้ำมันมะพร้าว นำมาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย หรือบรรเทาอาการของโรครูมาติซัม ยาพื้นบ้านของอินเดียและหลายประเทศในเอเชีย: ใช้กฤษณาเป็นส่วนผสมในยาหอม ยาบำรุง ยากระตุ้นหัวใจ และ ยาขับลม นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อัมพาตและเป็นตัวยา รักษาโรคมาลาเรีย ชาวอาหรับ: ใช้ผงไม้กฤษณาโรยเสื้อผ้า ผิวหนัง ป้องกันตัวเรือด ตัวไร และมีความเชื่อว่าน้ำมันหอมระเหยของกฤษณาเป็นยากระตุ้นทางเพศ ชาวฮินดูนิยม: นำมาใช้จุดไฟ ให้มีกลิ่นหอมในโบสถ์ ประเทศจีน: ใช้แก้ปวดหน้าอก แก้อาเจียน แก้ไอ แก้หอบหืด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา: ไม่มีข้อมูล
องค์ประกอบทางเคมี: น้ำมันหอมระเหย : พบประมาณ 0.8% สารหลักคือ agoraspirol 16% กลุ่มสารอื่นๆคือ abietane ester , sesquiterpenes , sesquiterpene dehydrofukinone , isobaimuxinol สารกลุ่ม resins : ประกอบด้วย benzylacetone , ?-methoxybenzylacetone , hydrocinnamic acid , ?-methoxyhydrocinnamic acid สารกลุ่มอื่นๆ : benzylacetone , ?-methoxy-benzylacetone , anisic acid , ?-agarofuran เนื้อไม้ที่เป็นแผล : ประกอบด้วย สารกลุ่ม chromones
การศึกษาทางเภสัชวิทยา: ฤทธิ์ยับยั้งอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน : สารสกัดน้ำจากแก่นกฤษณา สามารถยับยั้งอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน ที่แสดงออกทางผิวหนังในหนู โดยยับยั้งการหลั่ง histamine จาก mast cell ฤทธิ์ลดความดันโลหิต : สารสกัดจากแก่นกฤษณามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในแมวที่สลบ ซึ่งความดันโลหิตจะลดลงทันทีเมื่อให้สารสกัดทางหลอดเลือดดำ แต่ผลลดความดันโลหิตจะไม่เกิน 40-80 นาที
การศึกษาทางคลินิก: ไม่มีข้อมูล
การศึกษาทางพิษวิทยา: กฤษณาสายพันธุ์ Aquilaria agallocha Roxb. เมื่อนำสารสกัดแก่นด้วย อัลกอฮอล์:น้ำ (1:1) ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือกรอกให้หนูถีบจักร ในขนาด 10 ก./ก.ก. ไม่พบพิษ
Last updated: 2012-08-22 07:24:20
|