Untitled Document
     
 
ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเกิดสารกฤษณา
Untitled Document กฤษณา
(Aquilaria crassna)
THYMELAEACEAE
กฤษณา(ตะวันออก)
 

ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเกิดสารกฤษณา 

          นอกจากสาเหตุหลัก ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสารกฤษณาดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีการศึกษาถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อการสร้างสารกฤษณาขึ้นในต้นกฤษณา ซึ่งที่มีรายงานไว้ ดังต่อไปนี้


1.  ชนิดพันธุ์ที่สร้างสารกฤษณา

          ต้นกฤษณาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย 2 ชนิดพันธุ์ คือ Aquilaria crassna และAquilaria malaccensis พบว่า สามารถสร้างน้ำมันกฤษณาได้ นอกนี้แล้ว ยังมีรายงานชนิดอื่น ๆ ที่สามารถสร้างน้ำมันได้เช่นกัน ซึ่งใช้เทคนิคการตรวจสอบสารพันธุกรรม (DNA marker)เปรียบเทียบระหว่างเนื้อไม้ที่มีสารกฤษณาสะสมที่วางขายกันอยู่ในท้องตลาดกับตัวอย่างพันธุ์พืช(specimen) จากหอพรรณไม้ เพื่อต้องการทราบว่าได้เนื้อไม้ดังกล่าวได้มาจากชนิดพันธุ์(species) ใด เพื่อเป็นข้อยืนยันว่ามีชนิดพันธุ์ไม้กฤษณาใดบ้างที่สามารถสร้างสารกฤษณาได้ พบว่า มีไม้กฤษณาจำนวน 6 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ Aquilaria beccarianaAquilaria crassna,Aquilaria filariaAquilaria khasianaAquilaria malaccensis และ Aquilaria sinensis ที่สามารถสร้างสารกฤษณาขึ้นสะสมอยู่ในเนื้อไม้ได้ ( Eurlings and Gravendeel, 2003) แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีชนิดพันธุ์อื่น ๆ ที่สามารถสร้างสารกฤษณาได้อีก แต่การศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัดของตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองนี้มีไม่เพียงพอนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาถึงปริมาณหรือประสิทธิภาพในการสร้างสารกฤษณาสะสมในเนื้อไม้ เพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างชนิดพันธุ์ว่ามีค่ามากน้อยแตกต่างกันอย่างไร เพราะความแตกต่างระหว่างชนิดพันธุ์ รวมถึงการขึ้นอยู่ในแต่ละสภาพพื้นที่และปัจจัยแวดล้อมที่มีความผันแปรตลอดเวลา เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดสารกฤษณาในเนื้อไม้ที่ยังไม่มีความแน่ชัด จึงทำให้การศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติที่ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ดี มีการศึกษาปริมาณการเกิดสารกฤษณาขึ้นในเนื้อไม้กฤษณาเปรียบเทียบภายในส่วนต่าง ๆ ของลำต้น(Aquilaria crassna) ในประเทศเวียดนามของ Lam (2003) พบว่า การเกิดสารกฤษณาสะสมในเนื้อไม้จะมีปริมาณสูงที่บริเวณโคนของต้นไม้ คิดเป็นร้อยละ 75 ของปริมาณสารกฤษณาที่พบทั้งหมดต่อต้น

2.  สภาพภูมิประเทศ

          นอกจากนี้การศึกษาของ Lam (2003) ยังพบว่า การเกิดสารกฤษณาในธรรมชาติจะสัมพันธ์กับประเภทของดินและวัตถุต้นกำเนิดดิน (parent material) ที่ไม้กฤษณานั้นขึ้นอยู่ ลักษณะดิน yellowish brown feralite ที่มีต้นกำเนิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินมาจากหินชิสต์ที่มีแร่ไมกา ควอตซ์เป็นส่วนประกอบสำคัญ หรือหินทราย (sand stone) จะพบปริมาณการเกิดสารกฤษณาในต้นกฤษณามากกว่าต้นกฤษณาที่ขึ้นอยู่ในดิน reddish brown feralite ที่มีต้นกำเนิดมาจากหินแกรนิตที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน นอกจากนี้ยังพบว่าต้นกฤษณาที่เติบโตในบริเวณที่ลาดชันสูง มีปริมาณสัดส่วนของหินที่เป็นองค์ประกอบในดินค่อนข้างสูงจะเกิดสารกฤษณาที่มีลักษณะคุณภาพดีกว่า

3.  ฤดูกาล

          เป็นที่สงสัยกันว่าฤดูกาลมีผลต่อการเกิดสารกฤษณาในเนื้อไม้กฤษณาหรือไม่ โดยเฉพาะการชักนำให้เกิดสารกฤษณาในสวนป่า ซึ่งมีรายงานของกรมป่าไม้โดย เกรียงศักดิ์ และ เผอิญ (ไม่ปรากฏปีที่ตีพิมพ์) ได้ทำการทดลองชักนำให้เกิดสารกฤษณาในเนื้อไม้กฤษณาบริเวณแปลงทดลองในจังหวัดเลยและจันทบุรี โดยใส่ชิ้นไม้ที่มีเชื้อราและไม่มีเชื้อราลงในต้นกฤษณาที่เจาะด้วยสว่านแล้วปิดปากแผลด้วยซีเมนต์ขาว ทิ้งไว้หกเดือน ปรากฎว่า ปริมาณน้ำหนักของเนื้อไม้ที่เกิดสารกฤษณาที่ใส่เชื้อราจะมีมากกว่าไม่ใส่เชื้อรา และการเกิดกฤษณาในฤดูฝนจะให้ปริมาณสารกฤษณามากกว่าในฤดูร้อน

4.  การชักนำให้เกิดสารกฤษณา

          การชักนำให้เกิดสารกฤษณาในสวนป่าของเกษตรกรมีมากมายหลายวิธี และมีการพัฒนาเทคนิคหรือวิธีการเหล่านี้กันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้มีดฟันบริเวณลำต้น การตอกตะปู การเจาะรูแล้วใส่สิ่งต่าง ๆ ลงไป เช่น สารเคมี แมลง เชื้อรา เหล้าขาว น้ำตาล ปลาร้า การจุดไฟเผารอบต้น การลอกเปลือกและควั่นลำต้นบางส่วน เป็นต้น ซึ่งผลการชักนำแต่ละวิธีการจะให้ปริมาณสารกฤษณาที่เกิดขึ้นในปริมาณที่น้อยมาก และเนื้อไม้จะผุเน่าเสีย เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาหลังจากทำการชักนำแล้วปล่อยทิ้งไว้ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเกิดสารกฤษณาในต้นกฤษณาเช่นกัน 


Last updated: 2012-08-21 12:18:25
 
     
     
   
     
Untitled Document