การจำแนกชนิดไม้กฤษณาตามหลักอนุกรมวิธาน
ไม้กฤษณาจัดอยู่ในวงศ์ (family) Thymelaeaceae สกุล (genus) Aquilaria พืชในวงศ์นี้สำรวจพบทั่วโลกประมาณ 50 สกุล 720 ชนิด (species) สำหรับสกุล Aquilaria ทั่วโลกพบทั้งหมด 15 ชนิด แต่ในประเทศไทยไม้สกุลกฤษณาที่สำรวจพบและรายงานไว้มี 4 ชนิด ดังนี้
1. Aquilaria crassna (เอควิลาเรีย คราสนา)
ไม้ยืนต้นสูง 10 - 30 เมตร เปลือกนอกมีสีน้ำตาลออกขาว เรียบหรือย่น เนื้อไม้มีสีขาวลักษณะอวบอิ่มเต็มไปด้วยน้ำ (pulp spongy) ใบ แหลมถึงเรียวแหลม ขนาด 2.5 - 5x 7 - 11.5 เซนติเมตร ปลายใบอาจจะยาวได้ถึง 6-10 มิลลิเมตร แผ่นใบเป็นมันคล้ายหนัง ด้านหลังใบเกลี้ยง ท้องใบเกลี้ยงหรืออาจมีขนกระจายอยู่ห่าง ๆ ตามขอบใบและเส้นกลางใบ เส้นใบมี 12 - 18 คู่ เห็นชัดทั้งสองด้าน ดอก เป็นช่อกระจุก มี 4 - 6 ดอกย่อย ดอกมีสีออกเขียว ก้านดอกย่อยมีขนสั้นนุ่มยาว 5 - 10 มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงมีขนประปรายทั้งด้านนอกและด้านใน (กลีบเลี้ยงมักจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากออกดอกแล้ว) ผล เป็นรูปกึ่งวงกลม ผิวขรุขระ มีขนยาวขึ้นประปราย ผลขนาด 2 - 2.5 x 2.5 - 3.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเป็นผลแก่ ผลแก่จะแห้งแล้วแตกออกกลางพู มีเมล็ดอยู่ภายใน (seed) 1-2 เมล็ด เมล็ดมีขนาด 5 x 10 มิลลิเมตร
สำหรับชื่อพื้นเมืองเรียกว่า "ไม้กฤษณา" พบขึ้นกระจายในป่าดิบภาคตะวันออกและบางครั้งอาจพบตามเขาแกรนิตแถบภาคกลาง ได้แก่ จังหวัด จันทบุรี ตราด นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี (เขาใหญ่)
| | |
ดอก (A. crassna) | ผล (A. crassna) | สวนป่าไม้กฤษณา (A. crassna) |
2. Aquilaria malaccensis (เอควิลาเรีย มาลัคเซนซิส)
ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 40 เมตร เปลือกนอกเรียบ มีสีออกขาวถึงสีน้ำตาล ใบ มีลักษณะเรียวแหลม ขนาด 2 - 5.2 x 5 - 15 เซนติเมตร แผ่นใบคล้ายกระดาษ เกลี้ยงหรืออาจมีขนห่าง ๆ อยู่บนเส้นกลางใบของท้องใบ ท้องใบจะเห็นเส้นใบชัด แต่หลังใบจะมองเห็นได้ไม่ค่อยชัด ดอก เป็นช่อกระจุก ออกตามยอดหรือตามซอก มี 8 - 10 ดอกต่อช่อ ดอกมีสีเขียวหรือออกเหลือง ผล รูปขอบขนาน เรียบเป็นมัน หรืออาจจะมีขนสั้นนุ่มขึ้นเล็กน้อย ผลขนาด 1.5 - 2.5 x 2.5 - 4 เซนติเมตร ผลแก่จะแตกออกกลางพู มีเมล็ดภายใน 1 - 2 เมล็ด เมล็ดคล้ายรูปไข่ ขนาด 6 x10 มิลลิเมตร เมล็ดมีขนสีแดงปกคลุม และมีจะงอยยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีรยางค์ติดที่จะงอยและจะมีความยาวมากกว่าเมล็ด
จะเห็นว่า ถ้าดูจากลักษณะภายนอก ได้แก่ ลำต้น ใบ และดอก ของ Aquilaria crassna และ Aquilaria malaccensis จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งบางครั้งอาจทำให้สับสนชนิดกันได้ แต่หากมีผลปรากฎจะสามารถจำแนกชนิดได้จากการมองด้วยตาเปล่า เพราะลักษณะผลของทั้งสองชนิดมีลักษณะแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน
สำหรับไม้กฤษณาชนิดนี้ จะมีชื่อพื้นเมืองเรียกว่า "ไม้หอม" พบขึ้นกระจายในป่าดิบทางภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดตรัง (เขาช่องและสิเกา)
3. Aquilaria hirta (เอควิลาเรีย เฮอตา)
ไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 14 เมตร ใบ เรียวแหลม โคนใบรูปลิ่มจนถึงมนหรือกลม ใบขนาด 2.5 - 5.5 x 6.5 - 14 เซนติเมตร แผ่นใบคล้ายหนัง ท้องใบมีขนนุ่มสั้นหนาแน่นโดยเฉพาะบริเวณเส้นกลางใบ ก้านใบมีขนสั้นนุ่ม ยาวประมาณ 5 - 7 มิลลิเมตร ดอกเป็นช่อออกตามซอก มี 5 - 14 ดอกย่อย ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ก้านดอกย่อยยาวได้ถึง 20 มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงรูปทรงกระบอก ยาว 6 - 8 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น แฉกกลีบเลี้ยงรูปไข่และมน ยาว 2-3 มิลลิเมตร ด้านนอกและด้านในมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น กลีบดอกมีขนอุยหนาแน่น ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ผล เป็นรูปหอกกลับ เมล็ดรูปไข่ มีขนประปรายหรือเกือบเกลี้ยง มีจะงอยสั้น ๆ ที่ยอด รยางค์เรียบ ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร
สำหรับไม้กฤษณาชนิดนี้มีชื่อพื้นเมืองเรียกว่า "กายู (ไม้) จะแน" พบขึ้นกระจายในป่าพรุทางภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส (สุไหงโกลิก เวียง สุคีริน และภูเขาทอง)
4. Aquilaria subintegra (เอควิลาเรีย สับอินเทคกรา)
ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูงได้ถึง 2 เมตร ใบ เรียวแหลม โคนใบรูปลิ่มจนถึงมน ใบมีขนาดใหญ่และยาวกว่า 3 ชนิดข้างต้น มีขนาดถึง 7 - 10.5 x 19 - 27.5 เซนติเมตร แผ่นใบคล้ายกระดาษ ท้องใบมีขนสั้นนุ่มจนถึงเกือบเกลี้ยง ดอก เป็นช่อออกตามซอก มี 8-20 ดอกย่อย ก้านช่อดอกมีขนประปราย ยาว 1-3 เซนติเมตร ดอกสีขาว ก้านดอกย่อยมีขนประปราย ยาว 6-13 มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงยาว 5-12 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนบาง ๆ ประปรายหรือเกลี้ยง ด้านในมีขนอยู่ที่ฐาน ผล เป็นรูปรี เมล็ดเป็นรูปรีแคบ ๆ มีขนประปราย รยางด์ไม่มีขน ติดอยู่ด้านหนึ่งของส่วนที่ยืดออกมา
ลักษณะลำคัญของ Aquilaria subintegra ที่แตกต่างจาก 3 ชนิดข้างต้น คือ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ใบจะมีขนาดใหญ่กว่าทั้งสามชนิด พบทางภาคใต้ ขึ้นกระจายในป่าดิบ สูง 300 - 550 เมตรจากระดับน้ำทะเล ได้แก่ จังหวัดปัตตานี (เขาลิเชา) และนราธิวาส (เวียงและสุไหงโกลก) ปัจจุบันพบเห็นได้ยากในป่าธรรมชาติ
| |
ใบ (A. subintegra) | ผล (A. subintegra) |
ที่มา: ภาพจากหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ โดยคุณอรุณ สินบำรุง (2546)
อย่างไรก็ตาม จำนวนชนิดไม้กฤษณาจากการรวบรวมของประเทศอินโดนีเซียเพื่อเสนอต่อที่ประชุม CITES ครั้งที่ 13 และรวมถึงชนิดใหม่ที่เพิ่งสำรวจพบที่ประเทศเวียดนามล่าสุด ในปี 2005 พบว่ามีไม้สกุลกฤษณาทั้งสิ้น 25 ชนิด Click และทั้งหมดพบขึ้นกระจายอยู่ในป่าดิบ รวมถึงป่าพรุ ในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว จีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ นิวกินี เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ไม้สกุลนี้จะขึ้นพบได้ตั้งแต่ 25 - 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สามารถปรับตัวขึ้นอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ตั้งแต่ ดินทราย ดินที่มีหินปะปน และดินปูน ระบายน้ำดี
Last updated: 2012-08-09 00:54:32