.สี่สิบปีที่เรียนครบจบออกไป
กลับเยือนใหม่สู่คณะ"วนศาสตร์"
หลายสิ่งเปลี่ยนมากโขตามโอกาส
เกินที่คาดวาดหวังไว้ในชีวี
.จากบทบาทเคยเรียนเล่นเป็นนิสิต
ใช้ชีวิตคะนองไปในวิถี
เป็นกรรมการช่วยคณะทำหน้าที่
สรรค์สิ่งดีการศึกษาป่าไม้ไทย
.อาจารย์เก่าเกษียณวัยไปทั้งหมด
บ้างสิ้นกรรมเป็นตามกฎกำหนดไว้
เหล่ารุ่นน้องสืบหน้าที่อย่างดีไป
ดูตั้งใจหมายมุ่งมั่นสร้างสรรค์งาน
.บางอาคารอันหมดยุคถูกรื้อไป
ตึกหลายหลังสร้างใหม่ในถิ่นฐาน
สูงสง่าใหญ่โตแสนโอฬาร
รองรับใช้ในกิจการหลายด้านดี
.ปรับหลักสูตรให้ถูกท่าสถานการณ์
ก้าวตามกาลทันสมัยในโลกนี้
ช่วยป่าไม้ให้ก้าวหน้าสานภาคี
ปริญญาตรีถึงเอกอเนกอนันต์
.เหล่านิสิตสมัยก่อนค่อนข้างน้อย
จากหลักร้อยเกือบเป็นชายไปทั้งนั้น
เพิ่มจำนวนผวนนักสู่หลักพัน
ทั้งผกผันส่วนใหญ่กลายเป็นหญิง
.ประเพณีเปลี่ยนท่าทีตามนิสิต
เจอโควิดต้องปรับใหญ่ในหลายสิ่ง
ต้องทำใจให้เหมาะตามความเป็นจริง
เพียงเรื่องวิ่ง*วอนรักษาอย่าเลิกกัน
."วนศาสตร์"อาจเปลี่ยนไปมากมายนัก
วอนความรักภักดิ์จริงใจไร้แปรผัน
พี่-เพื่อน-น้องผองครูบาฯสถาบัน
ร่วมมุ่งมั่นสานวิญญาณ์เพื่อป่าไพร
ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
หมายเหตุ *วิ่งประเพณีของคณะวนศาสตร์ระยะทาง 15 กิโลเมตร ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งโรงเรียนป่าไม้ จังหวัดแพร่ ในสังกัดกรมป่าไม้ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2479 ต่อมายกระดับเป็นคณะวนศาสตร์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2486 และได้ย้ายสถานที่จากจังหวัดแพร่มาอยู่ ณ ที่ทำการปัจจุบันภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 โดยกำหนดให้ นิสิตชั้นปีที่ 1 มีการวิ่งทดสอบ 12 กิโลเมตรก่อน ในภาคการศึกษาแรกที่เข้ามาเรียน จากนั้นในปลายปีได้กำหนดให้นิสิตชั้นปีที่ 1-3 วิ่งประเพณี 15 กิโลเมตรพร้อมกันมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่จบจากคณะวนศาสตร์จึงต้องร่วมกิจกรรมวิ่งรวม 57 กิโลเมตร
แรงดลใจ: ช่วงเรียนปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ในช่วงปี พ.ศ.2520-2524 ถือว่าได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากที่สุดก็ว่าได้ ด้วยมีภาระที่หนักหนาสาหัสเพียงอย่างเดียว คือ ต้องรับผิดชอบตัวเองในด้านการเรียนให้จบให้ได้เท่านั้น โดยมีพ่อและแม่คอยสนับสนุนทุนทรัพย์ในการเรียนให้ ที่เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยอย่างสบายๆ แม้ไม่มากมายเหมือนเพื่อนที่ร่ำรวยบางคน แต่ก็สามารถเกื้อหนุนเพื่อนบางคนได้ กับทั้งชอบการทำกิจกรรมร่วมกับคณาจารย์ รุ่นพี่ เพื่อนและน้องโดยตลอด นับว่ามีประสบการณ์ด้านนี้ในระดับแนวหน้าของรุ่นคนหนึ่งทีเดียว
คิดว่าตัวเองมีความผูกพันกับคณะวนศาสตร์เป็นอย่างมาก แม้หลังเรียนจบก็ยังกลับไปเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมงานวิ่ง 12 และ 15 กิโลเมตร และกิจกรรมอื่นๆที่คณะวนศาสตร์หรือสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์จัดขึ้น กับทั้งได้มีโอกาสกลับมาเรียนต่อปริญญาโทในช่วงปี พ.ศ.2527-2529 ยิ่งทำใหีมีโอกาสสัมผัสคณาจารย์และบรรยากาศทางวิชาการวนศาสตร์มากยิ่งขึ้น ทำให้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของชาววนศาสตร์ ที่จำเป็นต้องสร้างสรรค์งานป่าไม้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อสังคมและประเทศชาติ
ระลึกอยู่เสมอว่าได้เป็นผู้เป็นคนที่มีอาชีพมั่นคง ก็เพราะสถาบันแห่งนี้ได้เกื้อกูลมา จึงพยายามตอบแทนพระคุณที่คณะวนศาสตร์มีให้มาโดยตลอด ที่ผ่านมาก็ได้ร่วมกิจกรรมทางวิชาการ การสอนหนังสือบางวิชา การช่วยสอบวิทยานิพนธ์ การพิจารณาผลงานทางวิชาการทั้งในการประชุม การเผยแพร่งานวิจัยและการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ การจัดหาทุนสนับสนุนการเรียนของนิสิตฯลฯ ทั้งนี้ที่ภูมิใจมากที่สุดด้านหนึ่ง ได้แก่ การที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการประจำคณะวนศาสตร์ เมื่อ 21 มกราคม 2564 ที่พร้อมรับใช้คณะอย่างแท้จริง