ความรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของโลกธุรกิจในอนาคต
 
     
 
วิ่งประเพณี ผลดี"วนกร"
วิงวอนให้น้องวนศาสตร์ช่วยสืบทอดกันต่อไป... วิ่งประเพณี ผลดี"วนกร"... ด้วยมีคุณค่าและประโยชน์หลายด้านเป็นอย่างยิ่ง
 

.เป็นห่วงนักประเพณีที่ทรงค่า
"วนศาสตร์"สืบทอดมาแต่คราไหน
วิ่งสิบห้ากิโลเมตรเจตน์ยิ่งใหญ่
หวังคงมั่นสานต่อไปในดินแดน 

.เบื้องหลังวิ่งประเพณีนี้ยุ่งยาก
ต้องลำบากเหนื่อยกายใจไปสุดแสน
เพียงเกิดผลจนเกินค่าพาเป็นแก่น
ฐานปึกแผ่นให้พวกเราชาว วน. 

.สร้าง"เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน
สามัคคี ซื่อสัตย์"ล้นผลเกิดก่อ
อัตลักษณ์ที่ภูมิใจได้ถักทอ
ร่วมสานต่อเคียงคลอไปให้ผูกพัน

.ทั้งเตรียมการก้าวเข้ามาวนกร
มุ่งสังวรงานป่าไม้หมายคงมั่น
พร้อมผจญภัยพาลไปนานวัน
กล้าประจัญหาญปกป้องผองพนา

.เหล่าน้องพี่ที่หลอมรวมร่วมกันวิ่ง
สร้างความจริงคนประจักษ์ตระหนักค่า
ถิ่นเกษตรประทับใจไม่สร่างซา
กล่าวขวัญหาตราตรึงถึงวันนี้ 

.ชาวป่าไม้ในต่างชาติศาสนา
ให้ศรัทธาเห็นสำคัญขานอึงมี่
บ้างอยากจัดวิ่งบ้างตามอย่างมี
เห็นความดีที่ได้มากิจกรรม

.สำคัญสุดสุขภาพทราบกันดี
แพทย์ทั่วกันการันตีที่ตอกย้ำ
จากการวิ่งออกกำลังอย่างประจำ
ช่วยหนุนนำความแข็งแรงแห่งร่างกาย

.วิ่งสิบห้ากิโลเมตร"วนศาสตร์"
ต้องมุ่งมาดสืบต่อมีมิเสื่อมหาย
ประเพณีรวมพลังทั้งหญิงชาย
สู่เป้าหมายให้เลอค่า"วนกร"

.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com

 

แรงดลใจ: ตอนทราบผลสอบentranceติดคณะวนศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2520 ยังรู้สึกงงๆอยู่เหมือนกัน เพราะเลือกเป็นอับดับ 5 จาก 6 อันดับ ที่กำหนดไว้ เป็นการเลือกตามเพื่อน ที่เห็นว่าเป็นอาชีพที่สัมผัสป่าเขาลำเนาไพรและธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับอุปนิสัยคนบ้านนอกใจจริงแล้วคิดว่าตัวเองมีศักยภาพล้นเหลือ ที่น่าต้องสอบได้คณะวิทยาศาสตร์ของสถาบันการศึกษาแถวสามย่านที่เลือกไว้ก่อนอย่างแน่นอน เพราะชอบและปรารถนาเป็นครูสอนหนังสือ แต่ปีนั้นคะแนนมันสูงมากผิดปกติ กับทั้งตัวเองก็พลาดในบางวิชา เลยไม่ได้หาข้อมูลของคณะวนศาสตร์ไว้ก่อน

พอเข้ามาสัมผัสกับการเรียนของคณะวนศาสตร์ จึงได้ทราบและจำเป็นต้องเข้าร่วมกิจกรรมกับบรรดารุ่นพี่และเพื่อนๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้รับรู้ถึง"ประเพณี"ที่เข้มข้นในหลายรูปแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน กว่าเข้าใจแก่นแท้ได้ก็ต้องผ่านการรับน้องใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งต้องใช้เวลา 6-7 เดือน ที่ยาวนานกว่าพิธีกรรมการรับน้องของคณะอื่น รวมทั้งตึก-หอพัก และส่วนกลางของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งความเข้มข้นน้อยกว่าคณะวนศาสตร์เมื่อเปรียบเทียบกันในภาพรวม ด้วยมีวัตถุประสงค์ในปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไปบ้างเท่านั้น

ประเพณีของคณะวนศาสตร์ที่รู้สึกชื่นชอบมากมาจนทุกวันนี้ ก็คือ การวิ่งประเพณี 15 กิโลเมตร โดยที่นิสิตปี 1 ทุกคนต้องมีการวิ่งทดสอบ 12 กิโลเมตรก่อน ภายหลังจากเข้ามาเรียนได้ 3-4 เดือน ต่อมาอีกราว 6-7 เดือน จึงทำการวิ่งประเพณี 15 กิโลเมตร พร้อมกันของนิสิตปีที่ 1-3 ทุกคน ดังนั้นในเวลา 3 ปี ทุกคนต้องผ่านการวิ่งรวม 57 กิโลเมตร ทั้งนี้แต่ละคนต้องมีการเตรียมตัวกันในการฝึกซ้อมวิ่งและออกกำลังเป็นอย่างดี ทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมต่อการเรียนในบางวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกงานในป่า และการเป็นวนกรในอนาคต

อันที่จริงแล้วการวิ่งประเพณี 15 กิโลเมตรของคณะวนศาสตร์ ได้เริ่มเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะเมื่อปี พ.ศ. 2479 (ในช่วงแรกนั้นคือโรงเรียนป่าไม้จังหวัดแพร่ ที่สอนระดับอนุปริญญา หลักสูตร 2 ปี) ซึ่งได้ดำเนินการสืบเนื่องจนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน กรุงเทพฯ) ในปี พ.ศ.2499 ทั้งนี้ได้กำหนดให้นิสิตชั้นปีที่ 1-3 ทุกคนต้องวิ่งประเพณีร่วมกัน โดยเฉพาะนิสิตชั้นปีที่ 1 ต้องมีการวิ่งทดสอบ 12 กิโลเมตรก่อน ดังได้กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เมื่อกรมป่าไม้ได้เปิดโรงเรียนป่าไม้แพร่ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ก็กำหนดให้นักเรียนทั้ง 2 ชั้นปี มีการวิ่ง 15 กิโลเมตรพร้อมกัน กับทั้งการคัดเลือกผู้สมัครเข้าเรียนต้องผ่านการวิ่ง 20 กิโลเมตรด้วย

นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีการสืบทอดกันมา ในกรณีผู้ที่ชนะเลิศการวิ่งประเพณี 15 กิโลเมตร 3 ปีซ้อน เป็นผู้มีความสามารถสมควรต่อการชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง โดยได้รับรางวัลเกียรติยศเป็นหัวเข็มขัดทองคำสำหรับนิสิตชาย และเข็มกลัดทองคำสำหรับนิสิตหญิง โดยที่เพื่อนๆชาววนศาสตร์รุ่น 43 ได้ผ่านการวิ่งประเพณี 15 กิโลเมตร เมื่อ 17 ธ.ค. 20  ต่อมา  2 ธ.ค. 21 และ  8 ธ.ค.22 โดยในปีหลังนี้เพื่อนร่วมรุ่น คือ (ไอ้)ปึ๊ก:กิตติพจน์ สมอารยพงศ์ ได้วิ่งชนะเลิศครบ 3 ปีซ้อน โดยในปีสามทำเวลาไว้ 61 57 และ 58 นาทีตามลำดับ สร้างเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจมาสู่ตัวเองและเพื่อนวนศาสตร์รุ่น 43 เป็นอย่างยิ่ง

การที่ถูกบังคับให้ซ้อมและวิ่งทางไกลข้างต้น เป็นการช่วยให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าในอดีตที่เป็นโรคภูมิแพ้มาแต่เยาว์วัย กับทั้งทำให้เป็นคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายจนติดเป็นนิสัย ที่ต้องทำจนเกือบทุกวันมาจนถึงวันนี้ แม้เลยเวลาเกษียณวัยมาแล้วก็ตาม ทั้งนี้เคยฝากฝังกับรุ่นน้ิงวนศาสตร์อยู่เสมอว่า ประเพณีต่างๆของชาววนศาสตร์เราอาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการไปได้ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้เสมอตามเวลาที่เปลี่ยนไป เพียงต้องมุ่งให้เกิดอุดมการณ์และจิตวิญญาณของวนกรที่ดี แต่สำหรับการวิ่งประเพณีต้องมีการสืบทอดต่อไปด้วยมีประโยชน์ในหลายด้านเป็นอย่างยิ่ง



Last updated: 2021-05-11 13:17:36


@ วิ่งประเพณี ผลดี"วนกร"
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ วิ่งประเพณี ผลดี"วนกร"
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
654

Your IP-Address: 3.227.0.245/ Users: 
601