ป่าไม้แพร่-วนศาสตร์
วันนี้(1 พ.ค.2564) ทั้งศิษย์เก่าของโรงเรียนป่าไม้แพร่และคณะวนศาสตร์หลายท่าน ต่างสร้างสีสันและความภาคภูมิใจในสถาบันการศึกษาของตน ที่ช่วยวางรากฐานต่อการประกอบอาชีพด้านการป่าไม้ แต่เชื่อว่าหลายคนยังขาดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่แท้จริงของทั้งสองสถาบันการศึกษาทางป่าไม้นี้
คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้วิวัฒนาการมาจากโรงเรียนป่าไม้ของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดสอนเป็นครั้งแรกที่จังหวัดแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2479 ในระยะแรก ใช้ชื่อว่า โรงเรียนป่าไม้ จังหวัดแพร่ เป็นหลักสูตรการศึกษา 2 ปี มีนักศึกษาในปีแรกรวม 25 คน เป็นข้าราชการกรมป่าไม้ที่ผ่านการสอบคัดเลือก 17 คน และสอบคัดเลือกจากบุคคลภายนอกที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 อีกจำนวน 8 คน ผู้ที่เรียนตามหลักสูตรได้รับประกาศนียบัตรการป่าไม้
การสอนตามหลักสูตร 2 ปี ได้ดำเนินการมาจนถึง พ.ศ. 2482 หลังจากนั้นได้รับนักศึกษาเฉพาะจากผู้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่ผ่านการสอบแข่งขันเข้าศึกษาปีละ 25 คน และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนป่าไม้เป็น โรงเรียนวนศาสตร์ ในระยะนี้ได้มีการเปลี่ยนหลักสูตรจาก 2 ปี เป็น 3 ปี และผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับอนุปริญญาวนศาสตร์ แต่จะรับเฉพาะผู้ที่สำเร็จจากโรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้เท่านั้น และได้ดำเนินการติดต่อกันมาจนถึง พ.ศ. 2490 จึงได้เปิดรับนิสิตจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับเตรียมอุดมศึกษาโดยทั่วไป ในระยะนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนวนศาสตร์เป็น วิทยาลัยวนศาสตร์
พ.ศ. 2486 มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น วิทยาลัยวนศาสตร์จึงได้เปลี่ยนฐานะเป็น คณะวนศาสตร์ และอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ยังคงใช้สถานที่เดิมในการเรียนการสอน
พ.ศ. 2487 เปิดสอนตามหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ทำการสอนมาได้เพียง 3 ปี จนถึงปี
พ.ศ. 2489 ก็จำเป็นต้องระงับการสอนตามหลักสูตรปริญญาตรีไว้ชั่วคราวเนื่องจากขาดแคลนอาจารย์และอุปกรณ์ คงเปิดสอนแต่เฉพาะหลักสูตรอนุปริญญา 3 ปี
พ.ศ. 2499 คณะวนศาสตร์ได้ย้ายจากจังหวัดแพร่มาอยู่ในบริเวณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และได้ฟื้นฟูการสอนตามหลักสูตรปริญญาตรีขึ้นมาใหม่
ทางกรมป่าไม้ ได้เปิดทำการเรียนการสอน ณ โรงเรียนป่าไม้ จังหวัดแพร่ อีกครั้ง ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 โดยเปิดทำการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการป่าไม้ (หลักสูตร 2 ปี) รับนักศึกษาจำนวน 50 คน จากข้าราชการของกรมป่าไม้ และได้ขยายจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นในโอกาสต่อมา กับทั้งได้เปิดรับจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายทั่วไปด้วย จนถึงปี พ.ศ. 2536 จึงได้ยุติการเปิดสอนของโรงเรียนการป่าไม้ รวมนักศึกษาของโรงเรียนทั้งสิ้น 36 รุ่น มีผู้จบการศึกษาจากโรงเรียนป่าไม้ 6,080 คน
ส่วนคณะวนศาสตร์ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นระยะๆ ในปี พ.ศ.2520 ได้เริ่มรับนิสิตหญิงเข้ามาเรียนวิชาการป่าไม้ โดยก่อนหน้านี้เป็นนักเรียนและนิสิตชายทั้งหมด
ในด้านหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา คณะวนศาสตร์ได้ขยายการเรียนการสอนหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในปี พ.ศ.2510 และ พ.ศ.2535 ตามลำดับ จนถึงปัจจุบับได้จัดหลักสูตรระดับปริญญาตรี โท และเอก จำนวนหลายด้านที่รองรับความต้องการของสังคม
สรุปได้ว่า ทั้งคณะวนศาสตร์และโรงเรียนป่าไม้แพร่ ต่างมีจุดกำเนิดจากแหล่งเดียวกัน ควรน่ามีความสัมพันธ์กันเสมือนพี่-น้องที่มุ่งสร้างสรรค์การป่าไม้ไทยให้มีความรุ่งเรืองขึ้นมากกว่าในปัจจุบัน
ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
หมายเหตุ ขอบพระคุณข้อมูล จาก บทความ "การศึกษาวิชาวนศาสตร์ในประเทศไทย" โดย ศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ เรืองพานิช ใน หนังสือ 72 ปี วนกรไทย 2551 (พ.ศ. 2479-2551) ของสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์(2551)