ขณะที่กำลังพัฒนาผู้อื่น จงถามตนเองว่าเราพัฒนาไปได้แค่ไหนแล้วด้วย
 
     
 
คืนคงทรงค่า อาคารป่าไม้
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชต้องทุ่มเททรัพยากร รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ ...
 

.พัฒนา-อนุรักษ์มักต่างด้าน
รื้ออาคารกว่าร้อยปีที่เมืองแพร่
จึงเลื่องลืออื้อฉาวเร่าร้อนแท้
ควรร่วมแก้เรื่องร้ายให้กลายดี 

.แม้เสียดายคุณค่าประวัติศาสตร์
คู่เคียงชาติด้านป่าไม้ในพื้นที่
ถ่ายทอดเรื่องสู่ลูกหลานไปนานปี
ตำนานมีมากมายได้ผ่านมา 

.เพียงเวลาล่วงทุกทีหลายปีผ่าน
เปรียบสังขารร่วงโรยไปให้อ่อนล้า
จึงทรุดโทรมทั้งรากฐานยันหลังคา
ไม่นานช้าพาดับไปคล้ายชีพคน 

.อาจตามมาเสียหายในหลายด้าน
หากอาคารทลายมาพาเสียผล
ต้องคำนึงถึงปลอดภัยให้มากล้น
ที่ต้องพ้นการเสี่ยงหลีกเลี่ยงไป

.จึงมองข้ามผ่านไปในบางด้าน
ควรซ่อมแซมสืบสานอาคารไว้
มุ่งเพียงแต่แค่ด้านการทำใหม่
ที่หมายใจให้โดดเด่นเช่นทรงเดิม 

.พาเหตุการณ์บานปลายไปมากล้น
ต้องมุ่งคนทุกด้านช่วยงานเสริม
ชาวเมืองแพร่ได้มารวมร่วมต่อเติม
หาทางเพิ่มสร้างคุณค่าแก่อาคาร

.กรมอุทยานฯต้องใส่ใจในเรื่องนี้
ทุ่มเต็มที่สร้างสรรค์ไปในทุกด้าน
ทรัพยากรเตรียมให้ครบงบประมาณ
วิชาการอันเกี่ยวข้องต้องนำพา 

.อันบทเรียนที่ล้ำค่าอาคารนี้
เพื่อนน้องพี่ชาวป่าไม้ใฝ่ศึกษา
อนุรักษ์หากคู่กันการพัฒนา
จึงเกิดค่าคุณยิ่งใหญ่ให้สังคม

.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com

แรงดลใจ: เมื่อวานนี้(18 มิ.ย.63) อ่านข่าวพบว่ามีประเด็นที่สังคมกล่าวขวัญกันอย่างครึกโครมในเมืองแพร่ ก็คือ การรื้ออาคารไม้สักเก่าแก่ที่ก่อสร้างโดย บริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ เริ่มทำไม้ในประเทศเมียนมาร์ก่อนเพื่อส่งออกไม้ไปยังจีน อินเดีย ต่อมาเริ่มเข้ามาทำไม้ในภาคเหนือของไทย เนื่องจากป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์ และค่าสัมปทานถูกกว่าในเมียนมา โดยเข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ได้รับสัมปทานทำไม้ในบริเวณป่าแม่น้ำยมตะวันตก และได้สร้างอาคารดังกล่าวจนถึงปัจจุบันมีอายุราว 131 ปี ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่ ต่อมาเมื่อยกเลิกสัมปทานป่าไม้ไป อาคารจึงมาอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ ซึ่งได้เปิดพื้นที่ให้เที่ยวชมพื้นที่ได้ จึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมตัวอาคารจำนวนมากในแต่ละปี

ในส่วนตัวแล้ว มีความรู้สึกเสียดายอาคารดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะเคยไปใช้บริการหลายครั้งในช่วงปี พ.ศ.2527-31 เนื่องจากสำนักงานป่าไม้เขตแพร่ ในสังกัดกรมป่าไม้ในขณะนั้นดูแลรับผิดชอบ ซึ่งได้ใช้เป็นบ้านพักรับรอง ซึ่งยอมรับว่าแม้มีอายุนานแล้วและเสื่อมโทรมลงไปบ้าง แต่ก็มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรม และเกี่ยวพันกับตำนานการป่าไม้ของประเทศไทยในอดีตเป็นอย่างมาก ได้พยายามหาข้อมูลจากทั้งข่าวสื่อมวลชน รวมทั้งโทรสอบถามจากชาวป่าไม้ที่คุ้นเคยทั้งในเมืองแพร่และกรุงเทพฯที่คาดว่ามีข้อมูลในเรื่องนี้ ซึ่งก็มีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะการอนุรักษ์และพัฒนาที่แตกต่างกันมาก

ทั้งนี้อ่านข่าวจากเดลินิวส์ออนไลน์พบว่า "นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กล่าวว่า ตนเองมีเจตนาดีอยากที่จะพัฒนาปรับปรุงอาคารที่มีลักษณะเอียง จึงได้ปรึกษากันว่าอาคารแห่งนี้มีทั้งนักเรียน นักท่องเที่ยวเข้ามากลัวว่าวันหนึ่งอาคารแห่งนี้จะล้มลงมา ยอมรับว่าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สบายใจในเรื่องนี้ แต่ขอยืนยันว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมทั้งรูปร่างลักษณะ ขนาดความแข็งแรง รวมถึงสีด้วย ไม่ได้มีเจตนาอื่นเพียงแค่อยากอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่" อ่านแล้วก็ได้แต่เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่เจตนาดี เพียงแต่ดำเนินการแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์

มีความเห็นส่วนตัวว่า ต้องมีการหาข้อเท็จจริงเพื่อเสนอให้สังคมได้รับรู้โดยเร็ว ทั้งนี้หากพบว่ามีการกระทำผิดในด้านใดด้านหนึ่ง ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎเกณฑ์และระเบียบที่มี เพื่อให้ชาวป่าไม้และสังคมทั่วไปได้ตระหนักและมีความรอบคอบในการทำงานกันมากขึ้น ประการสำคัญคือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต้องทุ่มทรัพยากรจัดสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาทดแทนโดยเร็วพลัน โดยร่วมมือกับกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองความรู้สึกของชาวแพร่และบุคคลทั่วไปในคุณค่าทางศิลปกรรมให้ใกล้เคียงอาคารเดิมให้มากที่สุด


Last updated: 2020-11-14 11:56:13


@ คืนคงทรงค่า อาคารป่าไม้
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ คืนคงทรงค่า อาคารป่าไม้
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
522

Your IP-Address: 18.191.27.78/ Users: 
521