รักตนเอง รักครอบครัว รักองค์กร
 
     
 
วิจัยป่าไม้
ขอเรียกร้องต่อการให้ความสำคัญในการสร้างงาน และกำหนดความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ(career path) ของ...วิจัยป่าไม้... ให้ชัดเจนและจริงจัง เพื่อประโยชน์ต่อวงการป่าไม้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
 

•อยากเห็นการพัฒนาด้านป่าไม้

ต้องวิจัยทุ่มแรงอย่างแข็งขัน

กำหนดแผนลำดับขั้นความสำคัญ

เพื่อผลักดันงานนำสู่บูรณาการ

 

•อันคุณค่างานวิจัยใคร่ทบทวน

มีจุดควรหวนคำนึงถึงห้าด้าน

นักวิจัยให้เน้นย้ำดำเนินงาน

จึงได้ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งเป็นอย่างดี

 

•ด้านinputเป้าหมายให้ถูกทิศ

พันธกิจกำหนดไว้ได้ถ้วนถี่

ระดับชาติทั้งหน่วยงานสำคัญมี

ตอบโจทย์ที่ปัญหาพาคลี่คลาย

 

•ส่วนprocessกระบวนการอันสมบูรณ์

หาข้อมูลครอบคลุมดีตามที่หมาย

การวิเคราะห์สถิติมีมากมาย

เลือกทำนายให้ถูกต้องครรลองมี

 

•อันoutputผลผลิตสัมฤทธิ์ได้

นวัตกรรมความรู้ใหม่หมายบ่งชี้

ตอบวัตถุประสงค์ตรงเป้าดี

แนวทางที่ประยุกต์งานบันดาลดล

 

•อีกoutcomeผลลัพธ์กลับคืนให้

คุ้มค่าดีที่ทำได้คลายสับสน

ประสิทธิภาพเกิดผลดีมีเหลือล้น

ประสิทธิผลตามที่หวังอย่างชัดเจน

 

•ทั้งimpactผลกระทบทั้งตรงอ้อม

สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางเด่น

เศรษฐสังคมเหมาะขึ้นไปได้ตามเกณฑ์

จุดต้องเน้นประโยชน์เกิดเลิศเพียงใด

 

•คนวิจัยหากเส้นทางก้าวย่างชัด

ไม่ติดขัดถูกมารแย่งตำแหน่งได้

เกิดพลังร่วมสร้างงานมั่นคงไป

ช่วยหนุนเกื้อเอื้อพงไพรให้รุ่งเรือง

 

•ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

 

แรงดลใจ:

ระยะหลังถลำตัวเข้าสู่แวดวงการวิจัยมากขึ้น ด้วยเพราะถูกมอบหมายให้บริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกือบถึง 10 ปี กับทั้งต้องดำเนินงานวิจัยเองหลายเรื่องอย่างต่อเนื่อง มีทั้งที่เป็นหัวหน้าโครงการเองและเป็นผู้ร่วมวิจัย เพราะเป็นตัวชี้วัดที่ถูกกำหนดอย่างเลี่ยงไม่ได้ บางโครงการวิจัยต้องร่วมมือข้ามมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่น ทำให้สร้างสมประสบการณ์วิจัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยชุมชนที่ต้องทำกับชาวบ้าน ที่นอกจากก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่โดยตรงแล้ว ยังได้เครือข่ายความร่วมมืออย่างมากมาย กับทั้งนำามาประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอนอีกด้วย

 

สำหรับการวิจัยทางด้านที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้โดยตรงนั้น นอกจากได้ร่วมมือกับคณาจารย์ของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ กับนักวิจัยและบุคลากรของกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นว่างานวิจัยที่ดีและมีคุณค่านั้น ต้องให้ความสำคัญ ทั้งด้านinput process output outcome และimpact ทั้งนี้นักวิจัยควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในด้านการวิจัยของทั้ง 3 หน่วยงานป่าไม้(โดยตรง)ข้างต้น ก็คือ แนวโน้มการขาดแคลนนักวิจัยที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่ต้องอาศัยการทำงานวิจัยสะสมมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะมิได้มีการกำหนดความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ(career path)ของนักวิจัยป่าไม้ ในหน่วยงานไว้อย่างชัดเจน จึงเปิดโอกาสให้มีการ"ข้ามห้วย"อยู่เนืองๆจากบุคลากรอื่นที่มิได้มีความรู้และประสบการณ์ทางการวิจัย ทำให้นักวิจัยขาดขวัญและกำลังใจ รวมทั้งขาดแรงจูงใจต่อ"คลื่นลูกใหม่"ที่มาสานต่อการวิจัยจาก"คลื่นลูกเก่า"ที่กำลังจะหมดไป


Last updated: 2018-11-15 22:23:32


@ วิจัยป่าไม้
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ วิจัยป่าไม้
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
847

Your IP-Address: 18.118.119.129/ Users: 
845