กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
อย่ากลัวที่จะก้าวไปช้าๆ จงกลัวที่จะหยุดอยู่กับที่
 
     
 
สวนพฤกษ์ฯภาคใต้
ประทับใจเหลือเกินที่มีโอกาสได้เยี่ยมเยือน...สวนพฤกษ์ฯภาคใต้.... ที่นราธิวาส เมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ขอขอบคุณน้องไก่:ไพบูลย์ เพชรแก้ว วนศาสตร์46 และทีมงาน ที่ให้ความรู้และอำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง
 

•ด้วยพลังจากหัวใจที่หมายมั่น

แต่งเติมฝันบ้านเกิดหวังเทิดชาติ

ถิ่นชายแดนอุดมป่านราธิวาส

สมคุณค่าวนศาสตร์มุ่งมาดมา

 

•ตอบสนองเสาวนีย์ศรีสมเด็จฯ

ที่ก่องเก็จโอฬารตระการค่า

สร้างสรรค์งานเลอล้ำชาตินำพา

รวบรวมพันธุ์พฤกษารักษ์ป่าไว้

 

•กิจกรรมนำหมายวิสัยทัศน์

ทุ่มเร่งรัดพัฒนากว่าพันไร่

ร้อยน้องพี่ร่วมเรียงเคียงพงไพร

ไม่เคยท้อทุ่มกายใจหลายปีมา

 

•เน้นผสานงานไปมากมายด้าน

วิชาการศาสตร์ป่าไม้หลายสาขา

ผนวกศิลป์น้อมนำหลากตำรา

ภูมิปัญญาบรรพชนผลเลิศล้ำ

 

•เป็นแหล่งรู้วิชาการงานป่าไม้

เยาวชนคนสนใจได้เรียนร่ำ

ที่พักผ่อนเที่ยวท่องล่องลำนำ

พาชื่นฉ่ำสุขใจได้มาเยือน

 

•ด้วยทิวเขาเลิศล้ำสูงต่ำชั้น

หลายหลากพันธุ์พฤกษาดาษดาเกลื่อน

แสนสุขสมลมพลิ้วน้ำคอยย้ำเตือน

ค่ำดาวเดือนเด่นฟ้างามตานัก

 

•ถึงแสนเหนื่อยเพียงใดใจกายสู้

หวังคนรู้ความจริงสิ่งประจักษ์

สร้างผลงานบ้านเก่าที่เฝ้ารัก

ทุ่มทอถักสายใยใจศรัทธา

 

•สวนพฤกษศาสตร์ชายแดนภาคใต้นี้

พร้อมสนองเสาวนีย์ที่เลอค่า

องค์สมเด็จฯสิริกิติ์ ธ เมตตา

เพื่อประชาสุขสำราญสืบนานไป

 

•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookforest.com

 แรงดลใจ:

สวนพฤกษศาสตร์ชายแดนภาคใต้ฯ จ.นราธิวาส  เป็นหน่วยงานภาคสนามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  สังกัดสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช  โดยการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตตร์แห่งนี้ สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถได้มีพระราชเสาวนีย์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ว่ามีพระราชประสงค์ที่จะให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสวนพฤกษศาสตร์สำหรับรวบรวมพันธุ์ไม้ประจำถิ่น เพื่อการศึกษา การนันทนาการ และการท่องเที่ยวของประชาชนดังเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่

 

ต่อมาได้ทรงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานที่จัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ ในเบื้องต้นเห็นว่าควรจัดสร้าง ณ บริเวณป่าเขาตันหยง และบริเวณป่าเขาสำนัก ท้องที่ ตำบลกะรุวอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เพราะอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเมืองนราธิวาส มีพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมสายหลัก จึงเป็นการสะดวกต่อผู้ที่สนใจ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่จะมาเยี่ยมชม อย่างไรก็ตามทรงรับสั่งว่าอย่าทำให้ราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน และหากจะมีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินที่ราษฎรครอบครองอยู่ ควรจะจ่ายค่าชดเชยด้วยความเป็นธรรม  และเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย

 

ทั้งนี้ได้กำหนดวัตถุประสงค์สำคัญของการดำเนินงานไว้ดังนี้

     1. เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมพันธุ์ไม้ประจำถิ่นภาคใต้ของประเทศไทยและบริเวณคาบสมุทรมลายูทั้งพรรณไม้บกและไม้น้ำ

     2. เพื่อเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพรรณพืชป่าดิบชื้น โดยเฉพาะพรรณพืชประจำถิ่นของภาคใต้

     3. เพื่อเป็นสถานศึกษา วิจัย และพัฒนาการฝึกอบรมบุคลากรด้านพฤกษศาสตร์ รวมถึงการสนับสนุนการคุ้มครองพรรณพืชในป่าระดับภูมิภาค

     4. เพื่อเป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยา โดยเฉพาะการศึกษาหาความรู้ด้านพฤกษศาสตร์แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และบุคคลทั่วไป

     5. เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหาความรื่นรมย์ทางธรรมชาติของชาวไทย และชาวต่างประเทศ

     6. เพื่อเป็นการสร้างงานและเสริมรายได้ของราษฎรในพื้นที่จากการจำหน่ายของ      ที่ระลึกและบริการเยี่ยมชมพื้นที่ที่ไม่ทำลายธรรมชาติ

 

การดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน นับว่าได้มีความก้าวหน้าในด้านต่างๆเป็นอย่างมาก เพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างน่าชมเชย โดย"ไก่":ไพบูลย์ เพชรแก้ว น้องวนศาสตร์รุ่น 46 และทีมงานได้มุ่งมั่นและทุ่มเทการทำงานมากว่า 6 ปี ซึ่งได้ให้ข้อมูลสะท้อนการปฏิบัติงานที่น่าสนใจไว้บางส่วนดังนี้

 

      "ที่นี่มีงานสำคัญที่ต้องทำหลายด้าน แต่งบประมาณที่ได้รับมีจำกัด ปีละราว 5 แสนกว่าบาท ทราบว่าปีต่อไปถูกตัดลงไปอีก แต่ผมผูกพันและอยากทำให้ที่ ที่ผ่านมาทุ่มเต็มที่เพราะอยากทำให้นราธิวาส บ้านเกิดของผม" คำพูดที่ประกอบสายตาที่มุ่งมั่นอย่างเหลือเกิน

   

"แค่ป้ายของสวน กว่าจะเสร็จได้ใช้เวลากว่า 3 ปี ค่อยๆทำไป นี่ขนาหาวัสดุพวกเศษอิฐปูนที่เขาทิ้งมาประกอบการทำด้วย ผมลองคำนวณดูแล้ว หมดค่าใช้จ่ายรวมแล้วกว่าล้านบาท แต่ผมภูมิใจที่ทำเสร็จ"  "ไก่"ตะโกนบอกคนงานให้เปิดม่านน้ำตกเหนือป้าย ที่มองแล้วอลังการเกินพรรณา

 

"ต้องทำให้สมพระเกียรติพระราชินีที่ทรงตั้งความหวังไว้ ผมพยายามทำหลายอย่างเท่าที่จะทำได้ โชคดีที่พวกลูกน้องเขาช่วยกันเต็มที่" ซึ่งจากการร่วมเดินชมบริเวณสถานที่ต่างๆก็ได้ประจักษ์ผลงานทั้งศาสตร์ทางด้านป่าไม้ ประกอบกับศิลป์ในหลายด้าน ที่เกิดมาจากความชอบและพรสวรรค์ของไพบูลย์ กับทั้งยังได้กล่าวสำทับอีกว่า

 

"อยากเห็นคนมาใช้ประโยชน์ที่นี่กันให้มากๆ โดยเฉพาะพวกนักเรียน ผมพยายามเตรียมที่พักแรมและห้องน้ำรองรับให้เหมาะสมกว่าเดิมที่เคยทำมา ผมจะพยายามทำต่อไปครับ ปีหน้าสมเด็จพระเทพฯอาจเสด็จก็ได้ นั่นคือความภาคภูมิใจในชีวิตที่ผมตั้งเอาไว้"

 

ได้แต่ภาวนาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานฯ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรดำเนินงานเพิ่มเติมให้ เพื่อฝันของ"ไก่"และทีมงานจะได้ถึงฝันที่ตั้งไว้โดยเร็ว ทั้งนี้ได้ให้คำมั่นกับ"ไก่"ว่าหากมีโอกาสจะมาเยี่ยมเยือนเพื่อชื่นชมผลงานและให้กำลังใจอีกครั้งอย่างแน่นอน


Last updated: 2018-09-17 15:36:50


@ สวนพฤกษ์ฯภาคใต้
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สวนพฤกษ์ฯภาคใต้
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
865

Your IP-Address: 3.239.76.211/ Users: 
863