แอ่วเชียงรายเวียงป่าเป้าบ้านป่าจั่น
คนพากันทำลายป่ามามากล้น
จึงชาวบ้านร่วมรักษาป่าชุมชน
ทุ่มเทจนคนทั่วไปให้ศรัทธา
เหล่าผู้นำช่วยกันหมั่นกระตุ้น
คอยเจือจุนชาวบ้านนั้นเห็นค่า
จุดประกายไฟฝันก่อการมา
ทั้งคิดทำนำพากิจกรรม
จากพื้นที่ถูกบุกรุกปลูกพืชไร่
สร้างพิษภัยให้ชุมชนจนเกินกล้ำ
ทวงยึดคืนฟื้นป่าพาน้อมนำ
เร่งทำตามนโยบายรัฐบาล
ทั้งป้องกันไฟป่ามาคามคุก
หากใครบุกตัดไม้ป่าพากันต้าน
นิมนต์พระบวชป่าพาเบิกบาน
จัดประสานพร้อมพรักหลัก"บวร"*
เศรษฐกิจพอเพียงยึดเคียงคู่
ฐานเรียนรู้สู่การใช้คลายเดือดร้อน
เชื่อมโยงดิน-ป่า-น้ำตามขั้นตอน
เอื้ออาทรร้อยรักสามัคคี
ร่วมเครือข่ายป่าชุมชนหลายหนแห่ง
เพื่อเสริมแรงหนุนพลังสร้างวิถี
จึงภาครัฐเอกชนผลมากมี
คอยช่วยเหลือเอื้อสิ่งดีที่เกิดคุณ
ป่าเสื่อมโทรมกลับอุดมสมบูรณ์ดี
ประโยชน์มีมากล้นผลเกื้อหนุน
ทรัพยากรป่าไม้ให้ต้นทุน
ก่อสมดุลนิเวศดีมีตามมา
จึงชื่นชมชุมชนคนป่าจั่น
ที่ช่วยกันอนุรักษ์พิทักษ์ป่า
แม้เหน็ดเหนื่อยมุ่งมั่นสร้างสรรค์พา
เกิดคุณค่าแสนเมลืองต่อเมืองไทย
ครูนิด
วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
หมายเหตุ
*"บวร"เป็นการดำเนินงานที่เน้น
การประสานงาน 3
ฝ่ายในชุมชนร่วมกัน
คือ บ้าน- วัด-
โรงเรียน
แรงดลใจ:
โดยเหตุที่มีชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ไปปลูกพืชไร่
โดยเฉพาะข้าวโพดและขิงจำนวนมาก กอปรกับมีไฟป่าในช่วงหน้าแล้ง
ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน
ผู้นำชุมชนได้ชักชวนให้ชาวบ้านบางส่วนในการทวงคืนผืนป่าเพื่อดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าร่วมกัน
ทั้งได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้
ชาวบ้านบ้านป่าจั่น หมู่ 7 ตำบลเวียงกาหลง
อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย จึงได้ทำการจดทะเบียนเป็นป่าชุมชนตามกฎหมายป่าไม้ในปี
พ.ศ.2553 ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 86
ไร่ โดยอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ปูนน้อย ป่าแม่ปูนหลวง และป่าห้วยโป่งเหม็น
อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
จากการทุ่มเทดำเนินการร่วมกันเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านเกือบทั้งหมดได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ
จนพื้นที่มีสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นหนาแน่น
โดยชุมชนได้ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งไม้ใช้สอย แหล่งอาหาร
แหล่งสมุนไพรของราษฎร แหลีงเรียนรู้ของสถาบันการศึกษา
และแหล่งท่องเที่ยวของคนทั่วไป ทั้งนี้ชาวบ้านมุ่งมั่นไปสู่ความฝันในอนาคตร่วมกันว่า
ดินแดนล้ำค่าแหล่งธาราธรรมชาติ
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผาสามเศร้า
ศึกษาเรื่องราวสมุนไพรป่า
ดอกเอื้องหินผา ถิ่นหมาจ๊อกวอ
จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า
การดำเนินงานป่าชุมชนบ้านป่าจั่นมีจุดเด่นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ
1)
มีผู้นำชุมชนและคณะกรรมการป่าชุมชนที่เข้มแข็ง
และมีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน
2)
ชาวบ้านในชุมชนประมาณร้อยละ 80
ให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการป่าชุมชน
3)
กรมป่าไม้ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน
หลายแห่งให้การสนับสนุนการดำเนินงาน
อย่างต่อเนื่อง
4)
มีการสร้างเครือข่ายป่าชุมชน ทั้งในระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด
และภูมิภาค
5)
มีการออกกฎระเบียบป่าชุมชน อันเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนอย่างชัดเจน
6)
มีการกำหนดแผนการดำเนินงานป่าชุมชนประจำปีแบบมีส่วนร่วมเป็นรูปธรรม
7)
มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน (บวร)
ในการบริหารจัดการป่าชุมชน ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
8)
คุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
9)
สภาพป่าชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านชนิด
ความหนาแน่น และการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ ทำให้ช่วยลดรายจ่าย
และเพิ่มรายได้บางส่วนให้ชาวบ้าน
ทั้งนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
ได้เคยออกไปศึกษาดูงานการดำเนินงานป่าชุมชนบ้านป่าจั่นเมื่อเร็วๆนี้
ได้ชื่นชมต่อความมุ่งมั่นและความสำเร็จของชาวบ้านมาก
จึงได้แนะนำในเบื้องต้นให้ประสานงานกับกรมป่าไม้เพื่อขยายพื้นที่ป่าชุมชนเพิ่มเติมอีกจำนวนกว่า
800 ไร่
เพื่อให้ชาวบ้านช่วยอนุรักษ์ป่าไม้อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทั้งชาวบ้านและสังคมทั่วไปมากขึ้น
Last updated: 2018-08-26 23:08:27