ผู้ที่ตำหนิเราคือผู้ที่รักเรา จงยินดีและไม่ปฏิเสธ
 
     
 
ไมคอร์ไรซาคืออะไร
ไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) มาจากภาษากรีกสองคำคือ
 

ไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) มาจากภาษากรีกสองคำคือ Mycor แปลว่า รา และ Rhiza แปลว่า ราก ใช้เรียกการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (symbiotic associations) ของรากับรากพืชที่มีชีวิต โดยรานั้นต้องไม่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่อรากพืช ราที่อยู่อาศัยร่วมกับรากพืชจะได้รับสารประกอบคาร์บอนและสารอื่น ๆ จากกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ส่วนพืชได้รับประโยชน์คือ ราช่วยเพิ่มการดูดซับน้ำและธาตุอาหารให้กับพืชและเพิ่มความสามารถในการทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเติบโต อันได้แก่ ความเป็นกรดเป็นด่างที่ไม่เหมาะสมของดิน ความแห้งแล้ง ดินเปรี้ยว ดินเค็ม เป็นต้น นอกจากนี้รายังช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคด้วย (Marx and Barnett, 1974)

ไมคอร์ไรซาแบ่งออกเป็น 7 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ เอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhiza) อาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา (arbuscular mycorrhiza) เอคเทนโดไมคอร์ไรซา (ectendomycorrhiza) อีรีคอยด์ไมคอร์ไรซา (ericoid mycorrhiza) โมโนโทรพอยด์ ไมคอร์ไรซา (monotropoid mycorrhiza) อาร์บูทอยด์ ไมคอร์ไรซา (arbutoid mycorrhiza) และ ออร์คิด ไมคอร์ไรซา (orchid mycorrhizas) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (Harley and Smith, 1983; Brundrett, 1996; Peterson et al., 2004)

 

1. เอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhiza)

เอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhiza) อาจถูกเรียกในชื่อ ectotrophic association หรือ sheathing mycorrhiza ราเอคโตไมคอร์ไรซาสร้างเส้นใยสานกันห่อหุ้มบริเวณผิวของรากแขนง มีลักษณะเป็นแผ่นเรียกว่า แผ่นแมนเทิล (mantle sheath) เส้นใยจะแทงผ่านชั้นเซลล์ผิว (epidermis) ของรากเข้าไปเจริญอยู่ระหว่างเซลล์ในชั้นคอร์เทกซ์ (cortex) ทำให้มีลักษณะคล้ายร่างแห เรียกว่า เส้นใยฮาร์ติกเน็ท (Hartig net) แต่ไม่พบเส้นใยดังกล่าวเจริญเข้าไปในชั้นของเอนโดเดอร์มิส (endodermis) และบริเวณชั้นท่อลำเลียงน้ำ แผ่นแมนเทิลทำหน้าที่เคลื่อนย้ายน้ำและธาตุอาหารจากดินสู่รากพืช ดูดซับและสะสมสารประกอบ ได้แก่ กลูโคส (glucose) ฟรุคโตส (fructose) ทรีฮาโรส (trehalose) แมนนิโทส (mannitose) ลิปิด (lipid) โปรตีน (protein) ฟีนอลลิก (phenolic) และสารกลุ่มโพลีฟอสเฟต (polyphosphate) เป็นต้น (Zak, 1973)

รากเอคโตไมคอร์ไรซามีการเปลี่ยนแปลงจากรากปกติ คือ มีการแตกแขนงเพิ่มขึ้น และมีขนาดของรากใหญ่ขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวของรากในการดูดซึมธาตุอาหารและน้ำให้แก่ต้นไม้ (อุทัยวรรณ, 2537; Marks and Foster, 1973) จากการศึกษาของ Nardini et al. (2000) พบว่า Tuber melanosporum ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวรากของกล้า Quercus ilex L. ทำให้กล้าไม้สามารถดูดซึมน้ำเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการศึกษาของ Wallander (2000) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการดูดซึมธาตุฟอสฟอรัสของกล้าสน Pinus sylvestris พบว่ากล้าสนที่ปลูกด้วยราเอคโตไมคอร์ไรซา Suillus variegates มีการดูดซึมธาตุฟอสฟอรัสมากกว่ากล้าสนที่ไม่ได้ปลูกรา เนื่องจากราช่วยย่อยสลาย apatite ให้เป็นธาตุฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปซึ่งพืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยการปล่อยกรด oxalic ออกมา บริเวณรอบๆ ราก นอกจากนี้ราเอคโตไมคอร์ไรซา Pisolithus tinctorius ช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในส่วนของใบ ลำต้น และรากของกล้าไม้สนสามใบและสนคาริเบีย ที่สำคัญได้แก่ ธาตุไนโตรเจน ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุแมกนีเซียมและธาตุแคลเซียม (ธีรวัฒน์, 2533) ด้านการป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อโรคนั้น มีตัวอย่างการศึกษาของ Duchesne et al. (1988) ที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อปลูกราเอคโตไมคอร์ไรซา Paxillus involutus ให้กับกล้าสน Pinus resinosa สามารถเพิ่มความต้านทานต่อการเข้าทำลายของ Fusarium oxysporum f. sp. pini ได้มากกว่า 90 เปอร์เซนต์เนื่องจากเชื้อรา P. involutus ผลิต antibiotic บริเวณรอบรากทำให้ยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ ราเอคโตไมคอร์ไรซาสามารถควบคุมไส้เดือนฝอยได้ ซึ่ง Duponnois et al. (2000) ได้ทดลองใช้ราเอคโตไมคอร์ไรซา Pisolithus spp. ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne javanica ใน Acacia holosericea และพบว่าหลังจากปลูกเส้นใยบริสุทธิ์ของราเอคโตไมคอร์ไรซา Pisolithus spp. ให้กับต้นกล้า พบว่าต้นกล้าที่มีเอคโตไมคอร์ไรซามีการเติบโต ด้านมวลชีวภาพส่วนยอดและราก สูงกว่าต้นกล้าที่ไม่มีเอคโตไมคอร์ไรซา

รากเอคโตไมคอร์ไรซาอาจมี สีน้ำตาล เหลือง ขาว เขียว ดำ น้ำเงิน ทอง ขึ้นอยู่กับชนิดของราเอคโตไมคอร์ไรซาที่เข้าไปอาศัยอยู่ร่วมกับรากพืช สีของรากเอคโตไมคอร์ไรซาอาจไม่เกิดจากราแต่เกิดจากสีของเซลล์ชั้นแทนนิน (Marks and Foster, 1973; Zak, 1973) Wilcox (1982) พบว่าสีและลักษณะผิวของรากเอคโตไมคอร์ไรซาแตกต่างกันไป เนื่องจาก สี ความหนาของแผ่นแมนเทิล ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากได้รับอิทธิพลของความเป็นกรดเป็นด่างของดินบริเวณที่ราอาศัยอยู่ ผิวของแผ่นแมนเทิลอาจมี rhizomorph เจริญยื่นออกมาได้ ส่วนใหญ่แล้วมีสีเข้มกว่าแผ่นแมนเทิล มีขนาดและลักษณะผิวแตกต่างกัน ได้แก่ ผิวเรียบ คล้ายกำมะหยี่ หรือคล้ายขนสัตว์ เป็นต้น (Zak, 1973)

สำหรับราที่เป็นเอคโตไมคอร์ไรซาส่วนใหญ่อยู่ในชั้น (class) Basidiomycetes มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นราในชั้น Ascomycetes และมีเพียง 1 สกุล (genus) ที่อยู่ในชั้น Zygomycetes คือ สกุล Endogone Brundrett et al. (1996) รายงานว่า พืชที่มีเอคโตไมคอร์ไรซาเกือบทั้งหมดเป็นพืชป่าไม้ ได้แก่ วงศ์ Pinaceae, Fagaceae, Betulaceae, Salicaceae, Juglandaceae, Caesalpiniaceae, Dipterocarpaceae, Myrtaceae และ Tiliaceae

 

2. อาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา (arbuscular mycorrhiza)

ราเอนโดไมคอร์ไรซาไม่สร้างแผ่นแมนเทิลมีเส้นใยที่แทงผ่านผนังเซลล์ชั้นเซลล์ผิวเข้าไปเจริญอยู่ภายในเซลล์ของชั้นเซลล์ผิวและชั้นคอร์เทกซ์ แต่เส้นใยของราจะไม่เจริญเข้าไปในเซลล์ชั้นเอนโดเดอร์มิส และชั้นท่อลำเลียงน้ำและอาหาร ราจะสร้างโครงสร้าง 2 แบบ เพื่อทำหน้าที่ดูดอาหารคือ โครงสร้างที่มีรูปร่างกลมและผนังบาง เรียกว่า เวสสิเคิล (vesicle) หรืออาจสร้างโครงสร้างที่มีผนังหนา แตกแขนงคล้ายรากไม้ เรียกว่า อาบัสคูล (arbuscule) ใช้สำหรับสะสมธาตุอาหาร รากที่มีเอนโดไมคอร์ไรซาจะมีรูปร่างเช่นเดียวกับรากพืชปกติทั่วๆไป (Harley and Smith, 1983; Brundrett et al., 1996) ปัจจุบันนิยมเรียกความสัมพันธ์ชนิดนี้ว่า arbuscular mycorrhiza จากเดิมที่เคยเรียกว่า endomycorrhiza และ vesicular-arbuscular mycorrhiza (Peterson et al., 2004)

ราเอนโดไมคอร์ไรซาเป็นราที่อาศัยอยู่ในดิน ส่วนใหญ่จัดอยู่ในชั้น Glomeromycetes ประกอบด้วย 4 อันดับ คือ Archaesporales, Paraglomerales, Diversisporales และ Glomerales ความสัมพันธ์แบบเอนโดไมคอร์ไรซาพบในพืชเกือบทุกชนิด ทั้งที่เป็นพืชกลุ่ม gymnosperm เช่น สกุล Thuja, Sequoia, Metasequoia และพืชกลุ่ม angiosperm ยกเว้นพืชในวงศ์ Brassicaceae, Chenopodiaceae นอกจากนี้ราเอนโดไมคอร์ไรซาหลายชนิดพบในพืชไร่ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว ถั่วเหลือง องุ่น ฝ้าย เป็นต้น และพบในพืชสวนหลายชนิด เช่น กุหลาบ ลิลลี่ คาเนชั่น เป็นต้น (Peterson et al., 2004)

 

3. เอคเทนโดไมคอร์ไรซา (ectendomycorrhiza)

ไมคอร์ไรซาชนิดนี้มีลักษณะของเอคโตไมคอร์ซาและเอนโดไมคอร์ไรซาอยู่ด้วยกัน ราเอคเทนโดไมคอร์ไรซาอาจสร้างแผ่นแมนเทิล และเส้นใยฮาร์ติกเน็ทเหมือนกับเอคโตไมคอร์ไรซาขึ้น และสร้างเส้นใยภายในเซลล์ชั้นเซลล์ผิวและชั้นคอร์เทกซ์ด้วย เส้นใยที่เจริญเข้าไปภายในเซลล์มีรูปร่างคล้ายขดลวด (Brundrett et al., 1996; Peterson et al., 2004)

Mikola (1965) และ Harley and Smith (1983) พบว่าราเอคเทนโดไมคอร์ไรซาส่วนใหญ่อยู่ในชั้น Basidiomycetes และ Ascomycetes มีการสร้าง chlamydospore อยู่ภายในเส้นใยแต่ไม่พบการสร้าง conidium และโครงสร้างสืบพันธุ์อื่น ๆ ราเอคเทนโดไมคอร์ไรซาที่พบใน Pinus contorta จัดอยู่ในชั้น Ascomycetes ในอันดับ Pezizales เช่น Wilcoxina mikolae var. mikolae,W. mikolae var. tetraspora และ W. rehmin ความสัมพันธ์แบบเอคเทนโดไมคอร์ไรซาพบในพืชตระกลูสน 2 สกุล คือ สกุล Pinus มีประมาณ 100 ชนิด และสกุล Larix มีประมาณ 10-20 ชนิด (Peterson et al., 2004)

4. อีรีคอยด์ไมคอร์ไรซา ไมคอร์ไรซา (ericoid mycorrhiza)

รากพืชที่มี ericoid mycorrhiza อาศัยอยู่นั้นจะมีลักษณะพิเศษคือ มีรากแขนง (lateral roots) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแคบ ๆ เรียกว่า hair root ขึ้น รา ericoid mycorrhiza สร้างเส้นใยเจริญพันกันคล้ายขดลวด ไม่สร้างแผ่นแมนเทิลและเส้นใยฮาร์ติกเน็ท ericoid mycorrhiza มีบทบาทในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหาร รา ericoid mycorrhiza ที่พบ ได้แก่ Pezizella ericae และ Oidiodendron sp. ซึ่งอยู่ในชั้น Ascomycetes (Peterson et al., 2004) บางชนิดเป็นราในชั้น Basidiomycetes (Brundrett et al., 1996) พืชในอันดับ Ericales โดยเฉพาะพืชในวงศ์ Ericaceae, Epacridaceae และ Empetraceae มีความสัมพันธ์แบบ ericoid mycorrhiza (Harley and Smith, 1983; Peterson et al., 2004)

5. โมโนโทรพอยด์ ไมคอร์ไรซา (monotropoid mycorrhiza)

รา monotropoid mycorrhiza สร้างแผ่นแมนเทิลซึ่งบางครั้งมีความหนามากบริเวณรอบราก สร้างเส้นใยฮาร์ติกเน็ทบริเวณชั้นเซลล์ผิว และพบเส้นใยแทงเข้าไปในเซลล์ของชั้นเซลล์ผิว ต่อมาเจริญเป็น haustorium ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นใยสั้น ๆ ไม่แตกแขนง (Harley and Smith, 1983; Peterson et al., 2004) รา monotropoid mycorrhiza จัดอยู่ในชั้น Basidiomycetes ได้แก่ Tricholoma, Russula ส่วนใหญ่พบในพืชวงศ์ Monotropaceae สำหรับสกุลที่พบในแถบเอเซีย ได้แก่ Cheilotheca, Monotropa และ Pleuricospora (Peterson et al., 2004) มักพบไมคอร์ไรซาชนิดนี้อยู่ร่วมกับไม้ป่าหลายชนิด เช่น บีช (beech) สน (pine) และ conifer ชนิดอื่น ๆ (Harley and Smith, 1983)

6. อาร์บูทอยด์ ไมคอร์ไรซา (arbutoid mycorrhiza)

รา arbutoid mycorrhiza สร้างแผ่นแมนเทิลและเส้นใยฮาร์ติกเน็ท เจริญระหว่างเซลล์ชั้นเซลล์ผิว หรืออาจสร้างเส้นใยคล้ายขดลวดขึ้นภายในเซลล์ ราที่มีความสัมพันธ์เช่นนี้จัดอยู่ในชั้น Basidiomycetes บางครั้งอาจพบราจัดอยู่ในชั้น Ascomycetes และ Zygomycetes ด้วย (Brundrett et al., 1996) พืชที่มีความสัมพันธ์กับไมคอร์ไรซาชนิดนี้คือ พืชสกุล Arbutus และสกุล Arctostaphylos ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ Ericaceae และหลายสกุลในวงศ์ Pyrolaceae เช่น สกุล Pyrola (Peterson et al., 2004)

7. ออร์คิด ไมคอร์ไรซา (orchid mycorrhiza)

รา orchid mycorrhiza สร้างเส้นใยที่มีลักษณะคล้ายขดลวดภายในเซลล์ เรียกว่า pelotons อาจเรียกว่าเป็นเอนโดไมคอร์ไรซาชนิดหนึ่ง ราที่มีความสัมพันธ์แบบไมคอร์ไรซาชนิดนี้จัดอยู่ในชั้น Basidiomycetes ตัวอย่างเช่น Rhizoctonia ซึ่งสามารถกระตุ้นการงอกของเมล็ดกล้วยไม้ได้ พืชวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) หลายชนิดมีความสัมพันธ์แบบ orchid mycorrhiza เช่น Paphiopedilum sp., Cephalanthera longibracteata เป็นต้น (Peterson et al., 2004)


Last updated: 2010-08-08 00:00:00

บทความที่เกี่ยวข้อง
  • ไมคอร์ไรซาคืออะไร

  • @ ไมคอร์ไรซาคืออะไร
     


     
         
    เน€เธ˜ย™เน€เธ˜เธ’เน€เธ˜เธเน€เธ˜ยœเน€เธ˜เธ™เน€เธ™ย‰เน€เธ˜เธŠเน€เธ™ยˆเน€เธ˜ย‡         [1/12128]...xxx.95.21.98 2021-08-17 12:52:51
        เน€เธ˜ย‚เน€เธ™ย‰เน€เธ˜เธเน€เธ˜ย„เน€เธ˜เธ‡เน€เธ˜เธ’เน€เธ˜เธ

    เธ™เธฒเธกเธœเธนเน‰เธชเนˆเธ‡         [2/11766]...xxx146.166.20 2021-08-11 10:59:15
        เธ‚เน‰เธญเธ„เธงเธฒเธก

    เธ™เธฒเธกเธœเธนเน‰เธชเนˆเธ‡         [3/11594]...xxx146.166.20 2021-08-11 09:18:17
        เธ‚เน‰เธญเธ„เธงเธฒเธก

     
         
         
       
         
    Untitled Document



    LFG
    www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
    Powered by: LOOK FOREST GROUP
    23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
    Clicks: 
    22,845

    Your IP-Address: 3.138.37.43/ Users: 
    22,843