ป่าชุมชนสกลนคร"บ้านดอนกอย"
คนเรียงร้อยร่วมใจหวังได้ผล
ผู้นำชวนชาวบ้านสานกมล
คุณค่าล้นแก่หมู่บ้านสืบนานไป
เน้นการใช้วัฒนธรรมนำมิ่งขวัญ
ศรัทธามั่นศาลปู่ตามาแต่ไหน
ได้คุ้มครองป้องทุกข์พาสุขใจ
ช่วยป่าไม้ให้คงอยู่คู่ชุมชน
ปลูกบำรุงรักษากล้าพันธุ์ไม้
คละเคล้าไปหลากชนิดสัมฤทธิ์ผล
ค่อยเติบใหญ่ดาษดื่นขึ้นปะปน
งามน่ายลสีสันตระการตา
ช่วยเหลืองานกันไปในหลายกลุ่ม
คอยควบคุมจัดการด้านไฟป่า
เร่งทำฝายน้ำล้นผลนำพา
มีน้ำท่าปลูกพืชพรรณกันทั้งปี
ประยุกต์ใช้หลายด้านภูมิปัญญา
พัฒนาเพื่อป่าไม้ในถิ่นที่
จึงชุมชนเกิดรักสามัคคี
งานมากมีมุ่งส่งเสริมแต่งเติมพา
ถ่ายทอดนำความรู้สู่เยาวชน
ทุ่มเทตนพร้อมอุทิศจิตอาสา
ป่าชุมชนเคียงคู่ศาลปู่ตา
สืบสานต่อเจตนาบรรพชน
ได้อาหารของป่าสมุนไพร
ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ไร้ขัดสน
สิ่งแวดล้อมเริ่มสดใสคลายร้อนรน
คุณภาพชีวิตคนส่งผลดี
แสนชื่นชมชุมชนคนดอนกอย
ที่เชื่อมร้อยรังสรรค์กันเต็มที่
ร่วมรักษ์ป่าค่าอนันต์มานานปี
ผลมากมีช่วยประเทืองถิ่นเมืองไทย
ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ
:
บ้านดอยกอย(เดิมชื่อดอนกลอย) หมู่ที่ 2 ตำบลดอนสว่าง
อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร
เป็นหมู่บ้านที่ได้การยอมรับว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็งแห่งหนึ่งของจังหวัดสกลนคร
เนื่องจากชาวบ้านมีความสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกันเป็นอย่างมากในการช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านของตนเองตลอดเวลา เนื่องจากผู้นำมีวิสัยทัศน์และเสียสละต่อส่วนรวม
กับทั้งมีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาชุมชนให้มีความสงบสุข
โดยเฉพาะการพัฒนาอาชีพในด้านต่างๆ จนทำให้มีผลงานที่หลากหลายเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้รับรางวัลอย่างมากมาย ทำให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานเป็นอย่างมาก
กิจกรรมที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือผ้าย้อมครามซึ่งถือเป็นสินค้า OTOP
ที่มีคุณภาพดียิ่งอันเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนแห่งนี้
ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้นั้น ผู้นำชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหาความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ในหมู่บ้านที่มีสภาพเสื่อมโทรมลง
เนื่องจากการบุกรุกครอบครองพื้นที่เพื่อทำการเกษตรและอยู่อาศัยของคนทั้งในและนอกชุมชน
กับทั้งมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ทำให้พันธุ์ไม้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ในป่าเต็งรังได้เริ่มลดน้อยถอยลงเป็นอย่างมาก
ในปี พ.ศ.2542
ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่ป่าชุมชนจำนวนกว่า
600 ไร่ต่อมาในปี พ.ศ.2545 ทางกรมป่าไม้ได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนชุมชนให้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2554 ได้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนร่วมกับกรมป่าไม้ ทั้งนี้ได้มีหน่วยงานอื่นเข้ามาให้การสนับสนุนอยู่ด้วยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งเข้ามาวิจัยร่วมกับชาวบ้าน
นอกจากนี้ทางเทศบาลตำบลสว่างได้ส่งเสริมให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีจุดเด่นในการล่องแพมอดินแดงชมแก่งลำน้ำอูนอีกด้วย
เกือบ 20 ปีที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านดอนกอยร่วมกันมา
ได้ส่งผลให้สภาพป่าโดยใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนับถือศาลปู่ตาร่วมกับกิจกรรมอื่น
ๆ ได้แก่การปลูกและบำรุงรักษาป่า การป้องกันไฟป่า การทำฝายชะลอน้ำ ฯลฯ
ทำให้สภาพป่าเต็งรังเริ่มมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งในด้านจำนวนชนิด
ปริมาณและการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ยืนต้น
รวมทั้งความหลากหลายของพืชสมุนไพรและพืชอาหารป่าชั้นล่างที่มีมากกว่า 100 ชนิด
ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ชาวบ้านได้เก็บหามาใช้ในการอุปโภคและจำหน่ายทำให้เกิดการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนเป็นอย่างมาก
สภาพสิ่งแวดล้อมเริ่มมีสภาพที่ดีขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่ยังคงเผชิญอยู่ ก็คือ การครอบครองพื้นที่ในป่าชุมชนจากชาวบ้านบางส่วนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เริ่มต้น
ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมป่าไม้น่าจะรีบดำเนินการช่วยเหลือชุมชนในการหาข้อยุติที่เหมาะสมโดยเร่งด่วน
Last updated: 2018-06-17 12:43:41