ทำงานให้มองฟ้า เป็นอยู่ให้มองดิน
 
     
 
ป่าชุมชน"บ้านห้วยไผ่"
ไปศึกษา...ป่าชุมชนบ้านห้วยไผ่... หมู่ที่ 8 ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก รู้สึกประทับในความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วมของชาวบ้านต่อการจัดการป่าชุมชนร่วมกันอย่างแท้จริง แม้ว่ามีหน่วยงานภายนอกสนับสนุนจำกัดก็ตาม
 

 

•ชุมชนบ้านห้วยไผ่พิษณุโลก

เคยวิโยคโศกเศร้าปวดร้าวหนัก

ถูกนายทุนต่างถิ่นหมิ่นใจนัก

มาหาญหักซื้อหาป่าครอบครอง

 

•ใช้ปลูกสร้างยางพารากว่าพันไร่

วิกฤติภัยตามมาพาหม่นหมอง

ทั้งของป่าเคยเก็บใช้ได้ก่ายกอง

กับมาต้องขาดแคลนแสนลำเค็ญ

 

•ยังโชคดีที่หลวงทวงผืนป่า

คืนกลับมาแม้ลำบากยากแสนเข็ญ

อีกส่งเสริมมุ่งหวังสร้างร่มเย็น

เปลี่ยนมาเป็นป่าชุมชนผลนำพา

 

•พื้นที่ป่ากว่าสี่พันห้าร้อยไร่

คนร่วมใจร่วมแรงอย่างแกร่งกล้า

อนุรักษ์เร่งรัดพัฒนา

มุ่งฟันฝ่ารวมพลังทั้งชุมชน

 

•ฟื้นฟูป่าทำฝายไว้กั้นน้ำ

กิจกรรมป้องกันไฟให้ผ่านพ้น

ลาดตระเวนเน้นความรู้แก่ผู้คน

ปลูกพืชผลปล่อยสัตว์ป่าขยายพันธุ์

 

•ป่าเริ่มหนุนกูลเกื้อเอื้อตอบให้

คนท้องถิ่นกินใช้ได้สุขสันต์

ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้หมายแบ่งปัน

พาแข็งขันสามัคคีมีตามมา

 

•อีกอุ่นใจได้พึ่งพิงสิ่งแวดล้อม

หวังพรั่งพร้อมสดใสไปถ้วนหน้า

ทั้งอากาศน้ำดินถิ่นงามตา

รอคอยท่าป่าสมบูรณ์คุณอนันต์

 

•จิตสำนึกเลิศล้นคนห้วยไผ่

รักษ์ป่าไม้แน่วแน่ไม่แปรผัน

หากภาคีร่วมด้วยช่วยผลักดัน

คงถึงฝันที่มั่นหมายไม่ช้านาน

•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)

                                                                                   www.lookforest.com                        

แรงดลใจ :

มีโอกาสไปป่าชุมชนบ้านห้วยไผ่ หมู่ที่ 8  ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งชุมชนได้รับอนุมัติจากกรมป่าไม้ให้ดำเนินการรวมเนื้อที่ 4,523 ไร่ 2 งาน 4  ตารางวา ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งขวา มาตั้งแต่วันที่  23 สิงหาคม 2559  โดยมีระเวลาดำเนินการ 10 ปี พื้นที่แห่งนี้ส่วนหนึ่งเคยถูกนายทุนจากภายนอกท้องถิ่นเข้ามากว้านซื้อเพื่อปลูกยางพาราจำนวนมากมาเป็นเวลาหลายปี ในช่วงรัฐบาล คสช. ได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยทีมงานพยัคฆ์ไพร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการยึดคืนพื้นที่เหล่านี้ กอปรกับทางกรมป่าไม้ได้มีนโยบายส่งเสริมการดำเนินงานป่าชุมชน ชาวบ้านจึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่จนได้รับการอนุมัติดังกล่าว

                กิจกรรมสำคัญที่ชาวบ้านได้ช่วยกันบริหารจัดการในพื้นที่ป่าชุมชนแห่งนี้ที่สำคัญก็คือ การปลูกฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้พันธุ์ไม้ป่าและพันธุ์พืชท้องถิ่นที่สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้  การทำแนวกันไฟและจัดเวรยามลาดตระเวนเพื่อป้องกันไฟป่ารวมทั้งการบุกรุกจากคนนอกพื้นที่ การจัดทำฝายชะลอน้ำกระจายไปในบริเวณต่าง ๆ ของป่าเพื่อเก็บกักน้ำอันก่อให้เกิดความชื้นที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นไม้  การปล่อยสัตว์ป่าบางชนิด เช่นหมูป่าเพื่อให้มีการขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการป่าชุมชนและกำหนดกฎระเบียบป่าชุมชนขึ้นมา  ทำให้สภาพพื้นที่เริ่มมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในเบื้องต้นนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการมีของป่า เช่นหน่อไม้ เห็ด น้ำผึ้ง อึ่งไข่มดแดง ฯลฯ ที่สามารถใช้บริโภคและจำหน่าย อันเป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้สภาพแวดล้อมของชุมชนมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในอดีต

                แม้ว่าการดำเนินงานโครงการยังจัดว่าอยู่ในระยะเบื้องต้นก็ตาม แต่เชื่อว่าน่าจะประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชาวบ้านเกือบทั้งหมดในหมู่บ้านต่างให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อย่างกระตือรือร้น กับทั้งยังได้มีแผนงานอีกหลายด้านที่ประสงค์ดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดทำอ่างเก็บน้ำแบบถาวรเพื่อใช้ในการบำรุงรักษ์ป่าและประกอบอาชีพ การจัดท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์  และบ้านพักแบบโฮมสเตย์ที่สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมที่น่าสนใจหลายด้านเข้าด้วยกัน การเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่ได้รับจากป่าชุมชน  การปลูกและบำรุงรักษาป่าชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพียงแต่ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนในบางด้านที่เกินศักยภาพของชาวบ้านอย่างแท้จริง

               ขอขอบพระคุณนายเอกชัย น้ำจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านห้วยไผ่ ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านห้วยไผ่ คุณจิตรพล ไทยภักดี ผู้อำนวยการส่วนป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (พิษณุโลก) และทีมงานที่ให้ความอนุเคราะห์ในการศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นอย่างดี


Last updated: 2018-05-18 22:48:41


@ ป่าชุมชน"บ้านห้วยไผ่"
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ป่าชุมชน"บ้านห้วยไผ่"
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
905

Your IP-Address: 3.146.65.212/ Users: 
904