ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจะต้องรู้จักกำหนดภาพลักษณ์ของตนเองเข้าใจบทบาทและวางท่าที ที่เหมาะสมต่อสถานการณ์
 
     
 
แก้ผ้า(พื้น)ที่ป่าไม้
กรมป่าไม้รายงานว่าปี พ.ศ.2559 พื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ประมาณร้อยละ 32 ของพื้นที่ประเทศ นับว่าเป็นการ...แก้ผ้า(พื้น)ที่ป่าไม้... เพราะป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์นั้นกลับไม่มีตัวเลขให้สาธารณชนรับทราบเลย
 

  

•เห็นตัวเลขพื้นที่ปีห้าเก้า

ป่าไม้เราเหลือร้อยละสามสิบสอง

ของพื้นที่ประเทศเขตครอบครอง

เกิดขุ่นข้องสงสัยในอุรา

 

•ปีสี่เอ็ดนั้นเอยเคยรับรู้

ป่าเหลืออยู่ร้อยละยี่สิบห้า

คนป่าไม้ถูกติฉินทั้งนินทา

ด้วยต่ำกว่าเป้าหมายไกลลิบลับ

 

•ใยพื้นที่ป่าฟื้นคืนมาได้

หลายล้านไร่เพิ่มมาคณานับ

ด้วยล้านไร่ต่อปีที่ย่อยยับ

ซ้ำแทบจับคนทำลายไม่ได้เลย

 

•ป่าทุกภาคถูกผลาญกันป่นปี้

เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ได้เพิกเฉย

จึงหลายแห่งป่าวอดวายอ่อนใจเอย

โอ้คุณเอ๋ยทำงานกันอย่างไร

 

•หลายคนบอกป่าเพิ่มกว่าเดิมมี

ด้วยเทคโนโลยีที่นำใช้

แปลภาพถ่ายละเอียดดีที่เปลี่ยนไป

ที่พืชพรรณปกคลุมไว้ให้เป็นป่า

 

•อาจรวมที่ผสมไปกับไม้ผล

ป่าเอกชนปาล์มน้ำมันยันป่าหญ้า

ป่าละเมาะป่าริมทางยางพารา

อีกป่าวัดป่าช้าป่าบุ่งทาม

 

•ป่าธรรมชาติสมบูรณ์ดีมีเท่าไร

คนทั่วไปใจตระหนักเขาฝากถาม

ร้อยละสิบมีถึงไหมใคร่รู้ความ

คนป่าไม้ให้ติดตามเร่งนำพา

 

•ป่าสมบูรณ์เหลือเพียงใดชี้ให้ชัด

เพื่อเร่งรัดร่วมกันแก้ปัญหา

อย่าคลุมเครือเหมือนกาลที่ผ่านมา

เปรียบแก้ผ้าเอาหน้ารอดยอดน่าอาย

•ครูนิด วนศาสตร์ (ชมรมสีเสียดแก่น)

www.lookfroest.com

แรงดลใจ :

กรมป่าไม้รายงานว่าปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ประมาณร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศหรือประมาณ 102  ล้านกว่าไร่ โดยในภาคเหนือมีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดประมาณ 56  ล้านไร่ (ร้อยละ 52.5 ของพื้นที่ภาค) ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหลืออยู่ประมาณ 15 ล้านไร่ หรือร้อยละ 15 ของพื้นที่ภาค สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าเหลือมากที่สุดคือเชียงใหม่ ประมาณ 9.6 ล้านไร่ แต่ถ้าพิจารณาในด้านร้อยละของพื้นที่จังหวัดแล้วพบว่าแม่ฮ่องสอนเหลือมากที่สุดคือราวร้อยละ 86 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ถือว่าไม่มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เลยมีอยู่ 4 จังหวัดได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง

                สำหรับพื้นที่ป่าไม้จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2516 พบว่าเหลืออยู่ราวร้อยละ 43 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตามลำดับจนน้อยที่สุดพบใน พ.ศ.2541 ซึ่งเหลืออยู่ราวร้อยละ 25 เท่านั้นแต่หลังจากนั้นกับสำรวจพบว่ามีเพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2543 พบว่ามีประมาณร้อยละ 33 ซึ่งเป็นที่กังขาสำหรับคนทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยทางหน่วยงานได้พยายามชี้แจงว่าอาจเป็นเพราะการปลูกป่าทั้งภาครัฐและการส่งเสริมภาคเอกชนได้ผลเป็นอย่างดี แต่ขณะที่นักวิชาการบางท่านได้ชี้ว่าอาจเป็นเพราะการใช้เทคโนโลยีการแปลภาพถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะได้ชี้ชัดลงไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าที่มีเหลือก็ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่นโยบายการป่าไม้แห่งชาติกำหนด ก็คือ ประเทศเราควรมีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ อันจะเอื้ออำนวยประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

                สำหรับพื้นที่ป่าไม้ที่ประกาศว่าเหลืออยู่นั้น หลายคนมักมีคำถามที่ตรงกันว่า เหลือป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่แท้จริงเท่าใดกันแน่ ซึ่งข้อมูลด้านนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดชี้แจงหรือประกาศให้รับรู้อย่างชัดเจน อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายและวางแผนการจัดการป่าไม้ได้อย่างเหมาะสม เพราะพื้นที่ป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์นั้นได้ถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายมากกว่า 1 ล้านไร่ต่อปี ข้อเท็จจริงด้านนี้ผู้ที่มีประสบการณ์และให้ความสนใจต่อทรัพยากรป่าไม้ มักเกิดความตระหนกตกใจเป็นอย่างมาก ที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือสภาพพื้นที่ป่าธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสังเกตจากการนั่งเครื่องบินหรือขับรถไปตามพื้นที่ป่าไม้ที่ผ่านนั่นเอง


Last updated: 2018-02-19 00:59:01


@ แก้ผ้า(พื้น)ที่ป่าไม้
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ แก้ผ้า(พื้น)ที่ป่าไม้
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
944

Your IP-Address: 18.97.9.171/ Users: 
943