อย่าให้งานต้องรอการตัดสินใจของเรา
 
     
 
ป่านี้ของเธอหรือใคร?
ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ลุกขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในเวลานี้และขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความร่วมมือด้วย ป่านี้ก็ไม่ใช่ของท่านคนเดียวหรอกนะ
 

มีเสียงส่งมาว่า “คอลัมน์เสียงสีเสียด” ไม่ได้ขยับมานานมากแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนคอลัมน์นี้คนหนึ่ง จึงนึกอยากจะเขียนอะไรขึ้นมาสักเรื่อง ที่ออกมาจากความสนใจของสังคมในช่วงนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้คุยกับเพื่อน ๆ เมื่อสักครู่ ก่อนจะหยิบปากกา(จริง ๆ ควรจะบอกว่าเปิดคอมฯ) ขึ้นมาเขียนพรรณาสักเรื่อง ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็คงไม่พ้นเรื่องการบุกรุกป่าทำรีสอร์ทที่วังน้ำเขียว เลยตั้งชื่อเรื่องซึ่งคิดว่าคงจะเก๋ไม่เบาว่า “ป่านี้ของเธอหรือใคร?” (เป็นอย่างไร? ช่วยคอมเมนต์ด้วย)

เมื่อเหตุการณ์บานปลาย เกิดขึ้นที่วังน้ำเขียว ผู้บริหารทุกระดับของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ออกโรงมาตรวจสอบการครอบครองที่ดินป่าสงวนฯ ป่าเขตอุทยานแห่งชาติฯ กันเป็นยกใหญ่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็มีคำถามกลับจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจากเจ้าของรีสอร์ทที่ไปสร้างในเขตป่ารวมทั้งชาวอบต.ที่เสียผลประโยชน์ถึงเหตุผลกลใดเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึง “ผีเข้า” รุกคืบไล่ติดป้ายประกาศให้รีสอร์ทเพิกถอนออกไปจากพื้นที่กันอย่างต่อเนื่อง


ซึ่งจะเห็นเป็นข่าวให้ดู ให้อ่านกันได้ทุกวัน

แม้ไปพบพรรคพวกเพื่อนฝูงก็คุยกันแต่เรื่องนี้ เวลาโทรหากันก็อดไม่ได้จะคุยเรื่องนี้ (แต่ไม่เห็นเขียนออกมาให้อ่านกันบ้าง ..ฮ่วย!) เลยคิดว่าน่าจะเอาสาระที่ได้คุยกันมาเขียนไว้ (เผื่อจะมีใครที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงมาอ่านแล้วเกิดปิ๊งค์ไอเดีย..??) ก็อาจจะช่วยกันสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาบ้างก็ได้

สมมติฐานข้อที่หนึ่ง กฏหมายต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ การที่เรามีกฏหมายป่าไม้ที่มีกฏกติกาต่าง ๆ รวมทั้งการอนุรักษ์ที่ดินไว้ให้เป็นป่านั้น ชาวบ้านชาวช่องเขารู้สึกว่าจะได้ประโยชน์อะไร? เรา(นักวิชาการป่าไม้)เคยหรือพยายามอธิบายให้ชาวบ้านเขาได้เข้าใจใหม? ถ้าหากประชาชนทั่วไปลงมาถึงชาวบ้านที่บุกรุกป่ายังไม่เห็นด้วยกับกฏหมายป่าไม้แล้ว จะให้มาช่วยกันรักษาป่ากันไว้ทำไม จริงใหม?

นักวิชาการป่าไม้หรือผู้บริหารงานป่าไม้ต้องออกมาบอกซิว่า การขีดวงพื้นที่ป่าไม้ตรงนั้นตรงนี้ เป็นเพราะว่ามันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารนะ การบุกรุกแผ้วถางป่ามาปลูกพืชไร่มันเสียหายต่อส่วนรวมอย่างไร? การขายที่ไปให้พวกมีเงิน(ที่เป็นคนต่างถิ่นทั้งนั้น) มาซื้อทำรีสอร์ทจะทำให้ขาดโอกาสในการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ (พวกทำรีสอร์ทยังเข้าใจผิดว่า การที่ตนมาทำรีสอร์ทนั้นช่วยอนุรักษ์ป่า เพราะป่ามันเสื่อมโทรมแล้ว ตนมาอยู่นั้นได้ปลูกต้นไม้ประดับไปหลายสิบต้น ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน)

สรุปประเด็นนี้เลยว่า ต้องทำให้กฏหมายที่ออกมาให้เป็นที่ยอมรับว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากการออกกฏหมายนั้น

สมมติฐานข้อที่สอง ประชาชนต้องรู้ว่าการปฏิบัตินั้นถูกหรือผิดกฏหมาย ประเด็นสำคัญตรงนี้ ก็คือ เจ้าของรีสอร์ทนั้นรู้หรือไม่ว่าที่ดินที่ซื้อมานั้นมันไม่ถูกต้องตามกฏหมาย? รู้แล้วทำไมยังซื้ออีก? แล้วอบต.ที่ดูแลทรัพยากรรู้หรือไม่ว่าผิดกฏหมาย รู้แล้วทำไมไม่ห้ามปราม? แล้วเจ้าหน้าที่ป่าไม้รู้หรือไม่ว่ามีคนมาบุกรุกสร้างสิ่งถาวรอยู่ในพื้นที่ป่า? รู้แล้วทำไมไม่ปราบปรามเสียแต่เนิ่น ๆ ?

การทำผิดกฏหมายทั้ง ๆ ที่รู้นั้นน่าจะเกิดมาจากการเอาอย่างกัน (ทำนองเดียวกับการทำผิดกฏจราจร จอดในที่ห้ามจอด แต่พอเห็นจอดมาแล้วตั้งหลายคัน จอดอีกคันไม่น่าจะเป็นอะไร) หรือก็ไม่เชื่อน้ำยาภาครัฐว่าจะทำอะไรได้ (เดี๋ยวนักการเมืองเข้ามาก็จะแก้กฏหมายยกที่ให้พวกทำผิดกฏหมายอีกเช่นเคย คนที่ทำดีก็จะนึกเจ็บใจร่ำไป)

 


สรุปประเด็นข้อนี้ ก็คือ ต้องทำให้คนที่ครอบครองที่ดินนั้นยอมรับว่าในสภาวะขณะนี้ผิดกฏหมายหรือไม่? ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

เมื่อทำให้ชัดเจนได้แล้วว่า พื้นที่ใดควรจะฟื้นฟูเป็นป่าต้นน้ำลำธาร พื้นที่ใดที่อาจอนุโลมให้ใช้ประโยชน์ได้บ้างตามเงื่อนไข คงจะต้องดำเนินการให้เป็นขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกกินแหนงแคลงใจ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะชน คือ

1. ลงทะเบียนผู้บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ไว้ทั้งหมด จัดทำประวัติการครอบครอง และทำฐานข้อมูล โดยจัดกลุ่มประเภทของผู้บุกรุกออกเป็นกรณีไป เช่น กลุ่มที่ซื้อที่ดินสปก. กลุ่มที่บุกเบิกใหม่ กลุ่มที่ซื้อจากภบท.5 ตามระยะเวลาของการครอบครอง

2. นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา โดยประกาศให้พื้นที่บุกรุกแบ่งเป็นเขต ๆ การจัดการพิเศษ ตั้งแต่เขตที่ต้องเพิกถอนสิ่งก่อสร้าง เขตที่อนุโลมให้ใช้ประโยชน์ตามหลักวิชาการ

3. ดำเนินการเพิกถอนและควบคุมโดยนำรูปแบบ “กระชับวงล้อม” มาใช้กำหนดมาตรการณ์ที่ค่อย ๆ เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้การเพิกถอนเป็นไปโดยเกิดผลกระทบเสียหายต่อผู้บุกรุกน้อยที่สุด(คงต้องเกิดผลกระทบบ้างนะ ผู้บุกรุกต้องทำใจ)

4. ผู้ที่ประสงค์จะทำธุรกิจรีสอร์ทในที่ดินของรัฐนั้น รัฐจะต้องออกมาตรการณ์ทางภาษีมาควบคุม เพื่อให้ผลประโยชน์เกิดขึ้นต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

5. ดำเนินคดีอย่างจริงจังแก่ผู้ที่ทราบว่าทำผิดกฏหมายแล้วยังคิดดื้อแพ่ง (ซึ่งอบต.จะต้องให้การสนับสนุนประเด็นนี้อย่างจริงจัง)

6. ต่อจากนี้ไป จะต้องจัดทำฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์ป่าไม้อย่างจริงจังร่วมกับองค์การส่วนท้องถิ่น และติดตามประเมินผลอยู่เสมอ โดยจัดให้มีการสานเสวนาในเรื่องที่ดินป่าไม้กันอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะตอบโจทย์ที่เป็นชื่อเรื่องที่เขียนนี้แล้วนะว่า “ป่านี้ของเธอหรือของใคร?”

ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ลุกขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในเวลานี้ (แม้ว่าน่าจะลุกขึ้นมาให้เร็วกว่านี้) และขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ให้ความร่วมมือด้วย (อย่าทะเลาะกันซะก่อนที่งาน จะเสร็จนะ) ป่านี้ก็ไม่ใช่ของท่านคนเดียวหรอกนะ ทำดีก็ทำไป แต่ไม่นานก็ต้องเกษียณออกจากท้องที่ที่ทำงานอยู่ คงจะไม่ได้ครอบครองพื้นที่ป่านี้หรอก

ขอขอบคุณอบต.ที่เกี่ยวข้องที่ให้ความสนใจ และเข้าใจถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ (พื้นที่ป่าแห่งนี้ใช่จะอำนวยประโยชน์แด่ท่าน และพี่น้องท้องถิ่นเท่านั้นนะ)

ขอขอบคุณเจ้าของรีสอร์ทที่เข้าใจ กลับใจ และทำใจที่จะให้ความร่วมมือเพื่อประเทศไทย ที่ท่านบอกว่ารัก (ท่านส่วนใหญ่มาจากในเมือง มาแสวงหาบ้านหลังที่สอง แล้วยังได้ประโยชน์ที่ท่านหวังไว้ด้วย)

ขอขอบคุณประชาชนและสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรส่วนรวมของชาติไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

ที่จริงอยากสรุปว่า “ป่านี้มิใช่ของเธอหรือใคร? แต่เป็นของเราทุกคน ป่าเป็นทรัพย์สินที่ช่วยคุ้มครองความผาสุกของสรรพสิ่งมีชีวิตและมวลมนุษย์ การตัดสินใจทำอะไรแก่ป่า จงอย่าคิดว่าเป็นเพื่อประโยชน์ของใคร” แต่จะขอให้ท่านผู้อ่านสรุปเองก็แล้วกัน …


Last updated: 2011-09-03 16:09:34


@ ป่านี้ของเธอหรือใคร?
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ป่านี้ของเธอหรือใคร?
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,278

Your IP-Address: 18.118.193.223/ Users: 
1,277