การหนีปัญหาเป็นสิ่งที่ดี แต่การเผชิญหน้ากับมันย่อมดีกว่า
 
     
 
ยุทธการขจัดเขาหัวโล้น
แนวคิดนี้เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้ หากทุกหน่วยงานอุทิศตนเองเอาจริงเอาจังเพราะหน่วยเหนือพร้อมที่จะสนับสนุนทุกอย่างอยู่แล้ว
 

  นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยกับนักข่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเดินหน้าแก้ปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่เป็นต้นน้ำบนภูเขาสูงชัน หรือเขาหัวโล้น ที่ถูกบุกรุกหลังปี 2545 อย่างแท้จริง โดยในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ตนในฐานะอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ   พันธุ์พืช จะทำบันทึกข้อตกลงการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาคสนามทั่วประเทศตั้งแต่ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ทั้ง 16 แห่ง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ จำนวน 147 แห่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กว่า 60 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาเขาหัวโล้น ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะใน 13 จังหวัดภาคเหนือถูกบุกรุกทำลายประมาณ 8.6 ล้านไร่ ดังนั้น ต้องหยุดการบุกรุกทำลายป่า หยุดการบุกรุกที่ดินของรัฐให้ได้ โดยให้หน่วยงานทั่วประเทศแก้ปัญหาใช้  แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศออร์โธสีปี 2545 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของป่า และอธิบดีฯยังกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดปรากฏมีร่องรอยการทำประโยชน์ ในภาพถ่ายทางอากาศออร์โธสี ปี 2545 ให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยให้ดำเนินการตรวจสอบและทวงคืนผืนป่าให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 30  กันยายน 2560 หากหน่วยงานภาคสนามใดไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้ตามกำหนด จะมีการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติราชการในระดับดีเด่น  ให้กับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคสนามที่เกี่ยวข้อง ถ้าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ หน่วยงานหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้ ก็จะถือเป็นตัวชี้วัดว่าไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะมีผลต่อการพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนขั้นเงินเดือน     หากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ หน่วยงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ปล่อยให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าจะมีการพิจารณาลงโทษ ย้ายประจำกรมทันที...

                การบันทึกข้อตกลง หรือ เอม โอ ยู (MOU) ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อแก้ปัญหาเขาหัวโล้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ ภายใน 10 ปี โดยจะนำร่องก่อน 13 จังหวัด เป้าหมายคือ เชียงใหม่ น่าน เลย เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พะเยาว์ แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง และลำพูน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หนักใจมากที่สุดคือสภาพเขาหัวโล้นที่อุทยาน-แห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ไปที่เขาหัวโล้น ทุกแห่ง พร้อมตั้งศูนย์พื้นที่ปลูกป่าต้นน้ำ และหาเจ้าหน้าที่ที่มีฝีมือไปควบคุม โดยจะมีการส่งกำลังบำรุง ทั้งอาหาร ยา น้ำ และรถยนต์ เพื่อสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่...

                เมื่อถูกถามว่า กำลังของเจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีเพียงพอต่อการขึ้นไปควบคุม ดูแลพื้นที่เขาหัวโล้นหรือไม่ นายธัญญา เนติธรรมกุล กล่าวตอบว่า มีอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ คนหนึ่งจะต้องควบคุมเขาหัวโล้นหนึ่งลูก แต่อาจจะต้องดูแล 3-4 ลูกตามลักษณะของพื้นที่ โดยขณะนี้ได้ให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั่วประเทศไปสำรวจว่ามีพื้นที่เขาหัวโล้นในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งงชาติกี่แห่ง และต้องส่งคำตอบภายในวันที่ 19 ธันวาคม 2559 นี้ และพื้นที่บุกรุกก่อนและหลังปี 2545 และพื้นที่ราษฎรครอบครองก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 จากนั้นวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ซึ่งจะมีการทำบันทึกการตกลงในการทำงานร่วมกัน ตนจะขอตัวเลขที่แต่ละพื้นที่ระบุมาเป็นเป้าหมาย แต่ละพื้นที่ต้องรับผิดชอบ...เมื่อถามว่า การทำบันทึกข้อตกลงในการทำงานร่วมกันมีการให้คุณให้โทษด้วยหรือไม่  นายธัญญา กล่าวว่า มีแน่นอนถือเป็นดัชนีชี้วัดการทำงานหน่วยงานในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมาย...

                แนวคิดของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในครั้งนี้ นับว่าเป็นยุทธวิธีใหม่ที่กรมยังไม่เคยใช้มาก่อนในอดีต พอดีไปตรงกับแนวคิดที่ผู้เขียนเคยเขียนแนะนำไว้ในบทความ “สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์” ที่หมายความว่าจากการระดมกำลังพลจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ต่างๆ ไปช่วยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จำนวน 100 คนได้ผลไม่เท่ากับ เอาเงินมอบให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เจ้าของพื้นที่ดำเนินการเองจะดีกว่า โดยใช้เพียงมาตรการติดตามเร่งรัด และช่วยแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานภาคสนามแก้ไขไม่ได้และ   การดำเนินการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจของหน่วยงานหรือกรมต่างๆที่มีหน่วยเฉพาะกิจที่ชื่อว่า พยัคฆ์ไพร พญาเสือ    ฉลามขาว หรือแม้แต่ในอดีตที่มี คนเหล็ก แรมโบ้ ออกปฏิบัติการในที่สุด ก็ไม่พ้นต้องส่งมอบเรื่องให้หน่วยงานภาคสนามดำเนินการต่อ ซึ่งในทางปฏิบัติหากจะให้ดี หน่วยไหนจับหน่วยนั้นต้องรับผิดชอบ หากมีการต่อสู้คดีจะต้องต่อสู้ไปจนถึงคดีสิ้นสุด แล้วจึงมอบเรื่องให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่รับไปดำเนินการ เพราะการจับกุมทวงคืนผืนป่าของหน่วยเฉพาะกิจทุกครั้งจะต้องมีหน่วยงานภาคสนามไปร่วมด้วย แต่การแสวงหาข้อเท็จจริงส่วนใหญ่หน่วยเฉพาะกิจ จะเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น หน่วยงานภาคสนามที่ไปร่วมด้วยจึงไม่ทราบข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด...

                เมื่อมอบเรื่องให้หน่วยในพื้นที่เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ก็เปรียบได้ต่อมาเมื่อมีการต่อสู้คดีคนกล่าวโทษจะต้องไปเป็นพยานโจทก์ เมื่อพยานโจทก์ทราบข้อเท็จจริงน้อย การต่อสู้คดีย่อมเสียเปรียบเป็นธรรมดา จึงพออนุมานได้ว่า  หน่วยงานภาคสนามคงจะไม่ยินดีนัก ถ้ามีหน่วยเฉพาะกิจเข้าพื้นที่ของตนโดยที่ไม่ได้ร้องขอ เพราะทำให้ดูเสมือนว่าหน่วยงานภาคสนามปล่อยปละละเลย และเมื่อเข้ามาแล้วหากมีการทวงคืนผืนป่าจับกุมดำเนินคดีก็ต้องมีการบังคับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และพืชผลอาสินในบริเวณที่บุกรุกออกไปเสียทั้งสิ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาคสนาม ซึ่งการดำเนินงานต้องใช้กำลังคน งบประมาณ ระยะเวลา และฟื้นฟูสภาพป่าทดแทน สำหรับหน่วยเฉพาะกิจแถลงข่าวออกโทรทัศน์มอบงานแล้วก็เดินทางไปพื้นที่อื่น  หากจะถามว่าการมีหน่วยงานเฉพาะกิจคอยช่วยว่าดีหรือไม่ ขอตอบว่าดี เพราะเป็นการระดมผู้มีผู้มีความรู้ ความสามารถในเรื่องนั้นเข้าไปดำเนินการสนับสนุน แต่การดำเนินงานเช่นนี้        ดีเหมือนชื่อ ฉก.ไม่ถาวรยืนยง ไม่เสถียร การให้เจ้าของพื้นที่หน่วยงานภาคสนามดำเนินการเองโดยส่งกำลังบำรุงให้สอดคล้องกับภารกิจที่สั่งให้ทำ ขาดกำลังพล ขาดน้ำมันเชื้อเพลิง ขาดที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ต้องรีบจัดการส่งให้ สำหรับการให้คุณให้โทษนั้นต้องตั้งอยู่ในความเป็นธรรม มิฉะนั้นแล้ว เราจะต้องย้าย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประจำกรมเต็มไปหมด เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย 10 ปี การมอบงานของหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามเมื่อมีการย้าย ให้เน้นไปที่เรื่อง “งานค้าง”       เป็นหลัก ระบุให้ชัดเจนว่างานที่ค้างเป็นงานอะไร หากเป็นงานคดีอยู่ในชั้นไหน อย่าไปเน้นเรื่องวัสดุ ครุภัณฑ์ แล้วคนที่มารับงานจะได้สานต่ออย่างถูกต้อง เราจะคอยดูว่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ เท่าใด จะได้เป็นหน่วยงานดีเด่น...

                สรุป ได้ว่าแนวคิดนี้เป็นยุทธวิธีหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้ หากทุกหน่วยงานอุทิศตนเองเอาจริงเอาจังเพราะหน่วยเหนือพร้อมที่จะสนับสนุนทุกอย่างอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่า การทวงคืนผืนป่านั้นยากแล้ว การที่จะรักษาผืนป่าที่ได้กลับคืนมานั้นยากกว่า...

                มาตรการแผนขจัดเขาหัวโล้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในครั้งนี้หากนำไปปฏิบัติอย่างเข้มข้นอาจเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถ ขจัดนักกรีฑาวิ่ง 100 เมตร ที่มีคุณสมบัติ 2 ประการคือ อยากเป็น แต่ไม่ อยากทำ และรู้สิทธิของตนดี หารู้จักหน้าที่ของตนไม่ ออกไปจากวงจรอุบาทว์ได้ไม่มากก็น้อย เพราะคนที่จะไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หรือหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีเขาหัวโล้นไว้ในครอบครอง ไม่ง่ายเลยที่จะทวงคืนผืนป่ากลับมาได้ง่ายๆ...มือถึงใจ ต้องถึงจริงๆ...

ทศ สถาปัตย์

www.lookforest.com


Last updated: 2016-12-25 21:37:41


@ ยุทธการขจัดเขาหัวโล้น
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ยุทธการขจัดเขาหัวโล้น
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,093

Your IP-Address: 13.59.112.169/ Users: 
1,092