กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
เราห้ามคนคิดไม่ดีกับเราไม่ได้ แต่เราทำให้เขาคิดกับเราดีขึ้นได้
 
     
 
ธ สถิตในดวงใจลูกสีเขียวทุกคน
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่นิสิตเกษตรศาสตร์ ดังกล่าวนี้นอกจากจะทรงเปรียบเทียบทั้ง 3 เพลงด้วยพระอารมณ์ขันแล้ว ก็ทรงกล่าวท่อนจบด้วยอารมณ์ขันด้วยเช่นกัน
 

คราใดที่ที่มีการร้องเพลงโดยขึ้นว่า...เขียวธงขจี ก่อเกิดไมตรีสามัคคีมั่น พวกเราไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดหรือมีการทำพิธีหรือการเลี้ยงสังสรรค์ ณ ที่ใดเหล่าบรรดาลูกสีเขียวต่างรีบลุกขึ้นเปล่งเสียงร้องตาม และบรรดาแขกที่มิใช่ลูกสีเขียวก็ทยอยลุกขึ้นยืนตัวตรงทำตามแบบอย่าง เพราะทุกคนรู้ดีว่าต้องเป็นเพลงที่สำคัญมิน้อยไปกว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี คนนอกได้รับรู้ในภายหลังว่าเพลงที่ตนต้องยืนตามบรรดาลูกสีเขียวนั้นคือ เพลงพระราชทาน ที่ใน สมัยรัชกาลที่ 9 มีเพียง 3 มหาวิทยาลัยเท่านั้น ที่ได้รับพระราชทาน เพลงแรกคือเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” ทรงนิพนธ์ทำนองเพลงให้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาก็เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสุดท้ายที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงประพันธ์เพลงคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นั้นเอง ได้บรรเลงเพลงครั้งแรกกับวงดนตรีสากลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยู แบนด์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2509 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง...


ผู้อ่านได้มีโอกาสอ่านเบื้องหลังการประพันธ์ทำนองของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9    และการประพันธ์คำร้องของ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในสมัยนั้น แล้วรู้สึกประทับใจ และตื้นตันใจอยากแชร์เรื่องราวให้ลูกสีเขียวทุกคนได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีพระเมตตาต่อลูกๆอย่างเราชาวเกษตรศาสตร์ จึงขอคัดลอกบางช่วงบางตอนของบทความ...

“เบื้องหลังสุดประทับใจ 3 มหาวิทยาลัยกับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9”  ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2559 ในคอลัมน์ “ซูมซอกแซกสุดสัปดาห์” ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เคยเขียนเล่าว่ามีโอกาสแต่งเนื้อเพลงถวายในหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9 รวม 2 เพลง...

เพลงแรกได้แก่เพลง “ใกล้รุ่ง” ใช้เวลาแค่เพียงชั่วโมงครึ่งแล้วเสร็จ แต่เพลง เกษตรศาสตร์ ได้รับพระราชทานทำนองจากในหลวงมาแล้ว เกือบปีแต่งเนื้อร้องไม่เสร็จ เหตุผลเพราะเมื่อเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย  ก็ต้องไปเปรียบเทียบกับเพลงพระราชนิพนธ์ของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง มหาจุฬาลงกรณ์ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ยอมรับว่าเนื้อเพลงของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้นเยี่ยมยอดเหลือเกิน เยี่ยมจนท่านรู้สึกแหยงจึงไม่สามารถเริ่มต้นของเกษตรได้เสียที จนกระทั่งพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสถามถึง จึงต้องรีบกลับไปแต่งจนจบได้ในที่สุด  หลังจากเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็ได้มีการนำไปพูดถึงและเปรียบเทียบกับอีก 2 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...


เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงทราบถึงคำพูดเปรียบเทียบดังกล่าว ก็ทรงมีพระราชดำรัสแก่คณาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า...

“กับมหาวิทยาลัยเกษตรนี้ต้องบอกว่ายาวเท่ากัน ไม่ต้องอิจฉาว่าของเขายาวกว่าหรือสั้นกว่า ยาวเท่ากันแล้วก็การสร้างเพลงนี้ก็สร้างในแบบเดียวกันไม่ต้องอิจฉาอะไรแล้ว ก็บอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบก็รู้ว่าจะทำอย่างไร อาจจะแก้ไข   แต่ก็มีอย่างหนึ่งของเพลงของจุฬาฯ เขาก็บอกว่าเพลงของเขาเพราะที่สุด ถ้าไปถามธรรมศาสตร์ว่าเพลงไหนเพราะที่สุด เขาก็บอกว่าเพลงธรรมศาสตร์...แล้วถ้าถามพวกเกษตรน่ากลัวบอกว่าเพลงเกษตรเพราะกว่า ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร เพลงของจุฬา เขาโอ้อวดว่าสง่าผ่าเผยมาก แล้วก็เพราะมาก ถ้าพูดถึงเพลงธรรมศาสตร์ เขาก็บอกว่าองอาจดี เดินก็ได้ จุฬาเขาก็ตอบว่า ของเขาเดินก็ได้เหมือนกัน เป็นเพลงสำหรับนำแถวได้...เพลงของเกษตรนี้ที่จริงควรตัดสินเอาเองว่าเป็นอย่างไร แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่งรู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่าเพลงโน้น  แต่อ่อนหวานนี้ไม้ได้หมายความว่าไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี้อาจมีความหมายได้ว่าผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้ารสหวานรู้สึกว่าดีเพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่าเพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้เปลี่ยนแปลงไปหน่อยก็ อาจเป็นเพลงสำหรับแตรวง เดินก็อาจจะพอได้แต่อย่าไปเดินขบวน”

                                พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่นิสิตเกษตรศาสตร์ ดังกล่าวนี้นอกจากจะทรงเปรียบเทียบทั้ง 3 เพลงด้วยพระอารมณ์ขันแล้ว ก็ทรงกล่าวท่อนจบด้วยอารมณ์ขันด้วยเช่นกัน เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้จากนิสิตเกษตรที่เข้าเฝ้าในวันดังกล่าวได้พร้อมๆกัน...

          ในฐานะนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม้นพระองค์ท่านจะเสด็จประทับอยู่สวรรค์ชั้นใด พระราช จริยวัตรอันงดงามและพระเมตตาหาที่สุดมิได้ จะจารึกไว้ในดวงจิตแก่บรรดานิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งเก่าและปัจจุบันไปตราบชั่วนิรันดร์กาล...

 

ทศ สถาปัตย์

www.lookforest.com

 

 




Last updated: 2016-12-03 11:33:38


@ ธ สถิตในดวงใจลูกสีเขียวทุกคน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ธ สถิตในดวงใจลูกสีเขียวทุกคน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
977

Your IP-Address: 3.237.32.143/ Users: 
976