อย่าให้งานต้องรอการตัดสินใจของเรา
 
     
 
น้ำอยู่ที่ไหน...?
มีสาเหตุหนึ่งที่น่าสังเกตคือเราสร้างที่กักเก็บน้ำไม่ว่า ห้วย หนอง คลอง บ่อขนาดใหญ่จนถึง ฝายและเขื่อน เรามีความเชื่อว่าจะได้น้ำมาจากท้องฟ้าฝ่ายเดียว คือ ฝน เราไม่เคยหวังน้ำจากป่าหรือฟองน้ำของเราเลย
 

จากการได้ดูภาพในโทรทัศน์ และอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ในโทรทัศน์ในวันประชุมคณะรัฐมนตรีที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการพูดถึงปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ในเขื่อนว่าเหลือมากน้อยเพียงไร พอเสร็จสิ้นการประชุม ท่านนายกรัฐมนตรีได้ออกมาเดินชมบูทจัดนิทรรศการของกรมต่างๆ พอมาถึงบูทของกรมชลประทานอธิบดีได้บรรยาย เห็นภาพท่านนายกรัฐมนตรีออกอาการหงุดหงิด เอามือปัดมือของอธิบดีออกแล้วถามว่า “ต้นน้ำอยู่ที่ไหน ตรงไหนที่เก็บกักน้ำ” คิดว่าประชาชนในประเทศไทยไม่น้อยที่ได้ชมภาพนี้ มันเป็นภาพปริศนาและคำถามตรงเป้าของบ้านเมืองที่กำลังประสบภาวะวิกฤตภัยอันใหญ่หลวง คือ “ภัยแล้ง” ผู้เขียนเป็นหนึ่งในหลายคนที่สงสัยในวาทะกรรมที่ได้ยิน  พยายามหาบทความ อ่านว่าท่านผู้ใดแปลความหมายไว้บ้าง ปรากฏว่าไม่มีถ้าหากท่านนายกรัฐมนตรีต้องการทราบข้อมูลต้นน้ำปิงและที่กักเก็บน้ำไม่ว่าแก้มลิงหรือเขื่อน  เห็นทีต้องสอบถามกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมชลประทานและองศ์การบริหารส่วนตำบลหรือจังหวัด  หากเป็นข้อมูลทางวิชาการคงหนีไม่พ้นคณะวนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วจะพบแหล่งน้ำและสถานที่กักเก็บน้ำไม่ว่าแก้มลิงหรือเขื่อน สำหรับผู้เขียนแล้วแม้ว่าจะจบคณะวนศาสตร์ เมเยอร์ อนุรักษ์ต้นน้ำ (Conservation) เคยเป็นหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ จะไม่ขอออกความคิดเห็นในเชิงวิชาการเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุภัยแล้งที่พวกเราหาว่าตอนนี้ น้ำอยู่ที่ไหน...?

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่าน้ำนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะไม่เอาวิชาการมาพูดก็กล่าวย้อนไปในอดีตที่เรายังเด็ก ครูวิทยาศาสตร์สอนว่าน้ำเกิดจากน้ำระเหยจากดินหรือน้ำในห้วย หนอง คลอง บึง ทะเล ขึ้นไปในอากาศ เมื่อกระทบความเย็นกลั่นตัวเป็นหยดน้ำกับพอดีลมมาช่วยทำให้ตกลงมาเป็นฝน เอาละเมื่อเรามีน้ำแล้วมันตกลงมาบนพื้นดิน จากแรงโน้มถ่วงของโลก มันย่อมไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ หากมันตกในทะเลทรายน้ำก็จะถูกดูดลงไปใต้ดิน หากตกบนภูเขาย่อมไหลลงที่ต่ำ แต่ทั้งนี้การไหลของมันก็ขึ้นกับปัจจัย ไหลเร็ว ไหลแรง ไหลช้า หากเป็นภูเขาและเป็นเขาหินก็คงไหลลงอย่างแรงและรวดเร็วกัดเซาะเส้นทางที่อ่อนนุ่มจนกลายเป็นแม่น้ำลำคลอง ต่อมามีต้นไม้ขึ้นอยู่เต็ม น้ำฝนตกลงมาด่านแรกที่ต้องเจอใบไม้นับล้านล้านใบและส่งลงดินหรือไหลลงตามลำต้น การไหลของน้ำเริ่มช้าลง ไปเจอเอาป่าที่ทึบหน่อยแสดงว่าใต้ดินรากของต้นไม้ ไชชอนสอดแทรก ประสานมัดกันเป็นแผง เปรียบได้ดังฟองน้ำของคนปัจจุบัน คราวนี้น้ำที่ไหลลงจากลำต้นก็จะถูกรากดูดอุ้มไว้ หากอุ้มไว้ไม่ไหวก็ปลดปล่อยไหลลงไปตามร่องน้ำ ไหลลงไปสู่ลำห้วย ลงสู่แม่น้ำลำคลอง เป็นเช่นนี้มาชั่วนาตาปี นี้คือธรรมชาติดั่งเดิม...?

ต่อมามนุษย์เริ่มมีมากขึ้นจึงพากันไปตัดฟันทำลายฟองน้ำในธรรมชาติ คราวนี้ พอฝนตกน้ำไหลเร็วเพราะไม่มีตัวดูดซับค่อยๆปล่อยน้ำอย่างแต่เก่าก่อน จึงเป็นเหตุให้น้ำไหลมาอย่างรวดเร็ว บางครั้งสร้างความเสียหายให้แก่ไร่นา บ้านเรือน และไหลลงทะเลหมด จึงเกิดภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง มนุษย์จึงคิดสร้างเขื่อนขึ้นมาเพื่อเวลาน้ำหลากจะได้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าที่ฝนไม่ตก และชะลอไม่ให้น้ำท่วมบ้านเรือน แรกๆก็ได้ผลดีต่อมาเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งแปลว่าอะไรก็ไม่รู้ อากาศแปรปรวนไม่เป็นไปตามฤดูกาล คราวนี้เล่นเอามนุษย์ทำอะไรไม่ถูก จึงเกิดภาวะแล้งไปทั่วทั้งประเทศ นี้ก็เดือนกรกฎาคมแล้ว ฝนยังไม่มา เขื่อนใหญ่ทุกเขื่อนก็ไม่มีน้ำ เกิดวิกฤติ...?

ดังได้กล่าวถึงวัฏจักรของการเกิดน้ำมาข้างต้น มีสาเหตุหนึ่งที่น่าสังเกตคือเราสร้างที่กักเก็บน้ำไม่ว่า ห้วย หนอง คลอง บ่อขนาดใหญ่จนถึง ฝายและเขื่อน เรามีความเชื่อว่าจะได้น้ำมาจากท้องฟ้าฝ่ายเดียว คือ ฝน เราไม่เคยหวังน้ำจากป่าหรือฟองน้ำของเราเลย เพราะต่างคนต่างเชื่อว่าประเทศเราตั้งอยู่ในแถบมรสุม พอถึงฤดูกาลต้องมีลมมรสุมผ่านมาอย่างน้อย 2-3 ลูกพอที่จะเติมน้ำในเขื่อนได้ แต่ขณะนี้เรายังไม่เห็นพายุลูกใดพัดผ่าน หากมีฝนตกบ้างก็เป็นไปได้ทั้งสอง ทางคือตกเหนือเขื่อนก็ได้น้ำ ตกใต้เขื่อนก็ไหลลงทะเลไป เมื่อไม่มีน้ำในเขื่อนแต่ฝนตกก็ลงความเห็นว่าฝนชอบตกหน้าเขื่อน แทบจะทุกคนจะถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าบ้านเราแถบเป็นแถบมรสุมยังไงก็ต้องมีพายุดีเปรสชั่นเข้า หาได้เคยคิดที่จะหาน้ำมาเติมเขื่อนจากที่อื่นก็หาไม่ ทุกคนลืมไปหมดว่า ป่าคือที่มาของน้ำที่ยั่งยืนที่สุดหากท่านสามารถรักษามันไว้ได้ แม้จะมีคนแย้งบ้างงก็ตามว่า ป่าไม่ได้ให้ฝน เช่นกรุงเทพมหานครไม่มีป่า ฝนตกแทบทุกวัน ทะเลทรายไม่มีป่าฝนยังตก มันก็จริงแต่ไม่จริงไปเสียทั้งหมด เหตุผลบางเหตุผลมันเพียงข้อยกเว้นของกฎแห่งธรรมชาติ มาช่วยกันรณรงค์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำกันเถิด หากบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ (Watershed Area) มีป่าสมบูรณ์เมื่อใดเราจะได้อีกหนทางที่มีน้ำมาเติมเต็มที่กักเก็บน้ำ ลองตามมาดู...?

สมัยที่ผู้เขียนยังบรรจุใหม่ได้มีโอกาสบุกป่าฝ่าดงในแถบชายแดนด้านอีสานใต้ในราวปี พ.ศ.2518 บุกป่าฝ่าดงไปจนถึงหลักเขตประเทศไทยที่ด้านฝั่งไทยเขียนว่า “สยาม” ด้านตรงข้ามเขียนว่า “กัมพูชา” เป็นเสาปูนขนาดใหญ่มาก สภาพป่าที่ผ่านมาเป็นป่าเต็งรังก่อนแล้วค่อยเป็นป่าดิบแล้ง ไม้มีค่าไม่ว่า ไม้พะยูง ประดู่ ตะเคียนหิน ตะแบกต้นใหญ่มีพูพอนกางออกเหมือนปีกนกอินทรี ขึ้นหนาแน่น ในตอนนั้นไม่รู้ว่าเป็นป่าอะไร รู้แต่เพียงว่า ป่าไม้เขตให้ออกไปตรวจปราบปรามการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้และตรวจป่าสัมปทานตามเงื่อนไข ทั้งของบริษัทสุรินทร์ทำไม้จำกัด และบริษัทศรีสะเกษทำไม้จำกัด มารู้เอาภายหลังว่าที่พากันไปเดินจนถึงชายแดนเทือกเขาที่พากันเดินเป็น “เทือกเขาพนมดงรัก” ได้พบเห็นความสมบูรณ์ของป่า ลำห้วยเล็กๆบนเขาในหน้าแล้งน้ำใสไหลเย็น ตะไคร้น้ำจับตามโขดหิน ผีเสื้อโบยบินอวดปีกที่ธรรมชาติวาดลวดลายไว้เห็นสวยงามยิ่งนัก ขอเป็นประจักษ์พยานได้เลยว่าแม้ในหน้าแล้ง น้ำในลำห้วยเหล่านี้ที่พบไหลรินตลอดเวลา ขอให้ผู้อ่านเชื่อได้เลยเพราะมิใช่พยานบอกเล่า...?

มาถึงปี พ.ศ.2521 ผู้เขียนได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นหัวหน้าหน่วยจัดการป่าไม้ที่ ชร.9 (ป่าแม่ท่าช้าง-ป่าแม่สรวยฝั่งขวา) มีป่าโครงการอยู่ในความควบคุม 1 ป่า คือป่าโครงการแม่ท่าช้าง-แม่สรวยฝั่งขวา ชื่อย่อป่า ชร.9 มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลตามเงื่อนไขสัมปทานทุกกรณี หมายถึงการกระทำที่เมื่อถึงฤดูการทำไม้ก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไปคัดเลือกไม้โดยการประทับตรา “ตัด”และตรา “ต” เสร็จแล้วเมื่อถึงฤดูกาลชักลากไม้ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตีตราชักลาก ก่อนที่จะลากออกจากตอมารวมหมอนไว้ ณ ที่ได้กำหนดให้รวมหมอน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดจะมาตีตรา “ภล” เป็นตราค่าภาคหลวง  เมื่อจะทำการขนย้ายไม้ต้องให้ป่าไม้อำเภอมาออกใบเบิกทางจึงจะขนย้ายไม้ออกไปได้ ในยามปรกติต้องออกตรวจป่า สัมปทานทุกเดือนและออกตรวจปราบปรามการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ทุกกรณี...

 หน่วยจัดการป่าไม้ที่ ชร.9 ตั้งอยู่ห่างจากถนนเส้นทางเชียงราย – ดอยสะเก็ด(เชียงใหม่) โดยเมื่อเดินทางถึงอำเภอแม่สรวยเลี้ยวขวาไป 3 กิโลเมตรก็จะถึงและเส้นทางหน้าหน่วยจะเป็นถนนลูกรัง หากเป็นปัจจุบันได้จัดทำเป็นทางหลวงแผ่นดิน สายแม่สรวย – ฝาง วิ่งรถสบาย ในสมัยนั้นเต็มไปด้วยขุนเขาหัวโล้น ในเขตป่าสัมปทานที่ดูแลถูกแผ้วถางไปแล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ที่เล่าทางพื้นที่ทางกายภาพให้อ่านเนื่องจากว่าในตอนนั้นข้างหน่วยยังมีลำห้วยขนาดความกว้าง 2-3 เมตร มีน้ำใสไหลเย็นตลอดทั้งปี ไม่เคยมีน้ำแล้งแม้แต่ครั้งเดียวหมู่บ้านรอบหน่วย ตำบล    ป่าแดด บางหมู่บ้านมีลำห้วยขนาดเล็กกว้าง 1-1.5 เมตร มีน้ำไหลผ่านหน้าบ้านชั่วนาตาปี เวลาซักผ้าเพียงหากระดานมา 2 แผ่น พาดลำห้วยนั่งซักผ้าได้สบาย ไม่ต้องตักให้เสียแรง ฤดูทำนาถ้าต้องการน้ำ เพียงหาดินมากั้นคลองเบี่ยงน้ำให้ไหลเข้านาเท่านี้ก็เสร็จ  สมัยนั้นคนเหนือปลูกข้าวปีเดียว กินไป 2 ปี 3 ปี จึงทำให้มีคนนินทาว่าคนเหนือเกียจคร้าน ที่จริงเนื่องจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาตินี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง ขนาดป่าถูกทำลายให้เป็นภูเขาหัวโล้นเต็มไปหมดยัง อุตสาห์เก็บน้ำไว้ให้เพราะสิ่งนั้นคือ “ป่า”

มาดูอีกตัวอย่าง ผู้เขียนกับผู้ใต้บังคับบัญชาหนึ่งนายได้ร่วมเดินทางขึ้นไปที่ป่าต้นน้ำแม่ท่าช้าง ซึ่งก็เป็นป่าในโครงการที่ควบคุมอยู่ เพื่อที่จะตรวจตามเงื่อนไขสัมปทาน ออกจากหน่วยตามถนนลูกรังของ ร.พ.ช.ไปได้สัก 6กิโลเมตรโดยรถของหน่วยให้คนขับรถกลับ เราทั้งคู่พร้อมชาวบ้านนักเดินป่าพากันเดินข้ามขุนเขาไป 2 ลูก มาถึงลูกที่ 3 ขึ้นไปบนยอดเขาเห็นกระต๊อบปลูกเรียงราย มาทราบทีหลังว่าประมาณ 20 ครอบครัว เป็นชนเผ่ามูเซอ พอเดินเข้าเขตหมู่บ้านจะได้ยินเสียงเรียกบอกกันเป็นทอดๆว่า ...

“กะเล่อะบ้านโป่งมะเซเว...กะเล่อะบ้านโป่งมะเซเวๆๆๆๆ”

จึงถามคนนำทางว่า เขาร้องกันทำไม คนนำทางพูดว่า พวกชาวเขาเขาพากันดีใจร้องบอกต่อๆกันว่า...

“มีชาวพื้นราบบ้านป่าแดดมาเยี่ยมแล้ว”

มารู้เอาตอนเย็นเมื่อเข้าพักซึ่งเป็นกระต๊อบมีพื้นเป็นฟากทำจากไม้ไผ่รอง ยังดีที่ไม่ให้อยู่กับพื้นดินเดิมเหมือนพวกเขา พอเราจัดข้าวของเสร็จนั่งพักเป็นเวลา 6 โมงเย็น บรรดาแม่บ้านของชนเผ่าต่างอุ้มพืชผล มีฟักทอง แตงกวา แฟงและอีกหลายอย่าง เรา 2 คน ต่างสงสัยว่าทำไมชาวเขาเผ่านี้ถึงใจดีนัก มาถึงไม่ทันไรก็มีของมาฝากแล้ว คนนำทางที่เป็นคนของบริษัทเชียงรายทำไม้จำกัด จึงยกเอากล่องกระดาษขนาดกว้างยาวเท่ากระดาษ เอ4 สูงประมาณ 5-6 นิ้วออกมา พร้อมกับกระสอบปุ๋ยที่มีสิ่งบรรจุอยู่ภายในครึ่งกระสอบเปิดออกแจกจ่าย จึงรู้ว่าที่ชนเผ่านำพืชพันธุ์ธัญญาหารมานั้นเพื่อแลก “เกลือ” กับ “ยาบวดหาย” พวกเราได้แต่นั่งนึกไอ้ที่ขาดเกลือคือขาด ไอโอดีน นั้นพอเข้าใจแต่ขาดยาบวดหายนี้ซิมันระบาดถึงยอดดอยเชียวหรือนี้ พอถึงเวลาจะอาบน้ำได้รับการบอกเล่าว่ามีน้ำตกอยู่กลางหมู่บ้านจึงพาเจ้าน้องที่มาด้วยนุ่งผ้าขาวม้า ถือขันน้ำพร้อมสบู่พากันเดินไปกลางหมู่บ้าน มีน้ำตกกลางหมู่บ้านจริง ทั้งที่บริเวณนั้นเป็นที่โล่งเตียน ยืนพินิจมีเสาไม้สูงประมาณ 6 เมตร ปักอยู่ และเรียงเป็นต้นมุ่งไปทางขุนเขาที่อยู่ห่างจากดอยลูกนี้ข้างบนเป็นไม้ตีเป็นราวเหมือนราวตากผ้า แต่ที่สำคัญคือบนราวมีท่อยางสีขาวใสขนาด 2 นิ้ว วางพาดทอดยาวไปตามราว และที่ปลายท่อมีน้ำไหลลงมายังพื้นดินไม่ขาดสายไม่มีเวลาหยุดเพราะไม่มีวาวล์ปิดเปิด ไหลชั่วนาตาปี พวกเราจึงผลัดกันเข้าไปยืนรองรับน้ำและชำระร่างกายทีละคน น้ำไหลแรงมาก พอกลับที่พักความสงสัยว่าน้ำมาจากที่ไหนก็หมดไป เพราะคนนำทางแก้ปมสงสัยให้ว่า  พวกมูเซอสมัยรัฐบาลท่านคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ มีนโยบายประชานิยม ขุดคลองเป็นถนน ขุด-ถนนเป็นคลอง พวกนี้ได้ไปช่วยคนพื้นราบได้เงินมาใช้ ภูมิปัญญาชาวมูเซอซื้อสายยางมาต่อกันแล้ววางทอดยาวไปตามไหลเขาไปยังขุนเขาอีกลูกที่อยู่สูงกว่าที่นี้และยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์เป็นบริเวณที่พวกเราจะไปตรวจสภาพป่าในวันรุ่งขึ้น...?

พอรุ่งเช้าตื่นขึ้นมาได้รับข่าวร้ายว่าน้ำหยุดไหล เพราะเมื่อคืนฝนตกหนัก สร้างความประหลาดใจต้องขบคิดดีว่ามีน้ำในตุ่มพอที่จะแปรงฟันล้างหน้าได้ และพอดีกับต้องถ่ายทุกข์ในตอนเช้าด้วย ที่นี้ไม่มีสุขา จะทำยังไงดีไอ้เจ้าน้องเคยมานอนกับชาวเขาบอกว่าให้พี่ระวังหมู ไม่ใช่หมูป่าแต่เป็นของมูเซอ เขาเลี้ยงปล่อยมันขุดหน่อไม้กินเป็นอาหาร อดๆอยากๆ ถ้าเห็นมันให้รีบหนี จึงหยิบกระดาษชำระได้ เดินเลี่ยงเข้าป่าละเมาะข้างที่พักได้ที่เหมาะสมถอดกางเกงนั่งยองๆ พอถ่ายเสร็จกำลังเช็ดก้นให้สะอาด ไม่รู้เจ้ามฤตยูมาจากไหนวิ่งเข้าชาร์ทใส่อุจาระดีว่าลุกหนีทันไม่อย่างนั้น พวงสวรรค์หายทั้งพวงแน่ เอามาเล่าให้พรรคพวกฟังต่างหัวเราะเพราะทุกคนต่างเคยผ่านสถานการณ์เช่นนี้มาแล้ว พอแต่งตัวเสร็จก็ถามหาว่าหัวหน้าเผ่ามูเซอพร้อมแล้วยังจะได้ไปดูต้นเหตุที่น้ำไม่ไหล ไอ้น้องที่มาด้วยบอกว่ากำลังไปตามช่างประปานครหลวงมูเซออยู่ ขณะรอสักครู่ทุกคนพร้อมจึงได้พากันเดินทางข้ามเขาไปถึงขุนเขาอีกลูกที่อยู่สูงกว่าหมู่บ้านระยะทางในทางราบประมาณ 5 กิโลเมตรบางช่วงที่เดินก็จะพบสายยางคึกฤทธิ์บ้างเป็นบางช่วงบางตอน ที่สุดก็มาถึงเป้าหมาย ภาพตรงหน้าเป็นฝายน้ำล้นกว้างประมาณ 2.50 เมตร เป็นฝายผสมผสานใช้ไม้ไผ่เป็นหลักสร้างเพื่อชะลอความชื้น เพราะขอบข้างเต็มไปด้วยไม้เล็กไม้น้อยมีเฟิร์นจำพวกผักกูดขึ้นอยู่ประปราย เป็นฝายใช้ไม้ไผ่ทำคอกแล้วนำวัสดุในพื้นที่เช่น ใบไม้มีก้อนหินบ้างเล็กน้อย อัดบดแน่นตรงกลาง สามารถเดินข้ามไปมาได้ น้ำที่เต็มฝายบัดนี้ขุ่นขลักเนื่องจากตะกอนไหลถล่มลงมานายช่างประปาลงไปควานหาท่อโดยการโกยดินตะกอนที่เข้าไปอุดตัน ห้วยนี้ไม่ลึกนัก ประมาณ 1.50 เมตรความอยากรู้จึงลงไปช่วยควานดูปรากฏพบแล้วอยู่ใต้สุดของอ่าง มิน่าตะกอนมันถึงได้เข้าไปกดทับไว้ไม่ปล่อยให้ช่องน้ำเข้า จึงทำให้หมู่บ้านขาดน้ำ จึงได้บอกให้นำสายยางออกมาแล้วมาเสียบใหม่ให้อยู่ในระดับ 2 ใน 3 ของความลึกอ่าง ตะกอนจะได้ท่วมไม่ถึง กรรมวิธีไม่มีอะไรยากใช้กระบอกไม้ไผ่ทะลวงไส้ทะลุตลอดปล้อง ฝายกว้างเมตรครึ่งจึงเจาะให้ทะลุแล้วตอกเข้าไป พอพ้นใช้สายยางคึกฤทธิ์สวมที่ปลายท่อรัดด้วยลวดเท่านี้ก็เสร็จสิ้น คณะเราจึงให้หัวหน้าหมู่บ้านสร้างฝายดักตะกอนอีก 1-2 ฝาย ไว้ทางต้นน้ำจะช่วยได้มากถ้าฝนตกไม่หนักน้ำยังคงมีไหลให้ได้ใช้  ไม่เหมือนขณะนี้ตกหนักหรือเบาก็ต้องส่งนายช่างมาโกยดินตลอดเวลา ทุกคนเข้าใจดี พวกเราพักอยู่เพียง 5 วัน ก็ลงจากดอยมาสู่พื้นล่าง การไปตรวจสภาพป่าครั้งนี้ทำให้ได้ประสบการณ์และบทเรียนเป็นอย่างดี...!!!

                ผู้เขียนว่าอยู่อีสานได้เดินดงมามากพอสมควรแต่เทียบกับอยู่เชียงรายแล้วสาหัสกว่า ที่นี้เป็นแหล่งชุมนุมของบรรดาบุคลากรจากกองอนุรักษ์ต้นน้ำ เช่น พี่กุ้ง (ธวัชชัย)และบรรดาน้องๆ ท่านดำรงค์  พิเดช ท่านเริงชัย  ประยูรเวช และคุณปฏิสัณฐาน สำหรับเพื่อนก็มีคุณณรงค์ อุทยารัตน์ แต่ละท่านมาจากกองอนุรักษ์ต้นน้ำ จึงยึดดอยคนละดอย   ตั้งหน่วยปรับปรุงต้นน้ำ สำหรับที่แม่ท่าช้างก็มีคุณปฏิสัณฐานมาตั้งรกรากเปิดหน่วยมีคำสั่งและเป้ใบเดียวเดินทางมา นับว่าเป็นบรรดาเหล่านักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ใคร...

                ที่ว่าสาหัสนั้นเพราะผู้เขียนได้ถูกหัวหน้าฝ่ายเรียกไปพบ  เพื่อจะให้ตรวจงานคัดเลือกไม้ยังพื้นที่นอกเขตควบคุมแต่ได้ต่อรอง ไปว่าทั้งชีวิตยังไม่เคยคัดเลือกไม้จะให้ไปตรวจจะรู้เรื่องได้อย่างไรมีป่าที่มีไม้ไม่ต้องมากขอลองคัดเลือกสักป่า หัวหน้าฝ่ายให้ไปขอที่ผู้ช่วยป่าไม้เขต ท่านผู้ช่วยก็ใจดีอนุญาต เขตจึงได้ออกคำสั่งให้ไปทำการคัดเลือกไม้ป่าโครงการ ชร.11 (แม่ลาวฝั่งซ้าย) ตอน 3 ให้จ้างคนงานได้ 4 คน จำได้ว่าได้ออกไปทำการคัดเลือกไม้ต้นเดือนมีนาคม และกลับออกมาปลายเดือนเมษายนเป็นเวลา 60 วัน ไม่ได้ออกมาเข้าเมืองเลย เพราะสถานที่คัดเลือกอยู่ห่างอำเภอเวียงปาเป้าประมาณ 20 กิโลเมตร การเดินทางเข้าไปหากใช้ยานพาหนะ ต้องจักรยานยนต์วิบากอย่างเดียว และบริษัททำไม้ก็ให้คนงานมาส่งเข้าป่าและคอยส่งเสบียงอาหารอาทิตย์ละ 1 ครั้ง บรรทุกสิ่งของแต่ละครั้งได้ไม่มากนัก  ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสำเร็จรูป จำพวกเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เดือนหนึ่งแทบจะไม่เคยเจอ ตั้งกระต๊อบ เป็นเพิงหมาแหงนใช่ใบตอง (ใบกล้วยป่า)ซึ่งมีอยู่มากเอามาทำหลังคากันน้ำค้าง สถานที่ต้องเป็นริมลำห้วยแม่ลาวเท่านั้น พอใบตองเหลืองก็ย้ายที่สักครั้ง ทำตัวเหมือนผีตองเหลือง การคัดเลือกไม้นั้นตามระเบียบต้องเดินคัดเลือกต้องเดินคัดต้นที่มีขนาดวัดพียงอกตามขนาดจำกัด เช่นไม้เหียงมีขนาดจำกัด 150 เซนติเมตร ขึ้นไปถึงจะเลือกได้  ไม้เต็ง รัง ขนาดจำกัดเท่ากัน 100 เซนติเมตร  สิ่งที่ว่ายากและโหดระเบียบวางไว้ว่าต้องเดินสลับฟันปลา  การเดินในลักษณะนี้แม้แต่ที่ราบยังยาก มาโดนบริเวณที่เป็นภูเขา แทบจะไปไม่เป็น  พอตีตราบนสันเขาได้ 2 – 3 ต้น ต้องลงมาที่ริมห้วย ตีตราได้ 1 ต้นบ้าง 2 ต้นบ้าง แล้วแต่จะมีขนาดไม้ที่ได้ขนาด ยังไม่หายเหนื่อยก็ต้องขึ้นเขาอีก เป็นเช่นนี้ตลอด 2 เดือน อาหารการกินก็แร้นแค้นเพราะรถเข้าถึงยาก อาศัยน้ำพริกนรกในกล่องพลาสติกกับผักกูดในห้วยประทังชีวิตก็มี ที่นำมาเล่าให้ฟังเพื่อจะได้เห็นว่าตลอดทั้ง 2 เดือน กระต๊อบตั้งอยู่ริมแม่น้ำลาวซึ่งไหลแรงและใสสะอาดแม้แต่ในหน้าแล้งก็หาได้แห้งแล้งดังแม่น้ำในปัจจุบัน ได้เห็นและอาศัยอาบดื่มกินเป็นเวลา 2 เดือน  ซึ้งในขุนเขาป่าไม้และพืช ไม่ว่าชั้นสูงชั้นต่ำที่ดูดกัก ดึงรั้งน้ำไว้ดั่งฟองน้ำขนาดใหญ่ที่ดูดซับน้ำแล้วค่อยๆปล่อยให้ไหลรินจากที่สูงไปยังที่ต่ำ ชั่วนาตาปี...???

                ดังได้สาธยายมามากเพื่อขอให้ผู้มีหน้าที่ได้หันมาทบทวนการฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เป็นกิจจะลักษณะอีกครั้ง อย่าให้เขื่อนทั้งหลายตั้งตารอแต่ฝนจากฟากฟ้าทั้งๆที่มีตัวเลือกให้กระทำได้และเป็นจริง หาได้มโนอย่างบางคนคิด ถ้าไม่ช่วยกันเอาจริงเอาจังกับการหาน้ำเติมเขื่อนจากป่าแล้ว ต่อไปท่านจะเสียใจในภายหลัง...??

                ปิง วัง น่าน  ล้วนเป็นแม่น้ำสายหลักที่มีที่มาจากพื้นที่ต้นน้ำ ที่สมบูรณ์จากทางเหนือของประเทศ และยังมีเขื่อนขนาดใหญ่คอยรองรับการจัดการน้ำ สำหรับแม่น้ำยม แม้จะไม่มีที่กักเก็บน้ำเช่นสามสายหลัก แต่ต้นน้ำก็ไม่น้อยกว่า ปิง วัง และน่าน มาช่วยกันพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำหลักของทั้งสี่แม่น้ำสายหลัก ที่ถูกทำลายอย่างหนัก จนทำให้ระบบนิเวศสูญเสียไปหมด เพราะป่าต้นน้ำเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นใหม่ได้ ถ้าทุกคนเอาจริงเอาจังกับมัน อย่ามัวแต่พึ่งฝนจากฟากฟ้าเพียงอย่างเดียว ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะไปรอดหรือไม่อยู่ที่แม่น้ำสายหลักทั้ง 4 สาย เริ่มหาน้ำเติมเขื่อนจากป่าได้แล้ว...?

“ น้ำไม่ได้หายไปไหน...?”

 

 


Last updated: 2015-07-28 15:59:06


@ น้ำอยู่ที่ไหน...?
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ น้ำอยู่ที่ไหน...?
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,268

Your IP-Address: 18.191.88.249/ Users: 
1,267