จงยินดีที่เป็นผู้ให้ มากกว่าจะเป็นผู้รับ
 
     
 
ศาสตร์ของพระราชา
ในอดีตแม้แต่แจกเอกสารสิทธิ สทก. สปก. ถ้าอ่านด้านหลังจะมีการให้ปลูกต้นไม้ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่
 

พระราชดำรัสที่เป็นวลีสั้นๆที่พระราชาแห่งสยามประเทศพระองศ์ปัจจุบัน ที่ให้ไว้เกี่ยวกับป่าไม้คือ“ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” ทุกคนได้ยินได้ฟังและรับทราบ แต่ยังมิได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง อาจเนื่องด้วยวลีที่ว่านี้มีนัยยะที่เราสื่อสารเข้าไม่ถึงก็เป็นได้ ดังนั้น เรามาดูการปลูกป่าโดยมนุษย์ของของกรมป่าไม้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าในทาวตรงมีดังต่อไปนี้...

การเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจกจ่าย ในอดีตป่าไม้เขตทุกเขตจะมีสถานีเพาะชำกล้าไม้ในสังกัด 4 – 5 แห่ง แล้วแต่พื้นที่ควบคุม และบางเขตยังมีศูนย์เพาะชำกล้าไม้ของส่วนกลางมาตั้งอีกหนึ่งศูนย์  ทุกแห่งที่กล่าวมานี้ตั้งหน้าตั้งตาเพาะชำกล้าไม้ตามที่กรมส่งงบประมาณมาให้มากบ้างน้อยบ้าง  เงินที่อนุมัติเป็นเงินประจำปีงบประมาณจึงทำให้กล้าไม้ที่เพาะขึ้นมามีอายุอย่างสูง 6 เดือนและถูกกักขังไว้ในถุงพลาสติกขนาด 4 x 7 นิ้วหรือเล็กกว่านั้น ลองวิเคราะห์ดูไม้ที่มีอายุ 4 – 6 เดือนและไม่มีโอกาสที่จะได้ทำให้แกร่ง (Hardening) พอแจกจ่ายไปปลูกคิดว่าอัตราการรอดตายจะได้สักกี่เปอร์เซนต์ไม่อยากคิด  พวกเราตั้งหน้าตั้งตาเพาะชำในลักษณะนี้ที่ยาวนาน 40 – 50 ปีมาแล้ว หากนับรวมกล้าไม้ที่เพาะชำคงได้เป็น 1,000 ล้านกล้า  ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะมีวันสำคัญฉลองที่ทำการใหม่ มักจะมีการปลูกต้นไม้เป็นเชิงสัญญลักษณ์ และยังมีวันสำคัญทางศาสนาอีก วันนักขัตฤกษ์ วันเฉลิมพระชนม์พรรษา ในอดีตแม้แต่แจกเอกสารสิทธิ สทก. สปก. ถ้าอ่านด้านหลังจะมีการให้ปลูกต้นไม้ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ หากกล้าไม้ดังที่ได้กล่าวมานี้แจกจ่ายไปทั้งหมดหากมีอัตราการรอดตายเพียง 10 เปอร์เซ็นต์พวกเราคงหาทางเดินไม่ได้ ต้นไม้คงเบียดเสียดเต็มพื้นที่ไปหมด เมื่อเราเห็นปัญหานี้แล้วลองมาพิจารณาดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น แจกกล้าไม้ทุกปีแทนที่จะมีป่าไม้เพิ่มขึ้นกลับมีป่าไม้ลดลง จากเมื่อ 50 ปีที่แล้วมีป่าถึง 170 ล้านไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 102 ล้านไร่ หายไปไหน 68 ล้านไร่ การเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจกจ่ายกรมมีระเบียบให้ออกติดตามดูว่าผลการแจกจ่ายรับไปปลูกผลเป็นประการใด  ตรวจสอบแล้วผลส่วนใหญ่นำไปปลูกจริงแต่อัตราการรอดตายเฉลี่ยไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และการติดตามผลเป็นการติดตามในปีแรกเท่านั้น จึงคาดได้ว่าในปีต่อไปคงจะตายเกือบหมด ปัญหาพอจะประมวลเหตุได้ดังนี้

1.กล้าไม้ไม่ได้คุณภาพ อายุน้อย บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็ก

2.การขุดหลุมปลูกมีขนาดเล็กและตื้น ไม่มีปุ๋ยรองก้น

3.ปลูกแล้วไม่เคยกลับไปดูอีกเลย ปล่อยให้รุกขเทวาเลี้ยง

4.ที่มีรอดอยู่บ้างก็เป็นต้นที่เตรียมให้ผู้ใหญ่มีอำนาจวาสนาปลูกเพราะมีการขุดหลุมใส่ปุ๋ยล้อมคอกเขียนป้ายชื่อ

เมื่อเรารู้ปัญหาแล้วทำไมไม่แก้ไข  กรณีกล้าไม้มีขนาดเล็กปลูกไปก็ไม่ได้ผล ควรจะเป็นกล้าไม้ข้ามปี ข้อจำกัดมันอยู่ที่ระบบงบประมาณ ต้องเพาะชำปีต่อปีเคยถามเจ้าหน้าที่กรมว่าจะขอผลิตกล้าไม้ข้ามปีจะได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า สำนักงบประมาณไม่สามารถอนุมัติ  มันจึงเป็นปัญหาในเรื่องการชี้แจงและการประสานงานว่ามีข้อเท็จจริงเป็นประการใด เมื่อมันเป็นข้อเท็จจริงหน่วยงานที่มีอำนาจไม่น่ามีปัญหา  เรื่องเหล่านี้ผู้รับผิดชอบควรพยายามต่อรองเพราะกล้าไม้ข้ามปีเป็นกล้าไม้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาทั้ง 3 ฤดูย่อมแกร่งเป็นธรรมดา  ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่าการใช้กล้าไม้ข้ามปีปลูกป่าจะเป็นผลดี  ส่วนกล้าไม้ที่ใช้ปลูกในปีงบประมาณเท่าที่เห็นได้ผลก็มีไม้ยูคาลิปตัสเท่านั้น...

การปลูกสร้างสวนป่า การที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการปลูกป่าเป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้ และมาจากโครงการดังต่อไปนี้

1.จากงบประมาณของรัฐ เมื่อได้รับงบประมาณก็แจกจ่ายไปตามป่าไม้เขต  ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันไม่อยากแสวงหาตัวเลขมานำเสนอเพราะไม่ทราบว่าสวนป่าเหล่านั้นจะยังคงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใดยิ่งมีการแบ่งแยกกรมแล้วด้วยและพื้นที่สวนป่าในอดีตเราแสวงหาพื้นที่ปลูกป่าโดยการยื้อแย่งจากราษฎร คาดว่ากรรมคงคืนสนองถูกราษฎรบุกรุกยึดคืนไปแล้วก็อาจเป็นได้และสวนป่าไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายปลูกสร้างและบำรุงป่าหรือของหน่วยงานจัดการต้นน้ำที่เป็นไม้ยูคาลิบตัสได้มอบให้องศ์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไปหมดแล้ว สำหรับโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่าไร่ละ 3,000 บาท เนื่องจากเป็นโครงการที่เร่งรัด จึงสั่งให้ป่าไม้จังหวัดเร่งหาพื้นที่เข้าร่วมโครงการ  เราจะไปหาพื้นที่ที่ไหนสภาพที่เป็นไร่คงมีแต่ทางเหนือ ส่วนในที่ราบมีแต่ที่นาเมื่อนำเข้าโครงการมันเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกต้นไม้เนื่องจากน้ำขัง  ปลูกตามคันนาก็ไม่ครบตามระเบียบ  อีกทั้งระเบียบการดำเนินงานของโครงการก็ไม่ชัดเจนทำให้ผู้ปฏิบัติสับสน โครงการจึงล้มเหลวมีการทุจริตจนต้องมีข้าราชการป่าไม้อำเภอถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยมากมายและบางนายถึงกับต้องคดีอาญาถูกศาลตัดสินจำคุกก็มีเป็นการสร้างรอยด่างขึ้นในวงการ ผู้เขียนเองยังถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการสอบสวนวินัยข้าราชการอย่างร้ายแรงมีข้าราชการป่าไม้ถูกกล่าวหา 14 คน ทำสำนวน 1 ปี กับ 6 เดือนจึงเสร็จ เสียทั้งเวลาและงบประมาณรวมทั้งขวัญและกำลังใจของผู้ถูกสอบสวน เป็นบทเรียนที่ควรจดจำไว้เป็นอุทาหรณ์หรือบทเรียนราคาแพง...

2.จากงบประมาณของเอกชน ตั้งแต่อดีตมีดังนี้

2.1 การปลูกโดยบริษัททำไม้จำกัด เป็นการปลูกป่าตามเงื่อนไขสัมปทานที่ตัดไม้ไปขายแล้วต้องปลูกทดแทนโดยที่มีฝ่ายปลูกสร้างและบำรุงป่าของป่าไม้เขตคอยควบคุมการปลูกเริ่มตั้งแต่หาพื้นที่ให้เขียนแผน อนุมัติแผนควบคุมตรวจสอบการทำงาน โดยใช้เงินของบริษัททั้งสิ้น

2.2 ปลูกโดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยใช้ชื่อโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้กรมได้ให้ป่าไม้เขตจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นรองรับมีหน้าที่แสวงหาพื้นที่โดยให้ผ่านสภาตำบล และทำหน้าที่เพาะชำกล้าไม้สนับสนุนโดยตั้งเป้าหมายไว้เมื่อครบแล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ดังได้กล่าวนำพอเป็นสังเขปเรื่องการฟื้นฟูป่าตั้งแต่อดีตอาจจะไม่ครอบคลุมดีนักเพียงเพื่อแสดงให้เห็นการใช้ทรัพย์สินและทรัพยากรบุคคลหมดไปเป็นจำนวนมาก เพื่อจะได้ลองเปรียบเทียบดูว่าจะแตกต่างจากการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกอย่างไร...?

ขอย้อนเวลาไปในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นหัวหน้าสำนักงานพัฒนาป่าไม้ที่ ศก.2 (ขุขันธ์) จังหวัดศรีสะเกษ ทางสำนักฯได้ไปทำการจับกุมพวกบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าที่ช่องสะงำ ซึ่งปัจจุบันเป็นด่านพรมแดนถาวรช่องสะงำ  มีเส้นทางจากบ้านไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ผ่านด่านเข้าไปประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ถ้าเข้าทางนี้เพื่อไปชมปราสาทนครธม นครวัด เดินทางไปจังหวัดเสียมเรียบ (เสียมราฐ) ระยะทาง 140 กิโลเมตร ในสมัยที่จับถางไร่ยังเป็นช่องทางเกวียนเล็กๆลัดเลาะจากเขตชายแดนประเทศไทยข้ามเทือกเขาพนมดงรักไปราชอาณาจักรกัมพูชา พวกลักลอบตัดไม้ถางป่าอยู่ข้างทางลึกไปประมาณ 300 เมตร มีการตัดไม้ขนาดกลางและขนาดเล็กล้มระเนระนาด  พวกเราเข้าไปโอบล้อมแต่ก็จับตัวไม่ได้  พวกนี้เก่งวิ่งเหยียบต้นไม้ไม่กลัวหนามทำความเจ็บแค้นให้พวกเรามากจึงทำการตรวจไม้ที่สามารถใช้เป็นสินค้าได้เสียก่อน มีอยู่ 6 ต้น นอกนั้นเป็นไม้รุ่นหนุ่มและลูกไม้ วัดพื้นที่บุกรุกได้เนื้อที่ 10 ไร่ จึงจัดทำบันทึก สำหรับไม้เราไม่ยึดโดยระบุว่านำออกไม่ได้ เมื่อกลับสำนักงานรีบทำหนังสือรายงานป่าไม้เขตตามระเบียบ เมื่อไม่ได้ตัวจึงจำเป็นต้องเรียกประชุม ลองภูมิพนักงานพิทักษ์ป่าดูซิว่าใครเคยจับถางไร่บ้าง มีอยู่หนึ่งนาย จึงให้เล่ากิจกรรมของพวกถางป่าว่าทำอย่างไร ผู้เสนอตัวเล่าว่าพวกนี้จะมาตอนตี 5 ส่วนใหญ่จะมาไม่มากที่เห็นไม่เกิน 3 คน เพราะจะได้หนีง่ายไม่ต้องห่วงกัน มาถึงจะตัดไม้เล็กไม้น้อยออกจนเกือบหมดแล้วลงมือตัดไม้ใหญ่ ทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์คราวนี้จะมาอีกทำการตัดทอนไม้ใหญ่เป็นท่อนๆจนหมด  แล้วต่อมาเก็บรวมกองที่เราเรียกว่าเก็บริบ ต่อไป ก็เริ่มจุดไฟเผาทำลายจนเหลือเป็นตอตะโก  แล้วขุดหลุมหยอดเมล็ดพืชไร่พืชสวน เมื่อเล่าจบพวกเราจึงได้วางแผนที่จะหาทางตะครุบตัวพวกนี้ให้ได้  พอดีกับป่าไม้เขตหนังสือมีตอบกลับให้สำนักฯรีบติดตามจับตัวผู้กระทำผิด และให้ทำการปลูกป่าทดแทน แผนงานของเราได้วางไว้แล้ว จัดเวรยามให้ออกตรวจพื้นที่ครั้งละ 2 คน โดยตรวจวันเว้นวันใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ จะพรางตัวอย่างไรแล้วแต่ถนัด และได้ติดต่อสถานีเพาะชำกล้าไม้เพื่อขอกล้าไม้มาทำการปลูกป่าทดแทน จำนวน 1,000 ต้น โดยจะปลูกระยะ 4 x 4 เมตร ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากสถานีเพาะชำกล้าไม้งานนี้ทางป่าไม้เขตสั่งโดยไม่มีการสนับสนุนงบประมาณเป็นการลงโทษที่ไม่มีการดูแลป่าให้ดี นึกแล้วตำหนิตัวเองในพื้นที่ควบคุมไม่มีการถางป่ามานานแล้วเพราะออกลาดตระเวนเกือบทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่จุดนี้เป็นรอยต่อของจังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดศรีสะเกษ หากเป็นนักเล่นตะกร้อทีมเขาเรียกว่า “จุดเกรงใจ” งานนี้จับตัวได้คงต้องตั้งข้อหาหนักหน่อย ในวันที่เราจับกุมเป็นต้นเดือนเมษายน อากาศกำลังร้อนมากต้นไม้ที่ถูกตัดฟันใบจึงเหี่ยวแห้งเร็วผิดปรกติ บรรดาเวรยามที่รอตะครุบตัวรอแล้วรออีก จนเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนไม่ปรากฏพวกตัดไม้มาเก็บริบสุมเผาแต่อย่างใด คงจะมีสายรู้ว่าเราเฝ้าตลอดเวลา เริ่มเข้าเดือนพฤษภาคม ฝนเริ่มมาบ้างแล้ว อันที่จริงเริ่มมีฝนตั้งแต่กลางเดือนเมษายนแล้วใบไม้ของต้นไม้ที่ถูกตัดฟันเริ่มร่วงหล่นลงดินจนมองเห็นลำต้นล้มทับกองก่ายกันจนแทบไม่มีทางเดินเข้าไปในแปลง    จึงวางแผนที่จะปลูกต้นไม้ในเดือนมิถุนายน  หากกล้าไม้ยังเล็กก็จะเลื่อนไปเดือนกรกฎาคม พวกมีหน้าที่ลาดตระเวนพอฝนเริ่มชุกก็มาติดตามดูพื้นที่อาทิตย์ละครั้ง  พอปลายเดือนมิถุนายน สถานีเพาะชำกล้าไม้ศรีสะเกษแจ้งให้ไปรับกล้าไม้ได้  จึงให้พนักงานขับรถยนต์และพนักงานพิทักษ์ป่าไปขนกล้าไม้ไปลงเก็บที่แปลงปลูกโดยสั่งว่า เมื่อขนกลับให้แวะรับผู้เขียนไปสถานที่เกิดเหตุด้วย  บรรดาพวกขนกล้าไม้กลับมาถึงหน่วยเล่นเอาเกือบค่ำจึงให้พักก่อน  รุ่งเช้าค่อยนำกล้าไม้เข้าพักไว้ที่เกิดเหตุ...

พอรุ่งเช้าจัดการอาหารใส่ท้องเสร็จพวกเราเดินทางไปยังจุดที่เกิดเหตุ  พอไปถึงบริเวณที่ถูกแผ้วถางสายตาทุกคู่ต่างเบิกโพลงสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าเพียงเดือนเดียวที่ไม่ได้เข้ามา บรรดาตอไม้ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ต่างแตกหน่อชูช่อไสวเต็มพื้นที่ไปหมด สูงต่ำไล่เลี่ยกันแล้วแต่ตอต้นกำเนิด ทุกคนหันมามองหน้ากัน แล้วกล้าไม้ที่เราเอามาจะทำอย่างไร  จึงตัดสินใจบอกว่าอย่าเพิ่งเอากล้าไม้ลง  จึงได้ลงเดินสำรวจพบว่าหากบริเวณนี้มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติจนเต็มพื้นที่แล้วก็มิจำเป็นต้องปลูก  เรามีหน้าที่มาตรวจตราอย่าให้ผู้ใดเข้าไปรบกวน และในฤดูแล้งป้องกันไฟป่า เท่านี้เราก็ได้ป่าที่สมบูรณ์กลับคืนมา จึงสั่งให้ทุกคนกลับเอากล้าไม้ไปเก็บรักษาบำรุงไว้แจกจ่ายประชาชนต่อไป...?

กลับมาสำนักฯนั่งนึกถึงปรากฏการณ์แตกหน่อของต้นไม้ที่เป็นไปตามธรรมชาติเพื่อดำรงคงพันธุกรรมของตนเองไว้และในยุคนั้นผู้เขียนยังไม่ซึมซับกับคำว่า “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” ซึ่งมีนัยยะสำคัญแฝงไว้พระองศ์ผู้ตรัสช่างมี    อัจฉริภาพในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นยอดยิ่งประจักษ์แก่สายตาของพวกเราแล้ว “ศาสตร์ของพระราชา”...???   

ศาสตร์ของพระราชา ยังมีอีกมากมายแต่ไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม  เป็นเพียงถ้อยคำที่บางคนหน่วยงาน หรือรัฐบาลหยิบยกมาสร้างภาพให้ตัวเองดูดีขึ้นแต่แฝงไปด้วยวาระซ้อนเร้นเสมอมา... อาทิ ฝายแม้ว...


Last updated: 2015-05-30 17:18:19


@ ศาสตร์ของพระราชา
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ ศาสตร์ของพระราชา
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,555

Your IP-Address: 18.97.9.171/ Users: 
1,554