สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 5
เมื่อมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิแล้วเราต้องนำสืบให้ได้ว่า ผู้บุกรุกได้เข้าบุกรุกยึดถือครอบครองเมื่อใดเพื่อจะได้ดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษร้องทุกข์ได้ถูกต้อง
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2557 พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า ยึดโฉนด 5 พันล้าน 17 แปลง กว่า 100 ไร่ โรงแรม รีสอร์ทหรู รุกอุทยานสิรินาถ ในเนื้อหาแจ้งว่าได้ส่งหลักฐานการครอบครองที่ดิน 379 แปลงตั้งอยู่ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ให้กรมที่ดินเพิกถอนตามมาตรา 61 กรมที่ดินแจ้งการดำเนินการมาให้ก่อน 17 แปลง เป็นรีสอร์ทและโรงแรมหรู ดูจากมูลค่าแล้วมากจนน่ากลัว สิ่งแรกที่ตามมาที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะต้องทำคือ ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่และเจ้าของที่ดินในข้อหาจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ ดำเนินการสอบสวนวินัยร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้า- ราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 85(1) ซึ่งมีใจความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต สำหรับทางอาญาแผ่นดินก็มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 จะมีใครร่วมบ้างก็ดูที่ข้อเท็จจริง ในทางอาญาคงจะต้องมีหลายคนทั้งข้าราชการและเอกชนผู้ร่วม แต่ดูจากมูลค่าชองทรัพย์สินแล้วน่าหนักใจ ความเสียหายเกิดขึ้นเป็นพันล้านคงจะยอมกันยาก การดำเนินคดีในเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบได้กล่าวถึงไปแล้ว...!!
ต่อมาเราจะพูดถึงการดำเนินคดีในรูปการบุกรุกยึดถือครอบครองตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ,พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เมื่อมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิแล้วเราต้องนำสืบให้ได้ว่า ผู้บุกรุกได้เข้าบุกรุกยึดถือครอบครองเมื่อใดเพื่อจะได้ดำเนิน การแจ้งความกล่าวโทษร้องทุกข์ได้ถูกต้อง หากปล่อยให้พนักงานสอบสวนแสวงหาหลักฐานเองจะเป็นการประมาทเกินไปการดำเนินคดีใดๆก็ตามเมื่อแจ้งความร้องทุกข์แล้ว ขอร้องอย่านิ่งเฉยให้เกาะติดพนักงานสอบสวนไว้ รีบพาไปดูที่เกิดเหตุ เผื่อว่าพนักงานสอบสวนจะมีความคิดอะไรที่แตกต่างและต้องการพยาน หลักฐานอะไรเพิ่มเติมหรือถ้าอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนที่สามารถออกหมายเรียกเอกสารมาตรวจสอบ จะเป็นการง่ายกว่าการที่ไปขอด้วยตนเอง...
เรามาดูว่าเมื่อกรมที่ดินแจ้งว่าได้เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินให้แล้ว 17 แปลง ทางกรมอุทยาน-แห่งชาติ สัตว์ปาและพันธุ์พืช จะดำเนินการอย่างไร จะต้องพิสูจน์วันที่เอกชนเข้าไปบุกรุกยึดถือครอบครอง มิใช่วันที่อนุมัติให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ต้องภายหลังปี วันที่ 1 ธันวาคม 2497 ฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญแปลภาพถ่ายทางอากาศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 ถึงวันที่ออกเอกสารสิทธิ คงลำบากไม่น้อย หากใช้พยานบุคคลน้ำหนักจะน้อยกว่าพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพราะการตั้งข้อกล่าวหาจะต้องแจกแจงให้ทราบว่าผู้กระทำผิดได้เข้ากระทำผิดเมื่อใด ลักษณะการกระทำและผลความเสียหายที่เกิดประมาณค่าราคาให้ได้และการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง น่าจะต้องฟ้องตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เมื่อต่อสู้กันในชั้นศาลแล้ว หากว่าทางอุทยานแห่งชาติชนะคดี ก็ต้องมาใช้อำนาจทางปกครองในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพื่อทำการรื้อถอน พอดูขั้นตอนและเรื่องแล้วทำให้นึกถึงกำลังพลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ที่ต้องรักษาสถานที่อันทรงคุณค่าไว้ให้ได้ดูชักจะวังเวง...!!
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับพวกเราเสียก่อนว่า กำลังพลของเราเท่าที่รับราชการและได้สัมผัสกับรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน และรุ่นน้อง ส่วนใหญ่แล้วพวกเราจะมีความรู้ทางด้านที่ดินป่าไม้อย่างลึกซึ้งนั้นนับคนได้ พวกเราไม่ใคร่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ว่าระเบียบ กฎหมาย ส่วนใหญ่ทำงานกันโดยการรับฟังเขาว่ากันต่อๆมา หาได้เกิดจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองก็หาไม่ จึงขาดประสบการณ์ ก่อนที่เราจะตำหนิผู้อื่นควรหันมามองตนเองเสียก่อน ดังนั้น ต่อจากนี้ไปควรอัพเกรดพนักงานป่าไม้ให้เข้มข้นขึ้น และควรมีการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งให้เหมาะสมกับความสามารถ (Put the right man on the right job) เปิดศักราชใหม่ควรเริ่มต้นหาจุดด้อยมิฉะนั้นจะทำให้เป็นที่อับอายแก่หน่วยราชการอื่น...
ได้ข่าวว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ตำหนิกรมที่ดิน ว่ามีการออกเอกสารสิทธิในเขตป่าไม้โดยมิชอบทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแก่เจ้าหน้าที่ กรมที่ดินจึงตอบกลับมาว่า พื้นที่ บางแห่งมีการสร้างโรงแรมก่อนออกโฉนดที่ดินตั้ง 10 ปี เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไปอยู่ที่ไหน แสดงว่ามีการปล่อยปละละเลย เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นชนวนทำให้เกิดความบาดหมางต่อหน่วยงาน ทั้งๆที่เป้าหมายของทั้งสององค์กรต่างทำเพื่อประเทศชาติด้วยกันทั้งสิ้น ทางฝ่ายกรมที่ดินก็พยายามรักษาสิทธิให้กับประชาชน ส่วนป่าไม้ต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้มิให้มีการบุกรุกยึดถือครอบครอง เราต่างฝ่ายต่างหวังดีด้วยกันทั้งคู่ ผู้เขียนไม่ใช่กูรูผู้รู้แจ้งเห็นจริงขอใช้ความรู้สึกและประสบการณ์มาเป็นเครื่องมือในการหาคำตอบ เรามาดูทางผู้ออกเอกสารสิทธิก่อน เมื่อราษฎรที่มีที่ดินหรืออ้างว่ามีที่ดิน ติด คาบเกี่ยว อยู่ในเขตที่ดินป่าไม้นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 มายื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน เมื่อเข้าพื้นที่เจ้าหน้าที่ที่ดินและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ประสานการปฏิบัติงานกันบ้างหรือไม่ เพราะการจะออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และโฉนดที่ดิน ในเขตป่าไม้ ข้อแรก คือเจ้าของที่ดินต้องมีสิทธิในที่ดินนั้นอยู่ หมายความว่าที่ดินที่มี ส.ค.1 ครอบครองไว้นั้นได้มาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กล่าวคือ ต้องยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 การแสวงหาข้อเท็จจริงในอดีตที่ผ่านมา 20 30 ปี ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ที่ดินใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด หากมีไม้ยืนต้น เช่น มะพร้าว ทุเรียน ยางพารา ก็พอจะวินิจฉัยถึงอายุของระยะเริ่มปลูกได้บ้าง หากไม่มีเราจะใช้อะไรเป็นตัวคำนวณ ระเบียบบอกว่าให้ใช้ภาพถ่ายทางอากาศเข้าช่วยถ้ามี หากเจ้าหน้าที่ที่ดินไปตรวจฝ่ายเดียวและไม่พยายามหาหลักฐานอย่างอื่นมาสนับสนุนโดยใช้เพียงบุคคลมาให้ถ้อยคำย่อมจะมีน้ำหนักน้อย และคนที่รู้จริง ประจักษ์พยานก็ได้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ดินบางคนจึงพยายามหาหลักฐานในหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส่วนใหญ่จะระบุว่าเป็นที่ดินได้รับมรดกตั้งแต่ ปี พ.ศ.2475 หรือ พ.ศ.2480 แล้วก็มาทึกทักว่าเขาครอบครองตั้งแต่นั้นมา แต่ใน ส.ค.1 ไม่มีตอนใดที่ระบุว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ส.ค.1 เป็นเอกสารที่ราษฎรเป็นผู้จัดทำขึ้นโดยมีเจ้าหน้าที่ปกครองคือกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นพยานเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจพื้นที่ในปัจจุบัน เห็นว่าได้ทำประโยชน์เต็มพื้นที่แล้ว ก็เสนอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)หรือโฉนดที่ดินได้ แต่เมื่อเป็นพื้นที่อยู่ติด คาบเกี่ยว อยู่ในเขตป่าไม้ กฎกระทรวงที่ 43 (2537) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปร่วมตรวจพิสูจน์ที่ดินด้วย...!
คราวนี้มาถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้บ้าง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบางคนไม่รู้ขอบเขตของตน เมื่อเห็นที่โล่งเตียนมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว ก็รับรองไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางคนกลัวไม่ไปร่วมก็มี บางคนทุศีลก็รับรองให้ ต่างคนไม่พยายามที่จะแสวงหาความจริงว่าที่ดินที่ราษฎรได้มานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดีว่า-ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญแปลภาพถ่ายทางอากาศมาช่วยเป็นนิติวิทยาศาสตร์ที่มีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือกว่าพยาน-บุคคล เพราะมนุษย์มี โลภ โกรธ หลง เป็นทุนเดิม ยิ่งมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ความถูกต้องหายากยิ่งขึ้น สำหรับป่าไม้เราขอร้องให้ศึกษากฎระเบียบให้แม่นยำแล้วจะไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น ต่างฝ่ายต่างมีก็มีจุดดี จุดด้อย หากนำมาผนวกแล้วสังคายนาขึ้นใหม่แล้ว เราจะได้ช่วยกันรักษาผืนแผ่นดินไทย แล้วอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จะมีแต่คนอยากจะมาเป็นผู้พิทักษ์...?
Last updated: 2015-03-28 09:03:45
|
@ สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 5 |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 5
|