ความรู้ไม่ใช่อยู่เฉพาะในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยแต่อยู่ทั่วทุกแห่งที่ไป ทุกคนที่เราพบ ขึ้นอยู่ที่เราจะยอมรับ นำมาคิดและเก็บได้มากน้อยแค่ไหน
 
     
 
มาตราเจ็ดเพชฌฆาตตัวใหม่
ท่านที่ไม่ได้อ่านบทความจะได้รับรู้เช่นเดียวกันว่าในความคิดเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์ไม้พะยูงในประเทศไทย เป็นข้อมูลที่ช่วยเติมเต็มความคิดของแต่ละคน เพราะความคิดหลายหัวดีกว่าหัวเดียว
 

ได้รับหนังสือวารสาร นนทรี ฉบับที่ 3/2557 ของสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นสมาชิกมานานแล้ว ตั้งแต่เป็นวารสาร ส.ม.ก.สัมพันธ์  ในสมัยนั้นเคยเขียนบทความไปลง 2 – 3 เรื่อง พอเปลี่ยนบรรณาธิการจึงยุบคอลัมน์ “มก.เมื่อวันวาน” โดยมีนโยบายที่จะนำเสนอผลงานปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิชาการหรือสถานภาพของนิสิตเก่าที่ประสพความสำเร็จ  ไม่ว่าทางด้าน ยศฐาบรรดาศักดิ์ ภาพลักษณ์ศิษย์เก่าที่ทำความดีในสังคมในตอนเปิดคอลัมน์ “มก.เมื่อวันวาน” จำได้ว่าได้รับการตอบรับจากสมาชิกดีขึ้น เนื่องจากสมาชิกที่เป็นคนแก่ส่วนใหญ่ชอบระลึกถึงความหลัง  แต่เมื่อกองบรรณาธิการใหม่มีความเห็นต่างให้ยุบ  ดังนั้นในระบอบประชาธิปไตยไม่ว่ากันแต่ฉบับนี้มีบทความที่เกี่ยวกับอดีต ปัจจุบันและอนาคตคือเรื่อง“สถานการณ์ไม้พะยูงในประเทศไทย เขียนโดย ดร.จงรัก  วัชรินทรัตน์ เคยู 46 คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มันมาพอดีกับเรื่องที่ผู้เขียนกำลังนำเสนอคือ “พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย” จึงตั้งหน้าตั้งตาอ่าน เนื้อหา การลักลอบตัดจากที่ใด วิธีการอย่างไรและการส่งจำหน่ายเส้นตามทาง ส่งประเทศใดบ้าง ข้อมูลดูจะคล้ายคลึงกับผู้เขียนนำเสนอ อ่านจบพอจะสรุปได้ว่าท่านคณบดีเห็นประกาศในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 เพื่อจะให้ผู้ลักลอบตัดได้รับโทษที่สูงขึ้น เท่ากับไม้สักและไม้ยาง  เนื่องจากมีเสียงบ่นจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าโทษในการลักลอบตัดไม้พะยูงเบา เมื่อมีอัตราโทษสูงขึ้นผู้ลักลอบตัดจะได้เกรงกลัว เป็นวิธีการหนึ่งในการวางมาตรการป้องกัน ได้อ่านข้อเขียนของ ดร.จงรัก วัชรินทรัตน์จนจบแล้วพอสรุปได้ว่าท่านมีข้อเสนอพอสรุปได้ 2 ข้อ คือ

1.ให้แก้ไขปัญหาไม้พะยูงทั้งระบบ ตั้งแต่งานวิจัย การส่งเสริมการปลูก การป้องกันและการควบคุมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากงานป้องกันการลักลอบตัดไม้ สิ่งที่ต้องทำควบคู่การส่งเสริมการปลูกและการใช้ประโยชน์ไม้พะยูง รวมถึงการจัดทำยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และจัดการพันธุกรรมไม้พะยูงในระดับชาติและส่งเสริมให้ขยายพันธุ์และใช้ประโยชน์พันธุ์ดีให้มากขึ้น

2.ไม้พะยูงเป็นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาวและมีมูลค่าทางเนื้อไม้สูงมาก การปลูกสวนป่าไม้พะยูงมีโอกาสและความเป็นไปได้สูงและมีถ้ามีการจัดการที่ดีพอจะส่งผลให้ผลผลิตที่ต้องการในปริมาณมากและมีผลผลิตยั่งยืนอีกทั้งเป็นแรงกดดันจากปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงจากป่าธรรมชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย

ท่านที่ไม่ได้อ่านบทความจะได้รับรู้เช่นเดียวกันว่าในความคิดเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์ไม้พะยูงในประเทศไทย เป็นข้อมูลที่ช่วยเติมเต็มความคิดของแต่ละคน เพราะความคิดหลายหัวดีกว่าหัวเดียว  ต่อไปเรามาดูความเป็นไปได้ของยาตัวใหม่ที่มีฤทธิ์เดชมากน้อยแค่ไหน และจะมีอาการข้างเคียงอย่างไร อันดับแรกดูกฎหมายที่แก้ไขใหม่...

“มาตรา 7 ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยูง       ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ดเขาควาย ไม่ว่าขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้ชนิดอื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา”

ข้อความ 3 – 4 บรรทัดที่เรายกไม้พะยูงออกมาพิจารณาชนิดเดียวก่อนก็จะเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป ไม้พะยูงที่ขึ้นอยู่ในที่ดินกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง คือขึ้นในโฉนดที่ดิน น.ส.3 ส.ค.1 ที่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เหมือนไม้สัก ไม้ยาง ต่อไปเราจับไม้พะยูงแล้ว มีพ่อค้านำเอกสารสิทธิ์ดังที่กล่าวไว้มาอ้างอีกไม่ได้แล้ว เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง แต่ก็มีอาการข้างเคียงตามมาคือ ไม้ที่เราปลูกขึ้นในที่ดินของเราเวลาจะตัดฟันจะต้องขออนุญาตเสียก่อนเช่นเดียวกัน  สร้างความยุ่งยากพอสมควร หากจะปลูกเพื่อการค้าต้องไปจดทะเบียนสวนป่าให้เรียบร้อย จะได้สะดวกในการตัดฟัน ชักลาก สำหรับการตัดฟันไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ กรณีไม้พะยูง กรมป่าไม้คงต้องออกข้อกำหนดในเร็วๆนี้ ต่อไปเรามาดูโทษที่กระทำต่อไม้พะยูงบ้างว่ามีว่าอย่างไร...?

“มาตรา 48 ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้ ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ตั้งโรงค้าไม้แปรรูป มีไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยูง ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ไม่ว่าจำนวนเท่าใดไว้ในครอบครอง หรือไม้แปรรูปชนิดอื่นเป็นจำนวนเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและในการอนุญาต”

“มาตรา 69 ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง หรือรอยตรารัฐบาลขาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น

(1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยูง ไม้กระซิก     ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ดเขาควาย หรือไม้หวงห้ามประเภท ข.หรือ

(2) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน เกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้ว รวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท

“มาตรา 72 ทวิ ผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าไม้ที่มีไว้ในครอบครองเป็น

(1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยูง ไม้กระซิก     ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ดเขาควาย หรือไม้หวงห้ามประเภท ข.หรือ

(2) ไม้อื่นที่เป็นต้นหรือท่อน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินห้าต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้ที่ครอบครองเกินหนึ่งลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้วรวมปริมาตรไม้เกินหนึ่งลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท”

“มาตรา 73 ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม  มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 มาตรา 31 หรือมาตรา 48  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าการกระทำผิดนั้นเกี่ยวกับ

(1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยูง ไม้กระซิก     ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า ไม้เก็ดเขาควาย หรือไม้หวงห้ามประเภท ข.หรือ

(2) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกินยี่สิบต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้วรวมปริมาตรไม้เกินสองลูกบาศก์เมตร

ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท”

ที่ยกตัวบทกฎหมายมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านเพื่อสะดวกเนื่องจากบางท่านอาจหาเอกสารอ่านไม่ได้ถือว่าได้ทราบร่วมกัน เมื่อยกไม้มีค่าที่หายากขึ้นทุกวันไปไว้ใน มาตรา 7 แล้ว โทษต่างก็ย่อมตามไปโดยอัตโนมัติ แต่คราวนี้เราได้ของแถมเนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพิ่มโทษขึ้นอีก แต่เดิมค่าปรับตามมาตรา 7 จะเป็นเงินตั้งแต่ห้าพันถึงสองแสนบาท มาเป็นปรับห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท ไม้ชนิดอื่นต้องเกินยี่สิบท่อนหรือต้น ไม้แปรรูปต้องเกินสองลูกบาศก์เมตร นับว่าได้อานิสงส์กันถ้วนหน้าที่พวกเราเคยบ่นว่าจับส่งไปแล้วปรับเพียงคนละ 5.000 – 7.000 บาท พวกขโมยไม้จึงไม่เข็ดหลาบ มาคราวนี้อย่างต่ำสุดไม่ว่าข้อหา ทำไม้ แปรรูปไม้ มีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง โดนอย่างต่ำคนละ 50,000 บาท ไม่มีเงินจ่ายติดคุกหัวโต รายไหนที่มีไม้เป็นจำนวนมาก เช่นคดีรายใหญ่โดนไปสักรายปรับสักคนละสองสามแสนคงหนาวไปอีกนาน เสียดายโทษจำคุกน่าจะเริ่มตั้งแต่ 2 ปีหรือ 5 ปี แต่นี้คงเท่าเดิม โทษหนักจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี

ที่กล่าวมานี้เป็นความฝันที่ผู้เขียนอยากให้พวกลักลอบตัดไม้พะยูงหรือไม้ที่มีลวดลายสีสันของแก่นคล้ายไม้พะยูงทั้ง 15 ชนิดจะได้พ้นภัยเสียที…

                ทำไมผู้เขียนว่าตัวเองฝันไป เพราะในความเป็นจริงที่ผ่านมาได้ติดตามคดี ไม่มีตัวเลขทางวิชาการอ้างอิง อาศัยประสบการณ์ในระหว่างปี 2531– 2534 แถบอีสานใต้ ศาลท่านปรับเป็นตัวเงินหนัก ไม้มากปรับเป็นแสนเพราะหลายข้อหา ผู้แจ้งได้สินบนนำจับไปไม่น้อย และแจ้งบ่อยครั้ง ต่อมากลับเป็นว่าจำคุกแทน และต่อๆมาหากผู้ต้องหาสู้ต้องโทษจำคุกลูกเดียว ไม่มีรอลงอาญา ดังนั้นโทษจำคุกจะเริ่มตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปพอจะเข็ดหลาบบ้าง โดน 3 ข้อหาก็เป็น 6 ปี...?

                การเพิ่มโทษเป็นเพียงมาตรการหนึ่งเท่านั้นหาใช่ยาวิเศษหรือยุทธวิธีเบ็ดเสร็จที่จะกำจัดพวกลักลอบตัดไม้พะยูงก็หาไม่  สิ่งสำคัญที่สุดที่เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องมีความพยายาม อดทนอดกลั้นในการเข้าจับกุม ท่องไว้ในใจว่าจับครั้งนี้ต้องได้ตัวหากไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องแล้ว มาตรา 7 จะเป็นเพชฌฆาตตัวใหม่ได้อย่างไร?

                ก่อนจะอำลาบทนี้ย้อนไปถึงถึงปีเมื่อปี 2533– 2534ผู้เขียนย้ายมาจากอำเภอขุขันธ์มาเป็นหัวหน้าสำนักงานพัฒนาป่าไม้ที่ สร.1 อำเภอสังขะ ได้สักระยะป่าไม้เขตส่งนักวิชาการป่าไม้มาให้ 2 คน กำลังหนุ่มไฟแรงจึงพาลุยจับบรรดาพวกลักลอบตัดไม้ อดหลับอดนอน ลุยน้ำห้วยลงไปงมไม้จนน้องคนหนึ่งรองเท้าหายไปข้าง (ยี่ห้อ adidas) พออยู่ได้หกเดือนทางกรมมีหนังสือแจ้งการเปิดรับสมัครเรียนปริญญาโท หนึ่งในนั้นรีบเข้าคณะเพื่อสมัคร และหายหน้าไปนานจนไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดูข่าวเห็นหน้าจำได้ว่าเป็น“ไอ้จง”ของพวกเรา แต่ผู้บรรยายบอกว่าท่าน เป็นคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เท่านั้นแหละทำให้ผู้เขียนต้องรีบโทรถามประเวศว่า เป็น“ไอ้จง”ของพวกเราหรือเปล่า ประเวศฯบอกว่าใช่ และมาพบบทความในวารสารนนทรีจึงรู้ว่าท่านเป็น ดร.จงรัก วัชรินทรัตน์ คณบดีคณะวนศาสตร์ คนเดียวกับที่เคยร่วมเรียงเคียงบ่าอดหลับอดนอนมาด้วยกัน ดีใจด้วยนะ พี่ทศและพวกเรายังจำและระลึกถึงเสมอ ดีแล้วที่เลือกทางเดินที่ไม่ทำให้ผ้าขาวที่พิสุทธิ์ต้องแต้มสี สำหรับที่กระดำกระด่างเสียแล้ว โชคดีนะน้องรัก...?

 


Last updated: 2015-03-14 08:24:23


@ มาตราเจ็ดเพชฌฆาตตัวใหม่
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ มาตราเจ็ดเพชฌฆาตตัวใหม่
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
4,336

Your IP-Address: 18.216.190.167/ Users: 
4,334