สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 3
เพราะเห็นปัญหาการบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้วหนักใจแทนคนเป็นหัวหน้า แต่ขอร้องให้สู้ต่อไปทำดีไว้ไม่เสียหลาย
เราได้ทิ้งปรัศนีในตอนที่แล้วว่าจะมีการเล่าเรื่องการออกเอกสารสิทธิในเขตที่ดินป่าไม้ แต่ก่อนจะไปถึงตอนนั้นผู้เขียนอยากเสนอให้อุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เป็นโรงเรียนสำหรับผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่ง เหมือนคนจะถูกแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอต้องผ่านโรงเรียนนายอำเภอเสียก่อน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็น่าจะตั้งกฎเกณฑ์ให้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยาน หากมีฝีมือสามารถดำเนินคดีเรียกคืนที่ดินป่าไม้จากผู้ที่ครอบครองโดยไม่ชอบสัก 2 รายก็พอแล้วค่อยแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ เพราะอุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่งมีเรื่องราวที่ต้องให้ทำการแก้ไขโดยใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้เกือบทุกฉบับ จะได้ไม่ต้องแต่งตั้งพวกที่ชอบ ประชุม รับแขก .....(กิน)เหล้า เข้ากรม ไม่ยอมรับผิดแต่รับชอบ เดือนหนึ่งอยู่พื้นที่ไม่กี่วัน ให้แต่ผู้อำนวยการส่วนรักษาราชการแทน พอกลับมาลงนามในหนังสือก็ไม่ค่อยมีความคิดอะไร หน้าห้องทำตรายางอนุมัติ กับ ดำเนินการ ไว้ให้ก็พอแล้ว เรื่องไหนมีปัญหาก็รีบเข้ากรมทิ้งเรื่องไว้ให้ผู้รักษาราชการแทนลงนาม ที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติของบุคคลที่ไม่ควรแต่งตั้ง คนดีคนรับผิดชอบมีมากมายในกรม แต่ถ้าได้ผ่านโรงเรียนทับลานหรือสิรินาถ ก็จะเป็นการดี...!?
พล่ามไปมากทีเดียว เพราะเห็นปัญหาการบุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้วหนักใจแทนคนเป็นหัวหน้า แต่ขอร้องให้สู้ต่อไปทำดีไว้ไม่เสียหลาย ก่อนอื่นจะยกตัวอย่างระเบียบข้อกฎหมายที่พออ่านแล้วก็หนักใจเสียแล้ว เรามาดูหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0610/ว2608 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2509 ที่สรุปเรื่องการแก้ปัญหา ส.ค.1 สูญหาย ทุกท่านคงพอจะเข้าใจว่าปัญหาบุกรุกที่ดินป่าไม้นั้นส่วนใหญ่มาจากต้นกำเนิด ส.ค.1 หากชอบด้วยก็ถือว่ามีสิทธิ แต่เรามักจะได้ยินคำว่า ส.ค.1 บินได้มาสวมแทน แต่เหตูที่น่าสังเกตุก็มีเรื่อง ส.ค.1 สูญหาย ก่อนที่จะกล่าวถึงหนังสือกรมที่ดินจะเป็นการเล่าผ่านขั้นตอนซึ่งน้องวนศาสตร์ที่ทำงานใหม่และไม่ได้เรียนกฎหมายจะสับสน จะขอเล่าที่มาโดยสังเขปของแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 ว่าเป็นมาอย่างไร เอาเป็นว่า ในสมัยก่อนการจะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน กฎหมายที่ดินได้บัญญัติไว้หลายฉบับ ทางกระทรวงเจ้าสังกัดคือกระทรวงมหาดไทย จึงอยากจะให้มาอยู่รวมกันจึงได้รวบรวมไว้ด้วยกันเรียกว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มีทั้งหมด 15 มาตรา แต่มีมาตรา 5 ระบุว่า ให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน หนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา อ่านตามกฎหมายคงพอจะเข้าใจ...
ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดวิธีการแจ้งการครอบครองไว้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้...
1.ให้ผู้ครอบครองที่ดินแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ด้วยตนเอง หรือโดยผู้แทนตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน แบบ ส.ค.1 ท้ายประกาศนี้โดยมีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านรับรองข้อความว่าถูกต้องตามความเป็นจริง
2.ให้ผู้ครอบครองที่ดินยื่นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน แปลงละ 1 ฉบับ ( 2 ตอน )
3.เมื่อนาอำเภอได้รับการแจ้งการครอบครองที่ดิน ให้ลงเลขที่รับและลงลายมือชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับในแบบ ส.ค.1 ทั้ง 2 ตอน และประทับตราประจำตัวแล้วมอบแบบแจ้งตอนที่ 2 ให้แก่ผู้แจ้งไป
4.การแจ้งการครอบครองที่ดินให้แจ้งตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2498 เป็นอันหมดเขต
5.เมื่อพ้นกำหนดการแจ้ง ตามข้อความใน ข้อ 4 ปรากฏว่าผู้ใดมิได้แจ้งและตนมีเหตุผลสมควรอันจะขอผ่อนผันให้การรับแจ้งการครอบครอง ให้ยื่นต่อนายอำเภอสอบสวนพยานและหลักฐานแล้วเสนอความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาสั่งการ
เรามาดูกลลวงในการออกเอกสารสิทธิ เช่น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ และโฉนดที่ดิน ในเรื่องแรกที่ผู้บุกรุกพื้นที่ป่าไม้นิยมใช้ คืออ้าง ส.ค.1 สูญหายมาขอคัดใหม่ หากหายแต่เฉพาะฉบับผู้ถือ สำนักงานที่ดินก็สามารถออกให้ได้ตรงกับฉบับเดิม แต่บางแห่งฉบับอำเภอก็หาย ฉบับผู้ถือก็หายนี้ซิเป็นปัญหาแต่ กรมที่ดินก็ได้มีหนังสือที่ มท 0610/ ว2608 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2509 ดังนี้
สรุปได้ว่า การจัดทำ ส.ค.1 ขึ้นใหม่ทั้งสองตอนนั้น ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏหลักฐานในทะเบียนการแจ้งการครอบครองที่ดินว่า ได้มีการแจ้งการครอบครองที่ดินไว้ และ ส.ค.1 ตอนที่ 2 (ฉบับเจ้าของที่ดิน) ก็สูญหายไปด้วยเช่นกัน โดยให้สอบสวน ส.ค.1 ฉบับอำเภอว่าสูญหายไปอย่างไรก่อน และสอบสวนเจ้าของที่ดินเป็นข้อมูลในการจัดทำ แล้วดำเนินการจัดทำ ส.ค.1 ขึ้นใหม่ทั้ง 2 ตอน โดยอาศัยหลักฐานในทะเบียนการครอบครองที่ดิน แล้วมอบ ส.ค.1 ตอนที่ 2 ให้เจ้าของที่ดินรับไว้เป็นหลักฐานต่อไป หากทะเบียนการครอบครองที่ดินเล่มของสำนักงานที่ดินชำรุดสูญหาย สำนักงานที่ดินสามารถขอตรวจสอบกับเล่มทะเบียนการครอบครองที่ดินทางส่วนกลางและแจ้งสำนักงานที่ดินทราบต่อไป กรณี ส.ค.1 สูญหายนี้ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาจัดทำขึ้นใหม่ตาม มาตรา 64 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้ เพราะแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่า ผู้แจ้งเป็นผู้ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินเท่านั้น และประมวลกฎหมายที่ดินก็ไม่ได้บัญญัติให้ดำเนินการได้ เช่นเดียวกับกรณีโฉนดที่ ใบไต่สวน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือใบจอง ฉบับสำนักงานที่ดินเป็นอันตรายชำรุดหรือสูญหาย...!?
เมื่อเรารู้แนวทางปฏิบัติแล้ว อยากให้ได้ทำความรู้จักกับ ทะเบียนการครอบครองที่ดิน จะเป็นสมุดเหมือนทะเบียนหนังสือทั่วไปที่ทุกหน้าจะมีการพิมพ์เลขลำดับหน้าไว้ เช่น หน้าที่ 1 ไปจนจบเล่มภายในหน้ากระดาษจะแบ่งเป็นตารางไว้ 5 ช่อง ช่องที่ 1 จะพิมพ์ว่า เลขที่ ช่องที่ 2 พิมพ์ว่า สภาพที่ดิน ช่อง 3 พิมพ์ว่า เนื้อที่ (ไร่ งาน ตารางวา) ช่องที่ 4 แจ้งการครอบครองวัน เดือน ปี ช่องที่ 5 พิมพ์ว่า ชื่อผู้ครอบครองที่ดิน เราจะเห็นได้ว่าทะเบียนการครอบครองที่ดินได้ระบุรายละเอียดที่หัวกระดาษว่า ทะเบียนการครอบครองที่ดิน ต่ำลงมาพิมพ์ว่า หมู่ที่ ตำบล อำเภอและจังหวัด หากเราเอาแบบพิมพ์ ส.ค.1 มาจัดทำขึ้นใหม่เราจะกรอกข้อมูล เลขที่แจ้ง วันเดือนปี หมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด ชื่อผู้แจ้งพร้อมภูมิลำเนา จำนวนเนื้อที่กี่ไร่ สภาพที่ดิน (เป็นนา สวน ไร่) แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการพิสูจน์สิทธิที่ดิน คือ ทิศข้างเคียง ทั้ง 4 ด้าน ไม่สามารถที่ที่จะลงได้ จึงจำเป็นต้องสอบสวน จุดนี้เป็นจุดอ่อนที่สุด ผู้ขอคัดใหม่จะใช้ข้างเคียงในปัจจุบันเป็นข้อมูล และมักจะได้เนื้อที่เพิ่มจากเดิม โดยอ้างว่าตอนแจ้งครั้งแรกเป็นการประมาณ สำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่า คนที่แจ้งการครอบครองในพื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ที่พบแทบจะทุกทิศ จดป่า ในใบแจ้งระบุกี่เส้นก็จะวัดให้เท่าจำนวนที่ปรากฏ ไม่เหมือนที่ดินนอกเขตป่าไม้อาจจะมีเนื้อที่มากหรือน้อยกว่าเดิมได้หากข้างเคียงไม่โต้แย้ง...ช่องว่างในเรื่องที่ข้างเคียงว่าจดใครจึงเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ สรุปได้ว่า ส.ค.1 ที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งสองตอนนั้นมีโอกาสเป็นเอกสารเท็จได้ ยิ่งถ้าเป็น ส.ค.1 ระบุชื่อพ่อเป็นคนแจ้งแล้วพ่อตาย ลูกซึ่งได้รับมรดกโดยเอาใบมรณะของพ่อไปอ้างเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือโฉนด ด้วยแล้ว การสอบสวนที่ข้างเคียงยิ่งคลาดเคลื่อน หากเจ้าหน้าที่ทุศีลด้วยยิ่งดำเนินการได้ง่ายดาย...
ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน ตอนหน้าเราจะมาดูอำนาจหน้าที่ของผู้มีอำนาจเพิกถอนเอกสารสิทธิทั้ง น.ส.3 และโฉนด ว่ามีอำนาจแค่ไหน
?
Last updated: 2015-01-17 16:47:52
|
@ สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 3 |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ สิรินาถฤาจะสิ้นผู้พิทักษ์ 3
|