กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
ผู้ที่ตำหนิเราคือผู้ที่รักเรา จงยินดีและไม่ปฏิเสธ
 
     
 
พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (18)
กล่าวกันว่าหากเข้าป่าพบสัญลักษณ์ 2 อย่าง คือ ป้ายสีแดงหัวกะโหลกสีขาวหนึ่ง ให้หลีกอย่าเข้าไปเด็ดขาด สองหากมีกลุ่มไม้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอยู่จำนวนมาก แสดงว่ามีระเบิดที่ถูกฝังไว้
 

                ในตอนที่ (17) เราทิ้งประเด็นไว้ว่าจะพาไปดูไม้พะยูงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลาต่อ เพื่อไม่ให้เป็นการเยิ่นเย้อ เพราะไม้ที่ขึ้นในแถบนี้เป็นโซนเดียวกันลักษณะจะไม่แตกต่างกันมาก  จะขอบรรยายตั้งแต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และสุดท้ายอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา ป่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ไม้พะยูงที่ขึ้นอยู่จะแตกต่างกันตรงที่ไม่ค่อยพบที่ขึ้นเป็นกลุ่มก้อน เดินเข้าป่านานๆทีจะเจอสักต้นที่มีขนาดใหญ่  สำหรับไม้ที่มีขนาดเล็กอยู่ที่ตีนเขาถูกลักลอบตัดฟันไปไม่น้อย  พื้นที่นี้ล่อแหลมต่อการสูญสิ้นไม้พะยูงเพราะมีการลักลอบตัดทั้งคนไทย และชาวกัมพูชา พฤติกรรมการลักลอบตัดจากชาวกัมพูชาจะมีตลอดแนวชายแดน ซึ่งเป็นปัญหากับเจ้าหน้าที่ในการดูแลป้องกัน เนื่องจากชาวต่างชาติมีกองกำลังติดอาวุธอารักขา แต่ในช่วงปี 2550 เรื่องเหล่านี้ยังไม่ปรากฏ ผู้เขียนยังได้มีโอกาสขึ้นไปดูร่องรอยการลักลอบตัดไม้บนเทือกเขาพนมดงรักและเห็นเส้นทางที่ชาวต่างชาติใช้เพื่อการขนย้าย ได้นำภาพประกอบด้วยแล้ว เรื่องมีอยู่ว่า....

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 ได้เดินทางไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา เนื่องจากกรมมีหนังสือให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจข้อเท็จจริง  กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลาขอทิ้งของกลางคือรถยนต์ทำการเกษตรและไม้เต็มคันรถ  ไว้ในที่เกิดเหตุในระหว่างคดี เนื่องจากที่เกิดเหตุอยู่บนเขาสูงหากทำการกรุยทางเพื่อชักลากออกมาจะไม่คุ้มค่ากับที่จะทำให้พื้นที่ป่าต้องเสียหาย กรมมีข้อสงสัยว่าผู้ลักลอบตัดไม้สามารถเอารถขึ้นไปได้ ทำไมเจ้าหน้าที่เราจึงเอากลับไม่ได้ ขอให้หาข้อเท็จจริงแล้วรายงานให้กรมทราบ ผู้เขียนขณะนั้นรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักฯ คิดว่างานนี้ต้องไปด้วยตนเองเรื่องจะได้จบ ถึงคราวที่ “ขุนจะต้องออกศึกอีกครั้ง” คงจะไม่หนักหนาอะไร พอไปถึงเขตสอบถามผู้ช่วยสาธิต พันธุมาศ  เพราะเป็นผู้จับกุม ได้สอบถามว่าให้ช่วยพาไปอีกครั้งจะได้หรือไม่  เพราะได้ข่าวว่าหัวหน้าเขต สั่งให้เข้าไปอีกครั้งไม่ใคร่จะอยากไป  เพราะพื้นที่มันกันดารทั้งไกลและทั้งสูงชัน...  

เมื่อเจอผู้เขียนถาม รีบตอบว่านำไปได้ คงเป็นเพราะสมัยผู้เขียนเป็นหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ศก.2 (ขุขันธ์)  ตอนนั้นคุณสาธิตเป็นผู้ช่วยป่าไม้อำเภอ ป่าแถบนี้เราได้เคยลุยกันมามากแล้ว  ผู้เขียนให้ไปประสานขอกำลังทหารพรานที่ตั้งฐานอยู่ที่ข้างหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยสวาย ได้กำลังพร้อมอาวุธมา 5 คน รวมพนักงานพิทักษ์ป่าของเราอีก 10 คน เจ้าหน้าที่มีผู้เขียน คุณประเวศ สุจินพรัหม คุณสาธิต พันธุมาศ เจ้าของท้องที่  ในตอนเช้าให้กำลังพลมายืนตรวจนับจำนวนคน ตลอดทั้งยุทธปัจจัย และยุทโธปกรณ์ เมื่อทุกอย่างพร้อม  เราจะนั่งรถกันไปพักไว้ที่ฐานทหารพราน และจะเดินเท้าเข้าไปเพราะเส้นทางไม่สามารถนำรถเข้าไปได้  ช่วงแรกที่เข้าไปจะเป็นเส้นทางเดินของทหารพรานหรือชาวบ้านแต่สภาพป่าข้างทางออกจะทึบรู้สึกว่าจะเป็นป่าดิบแล้ง เดินทางเข้ามาได้ประมาณชั่วโมงป่าเริ่มโปร่ง  สภาพป่าที่ผ่านมาโดยตลอดเป็นป่าที่สมบูรณ์มากเท่าที่เคยพบในแถบภาคอีสานตอนล่าง เดินผ่านจะเห็นผลไม้ป่า  เช่น เงาะป่าสีแดงแต่ขนาดเล็กกว่าเงาะ     ในสวน มีลำธารไม่กว้างมากนัก น้ำใสไหลเย็น มีพลาญหินแซมตลอด  พบสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งกือ แต่มีขนาดความโตกว่าที่เคยพบ บางช่วงบางตอนของลำธารจะพบความต่างระดับ ทำให้เกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็กและไม่สูงมากนัก  มองไปบนก้อนหินบางก้อนมีตะใคร่น้ำจับเต็มไปหมดและมีต้นตีนตุ๊กแกไต่รอบโคนไม้ล้มและบรรดาเฟินหลายชนิดขึ้นแซมก้อนหิน  พอเดินมาได้คาดว่าน่าจะพ้นราวป่าพบตอไม้พะยูงที่ถูกตัดฟัน และเราก็ได้เห็น “ป้ายสีแดงหัวกะโหลกสีขาวบนต้นไม้” แสดงว่าในบริเวณแถบนี้ยังคงเหลือทุ่นระเบิดที่เขมรแดงได้นำมาฝังไว้ เมื่อคราวมีสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2518 - 2522 และยังไม่มีการเก็บกู้ กล่าวกันว่าหากเข้าป่าพบสัญลักษณ์ 2 อย่าง คือ ป้ายสีแดงหัวกะโหลกสีขาวหนึ่ง ให้หลีกอย่าเข้าไปเด็ดขาด สองหากมีกลุ่มไม้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอยู่จำนวนมาก แสดงว่ามีระเบิดที่ถูกฝังไว้ พวกไม้ขนาดใหญ่มันหลุดรอดมาได้เพราะอะไรทุกท่านคงทราบ ป่าที่รกทึบผ่านพ้นไปจะเป็นป่าโปร่งบ้าง  มองตามพื้นจะมีไข่ของสัตว์เลื้อยคลาน เช่นของงู หรือตะกวดเป็นบางจุด บนต้นจะเป็นรังต่อขนาดใหญ่แล้วพวกเราก็มาถึงจุดที่ต้องการตรวจสอบ  ภาพที่เห็นเป็นรถไทยประดิษฐ์ ที่เราเรียกว่า “คุณแต๋น”ถูกเผาเหลือแต่โครงแชชซี ต่ำแหน่งที่รถอยู่เหมือนจะติดหล่ม ส่วนด้านหน้ามีก้อนหินใหญ่กั้น ซึ่งทำให้กำลังรถที่บรรทุกไม้ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซล  แรงม้าประมาณ 20 แรงม้าเท่านั้น    คงขึ้นไม่ได้เหลือแต่ซากจริงๆ ไม่ทราบมือดีที่ไหนมาจัดการ  แต่ดูไปก็นับว่าเป็นผลดี  เพราะพวกลักลอบตัดเห็นว่าเป็นชาวต่างชาติ  ก็เอาไปไม่ได้ เราก็เอาลงไม่ได้ ถือว่าเสมอกัน แต่ความสงสัยของผู้เขียนที่เข้าใจเช่นกรมว่า ทำไมเขาเอารถขึ้นมาได้  แล้วเราจับจึงเอาลงไม่ได้ ก่อนจะหาคำตอบได้ให้ทีมงานพัก บริเวณแถบนั้นเป็นผลาญหินพื้นชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ   นี้คือความสมบูรณ์ของป่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง...!?

เมื่อจัดการกับอาหารกลางวันซึ่งล่วงเวลามาเกือบชั่วโมง  เริ่มหาคำตอบ มองไปทั่วบริเวณที่นั่งพื้นที่เป็นที่โล่ง เป็นหย่อมๆ และเป็นที่ราบพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะเป็นสันเขา  ซึ่งเป็นสันของเทือกเขาพนมดงรัก เพราะที่เดินผ่านมาเราจะเห็นสันปันน้ำที่แบ่งให้น้ำไหลไปลงห้วยศาลาและห้วยจันทร์  ซึ่งเป็นเขตแดนไทย  ตรงที่เรานั่งรู้สึกว่าจะเป็นเส้นทางเหมือนทางเกวียนเก่าที่ไม่ได้ใช้งานมานาน พยายามหาร่องรอยของยางรถยนต์ แต่ก็ไม่พบ  เพราะพื้นดินเฉอะแฉะมีน้ำหล่อเลี้ยง จึงถามทหารพรานว่าเป็นทางอะไร ให้พาเดินดูทหารบอกว่า น่าจะเป็นทางสัญจรของพวกลักลอบล่าสัตว์ป่าหรือหาของป่า  จึงพากันเดินออกจากตำแหน่งที่นั่งไปประมาณ 200 เมตร  ผู้เขียนเดินไปพบขวดน้ำดื่มพลาสติก ฝามีตัวอักษรภาษาของกัมพูชา จึงให้ทหารพรานเอาแผนที่และเครื่องจับพิกัดดาวเทียม (GPS) มาลองพิกัดจับดู ทหารพรานบอกว่า  ถ้าเดินออกไปอีกสองเมตรจะเป็นเขตแดนของประเทศกัมพูชา...

ผู้เขียนจะเดินเข้าไป แต่ทหารพรานห้ามไว้ ว่าไม่ปลอดภัยอาจปะทะกับทหารกัมพูชาได้   ได้ตรวจเส้นทางแล้วขนาดกว้างเกือบ 4 เมตร รถปิกอัพวิ่งได้สบาย แต่คงไม่มีใครสามารถเอาขึ้นมาได้แน่ เมื่อสำรวจเสร็จสิ้น  เห็นว่าบ่ายคล้อยมากแล้วจะกลับไม่ทัน  จึงสั่งให้ทุกคนเดินทางกลับ ตอนเดินทางกลับผู้เขียนลองนึกดูว่าเส้นทางที่พบน่าจะเป็นเส้นทางที่พวกลักลอบตัดไม้เอารถ  อีแต๋นขึ้นมาแน่นอน  เพราะรถอีแต๋นเป็นรถที่มีรอบช้าการปีนไต่จะดีกว่ารถปิกอัพ  ถ้าเป็นอย่างที่ตั้งสมติฐานไม้พะยูงของเราคงข้ามไปทางกัมพูชามิสะดวกกว่าลงทางฝั่งไทยหลายร้อยเท่า นึกแล้วขนลุก.. พะยูงฤาจะอยู่คู่แผ่นดินไทย ? จึงได้รายงานกรมไปว่า  เอารถลงไม่ได้เพราะทางชันมาก...  

ขอให้ดูรูปภาพประกอบเพื่อความสมบูรณ์ของการบรรยาย...

กลับมาถึงสำนักฯ ก่อนที่ทำหนังสือรายงานกรมได้นั่งนึกทบทวนอยู่นาน  เพราะตามระเบียบแล้วการตรวจสอบคราวนี้เพื่อที่จะนำข้อมูลไปยืนยันว่าไม่คุ้มค่าที่จะกรุยทางนำของกลางลงมาเก็บรักษาไว้ และถ้าผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทิ้งของกลางได้ให้หัวหน้าเขตแจ้งพนักงานสอบสวนทราบ  และแจ้งเจ้าหน้าที่หมั่นออกตรวจตราดูแล และป้องกันความเสียหายอันพึงจะเกิดแก่ของกลางนั้น ในความเป็นจริงที่พบมันถูกกองกำลังต่างชาติทำลาย หากไม่รายงานตามข้อเท็จจริง จะมีความผิดฐานปกปิดข้อความอันควรแจ้ง  แต่ถ้ารายงานข้อเท็จจริงไปนักกฎหมายไม่เอาไว้แน่  ต้องให้ตั้งกรรมการตรวจสอบสวนข้อเท็จจริงมาแน่นอน เพราะพวกเขาไม่ได้มาเดินป่าเหมือนอย่างเรา.

ฉะนั้น ฉบับแรกรายงานตามปรกติ ว่าของกลางหากนำออกไม่คุ้มค่าเสียหาย แล้วทิ้งเวลาไปอีกเดือนค่อยรายงานว่าของกลางถูกกองกำลังต่างชาติเผาทำลาย หัวหน้าเขตและผู้จับกุมจะได้ไม่เดือดร้อน ตอนเข้าไปจับกุมก็ฝ่าทุ่นระเบิดและลูกปืนบุกเข้าไปจับ เกือบเอาชีวิตไม่รอด  จับได้แล้วยังถูกตั้งกรรมการสอบสวนอีก หากเป็นเช่นนี้เราจะหาลูกน้องที่ไหนมาทำงานให้ มิน่าจึงชวนใครขึ้นมาดูอีกครั้งไม่มีใครอยากไป ทั้งไกลทุรกันดาร ฝ่าแดนอันตรายทุกด้านหากจะพูดไปหน่วยเหนือน่าจะมีหนังสือชมเชยบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมถึงจะสร้างขวัญกำลังใจ ดีกว่าจะหาทางลงโทษเสมือนหนึ่ง “เสร็จนา ฆ่าโคถึก เสร็จศึก ฆ่าขุนทัพ” ซึ่งคนที่มีปัญญาเขาจะไม่ทำกัน สิ่งที่ควรทำคือ “ยามดีใช้ ยามไข้รักษา” เมื่อวิเคราะห์เรียบร้อยแล้วตัดสินใจตามที่ได้คิดไว้ใน 2 ประเด็นข้างต้น และคิดว่าขนาดผู้เขียนซึ่งอาวุโสมากโขยังออกตรวจสอบด้วยตนเอง  แล้วหากไม่เห็นใจก็ต้องทำใจ... ติดตามตอนต่อ (19)


Last updated: 2015-01-24 11:53:39


@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (18)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (18)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
986

Your IP-Address: 34.206.1.144/ Users: 
985