ว่าจะจบเรื่องของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เพียงตอนเดียวเพราะเห็นว่าผู้มีหน้าที่ทุกระดับได้ให้ความสนใจเป็นอย่างดีแล้ว แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2557 นี้ได้มีโอกาสไปภูเก็ต เพื่อจะได้เยี่ยมถามสาระทุกข์กับหัวหน้ากิติพัฒน์ฯ แต่ก็ไม่พบกัน เนื่องจากท่านไปติดต่อราชการที่กรม แต่ก็ได้เบอร์โทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ แต่กว่าจะได้ต้องตามหาหลายแห่ง แสดงว่าทางอุทยานฯมีการ รปภ. ดีมาก จึงมีโอกาสพูดคุยกันบ้างทางโทรศัพท์ พอจะทราบความอึดอัดใจ แต่ก็ได้ให้กำลังใจให้ต่อสู้ต่อไป พอกลับมาถึงบ้านได้รับแจ้งจากคุณประเวศ สุจินพรหม ว่ากรมจะส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปช่วยอุทยานแห่งชาติสิรินาถ โดยตนเองจะสมัครไปผู้เขียนจึงรีบสนับสนุน เพราะเป็นโอกาสดีที่จะได้ช่วยเหลือผู้ร่วมงาน และไปรับรู้ประสบการณ์ เก็บเกี่ยวความรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี...
ต่อมาจึงทราบว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ 2470/2557 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบเอกสารสิทธิ และปราบปรามการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต มีคณะทำงานถึง 20 ชุดๆละ 5 คน รวมแล้วประมาณ 100 คน เห็นแล้วรู้สึกดีใจแทนหัวหน้าที่ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไปแล้ว ทราบว่ามีห้วงเวลาปฏิบัติงานเพียง 2 เดือน (60 วัน) นับว่าพอดีไม่มากไม่น้อย ยามเราแบกของหนักยังมีคนมาช่วย ถือว่าโชค ลาภ ภาษานักเลงเขาเรียกว่า เดี่ยวมีรุม
ผู้เขียนสมัยเป็นหัวหน้าสำนักงานพัฒนาป่าไม้ หากมีคดีที่ต้องต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลจะระดมเจ้าหน้าที่จากหน่วยป้องกันรักษาป่า ในสังกัดเข้าต่อกรด้วยทันทีและก็ได้ผลทุกราย พอคุณประเวศ เข้าไปอยู่ปฏิบัติงานได้ 30 วัน ก็ได้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินอุทยานแห่งชาติสิรินาถ มาปรึกษา ได้ศึกษาอยู่หลายวัน พบว่าปัญหาที่ดินป่าไม้ในท้องที่จังหวัดภูเก็ต ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว เพราะมีการออกโฉนด(น.ส.4)หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายกรณี หากผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้าไม่เจนจัดในเรื่องที่ดินป่าไม้แล้ว ก็เป็นการยากที่จะแก้ไข...
สำหรับข้อกฎหมายนั้น แม้ว่ากฎหมายที่ดินออกจะเป็นกฎหมายที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง แต่กฎหมายของกรมป่าไม้ก็มีมากคงจะเอาอยู่ แต่การแสวงหาข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานที่มันเกิดขึ้นในอดีต เมื่อปี 2497 หากจะหามันพบจริงๆ ต้องนั่งเครื่องไทม์แม็ชชีน (Time machine) ย้อนเวลาหาอดีต ซึ่งมีแต่ในจินตนาการเท่านั้น...
ในขณะที่กำลังอ่านเรื่องราวการบุกรุกที่ดินป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติสิรินาถอยู่พอดีกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากเจ้าตัวขอย้ายเหตุจากอึดอัดใจ เวลานอนต้องใส่เสื้อเกราะตลอดเวลา ฟังแล้วก็น่าเห็นใจอุตสาห์ต่อสู้มาตั้ง 2 ปี...
พอผู้เขียนเห็นปัญหาของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดังนี้แล้วจึงมีความคิดว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช น่าจะใช้วิกฤตตรงนี้เป็นโอกาส...
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในกรมผู้ใดอยากได้ความดีความชอบ สองขั้น หรือเลื่อนตำแหน่งเป็นชำนาญการพิเศษ หรือ อาวุโส เปิดรับสมัครแล้วคัดไปดำรงตำแหน่งทั้งอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติสิรินาถ คิดว่าน่าจะมีคนสนใจมาก และเราก็จะได้คนที่มีความประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องบังคับ นับว่าไม่เลว ท่านนิติกรทั้งหลายก็จะได้มีโอกาสด้วย ถือว่าได้ให้โอกาสผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอหน้ากัน....!!?
ต่อไปเรามาดูว่าเขาออกโฉนดในที่ดินป่าไม้ได้อย่างไร จะขอพูดในภาพรวมเสียก่อน สำหรับระเบียบหรือข้อกฎหมายที่หยุมหยิมค่อยว่ากัน เท่าที่เคยอ่านพบการขอออกโฉนดในที่ดินป่าไม้จะต้องปฏิบัติตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ถ้าที่ดินที่ขอออกโฉนดนั้นอยู่ติดต่อ คาบเกี่ยว หรืออยู่ในเขตป่าไม้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งกรรมการร่วมกันออกไปตรวจพิสูจน์ที่ดิน ประกอบไปด้วยป่าไม้อำเภอ ที่ดินอำเภอ ปลัดอำเภอและกรรมการอื่นที่เห็นสมควร เมื่อตรวจพิสูจน์แล้วให้เสนอความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าสมควรออกหนังสือการทำประโยชน์หรือไม่อย่างไร ในกรณีออกโฉนดให้อนุโลมใช้ระเบียบนี้ คณะกรรมการตรวจพิสูจน์หากเป็นการขอออกโฉนด คณะกรรมการจะมีตำแหน่งสูงหน่อย เช่นป่าไม้จังหวัด ปลัดจังหวัด ที่ดินจังหวัด แต่ความเห็นมักจะคล้ายกันดังนี้...
ในขณะที่ทำการตรวจสอบได้มีสภาพการทำประโยชน์การปลูกยางพารา มะพร้าว และมะม่วงหิมพานต์ พอเหมาะสมกับสภาพที่ดินแล้ว และน่าเชื่อถือได้ว่าเป็นแปลงที่ดินเดียวกันกับ ส.ค.1 ที่ยื่นจริง เห็นควรดำเนินการให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ขอต่อไป
อ่านข้อความข้างบนแล้วเข้าใจได้ว่า ผู้ครอบครองที่ดินได้ทำประโยชน์เต็มพื้นที่แล้วเท่านั้น ไม่มีข้อความใดที่จะยืนยันได้ว่าที่ดิน ส.ค.1 ฉบับนี้มีการครอบครองและทำประโยชน์โดยปลูกยางพารา มะพร้าว และมะม่วงหิมพานต์ มาก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 จะเห็นได้ว่าเป็นการตรวจพิสูจน์ที่ดินที่ไม่รัดกุม ควรจะมีการวิเคราะห์อายุของพืชผลหรือหาพยานหลักฐานจนเป็นที่น่าเชื่อได้ว่าที่ดินมีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินประกาศใช้ และมีการแจ้งการครอบครองภายใน 180 วัน นับถึงแค่พระราชบัญญัติใช้บังคับวันที่ 29 พฤษภาคม 2498 ที่ดินจึงจะได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย...
พอเห็นเทคนิคการออกโฉนดที่ดินแล้วทำให้นึกถึงคดีจับไม้พะยูง ที่ผู้ต้องหานำเอกสารว่าเป็นไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองมาอ้าง ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ไม้นิยมใช้สำนวนเพียง 4 บรรทัดว่า...ตอไม้ที่ปรากฏมีปริมาตรไม้ ครอบคลุมปริมาตรไม้พะยูงของกลางได้ และจากการตรวจความเก่าของไม้พะยูงของกลางกับตอไม้ในที่ดินโฉนด น.ส.3ก มีความเก่า ใหม่ ใกล้เคียงกัน จึงหน้าเชื่อได้ว่าไม้พะยูงของกลางถูกตัดทอนมาจากตอไม้ในที่ดินที่มีโฉนด น.ส.3ก ของบุคคลทั้งสามจริงพออัยการเห็นรีบสั่งไม่ฟ้องทันที...
เราจะเห็นได้ว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญพยายามที่จะหลบเลี่ยงขนาดความโตของตอไม้มาเป็นส่วนเปรียบเทียบเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อท่อนจะใช้องค์รวมและปริมาตรความเก่าใหม่มาอ้างแทน เช่นเดียวกับคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดิน ที่พยายามใช้ว่า ได้มีการทำประโยชน์เต็มพื้นที่แล้วเป็นเกณฑ์...
แต่ก็น่าเห็นใจเพราะยังไม่มีเทคนิคของนิติวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยการพิสูจน์สิทธิ์คงมีแต่พยานบุคคล หากคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์จะใช้ความพยายามค้นหาหลักฐานโดยคิดสักหน่อยว่าเมื่อออกเป็นโฉนดแล้ว เพิกถอนยาก จะทำให้ต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แล้วเราจะมากล่าวถึงกรณีการออกแนวที่พิลึกในตอนต่อไป...
Last updated: 2015-01-10 13:42:47