หลังจากที่แจ้งความร้องทุกข์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 ผู้เขียนได้บอกคณะของเราอันมีคุณณรงค์ คุณประเวศฯ คุณไมตรีฯ ว่าหลักฐานเพียงเท่าที่เราส่งยังไม่พอ จำเป็นจะต้องหาเพิ่มเพื่อที่จะผูกมัดไม่ให้ผู้ต้องหาต่อสู้ได้ เมื่อกลับมาสำนักงานแล้วบังเอิญทราบว่า ในวันที่ 7 มิถุนายน 2550 จะมีเครื่องบินตรวจสภาพป่าจากกระทรวงมาบิน ผู้เขียนจึงขอขึ้นบินและให้บินไปยังตำแหน่งพิกัดที่เรา จับจีพีเอสไว้ ทำการถ่ายภาพลงมาในตำแหน่งที่ไม้พะยูงอยู่ (เสียดายรู้ช้าไปหน่อย ไม่ได้ให้ภาคพื้นดินจุดไฟให้เกิดควันเพื่อระบุตำแหน่งตอไม้พะยูง) จึงได้ภาพออกมาเป็นภาพที่มีสภาพป่าแบ่งแยกกับที่ทำการเกษตรอย่างชัดเจน จึงนำภาพและหลักฐานการบินเก็บไว้ เตรียมส่ง เพราะเราต้องหาหลักฐานเพิ่ม บังเอิญวันที่เราเข้าไปตรวจตอไม้ พอเราเดินทางกลับออกมาถนนใหญ่ หันกลับไปดูป่าที่เราเข้าไป เจอป้ายขนาดใหญ่เขียนไว้ว่า ป่าชุมชนป่าดงใหญ่ จึงเกิดไอเดียว่าควรจะไปพบผู้นำท้องถิ่นเพื่อสอบถาม...!?
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 จึงได้พาคณะไปพบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองข่า อำเภอปทุมราชวงศา ขอดูแผนที่ป่าชุมชน นายกองค์การฯ ให้ความร่วมมือนำแผนที่ป่าดงใหญ่มาให้ โชคดีที่เป็นแผนที่คัดลอกจาก แผนที่ทหาร มาตราส่วน 1 : 50,000 เหมือนแผนที่ของเรา คุณประเวศฯ จึงนำพิกัดจาก เครื่อง จีพีเอส ลงตำแหน่งของตอไม้พะยูง ปรากฏว่า ตอไม้พะยูงอยู่ในเขตป่าชุมชนดงใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าดงคำเดือย จึงจัดทำบันทึกและจัดทำแผนที่ ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองข่า ร่วมลงนาม กลับมาถึงที่ทำงานนำหลักฐานการบินและการตรวจสอบป่าชุมชนดงใหญ่ ทำหนังสือนำส่งพนักงานสอบสวน เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2550...
มาสรุปเรื่องราวที่เราติดตามหาพยานหลักฐานจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ทางสำนักได้มีหนังสือสอบถามไป 2 ฉบับ ฉบับแรกถามว่า ตอไม้ตามพิกัดที่เราส่งไปให้อยู่ในที่ของปฏิรูปที่ดินหรือไม่? ฉบับที่สอง ถามว่าไม้ในที่ดินปฏิรูปเป็นไม้ของปฏิรูปใช่หรือไม่
ได้คำตอบกลับมาว่า ตอไม้อยู่ในเขตดำเนินการ โครงการป่าดงคำเดือย แปลง 1(E) ยังไม่ได้สำรวจรังวัดออกเอกสารสิทธิ เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดมาแจ้งการถือครองที่ดินดังกล่าว และอีกฉบับตอบว่า พื้นที่ดินที่พบตอไม้พะยูงเป็นป่าตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 4(1) ไม้พะยูงที่ถูกตัดเป็นไม้หวงห้าม ไม่ใช่ทรัพย์สินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ไม่มีระเบียบปฏิบัติในการพิจารณาให้ตัดไม้ในเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่เคยอนุญาตให้ผู้ใดตัดไม้ในพื้นที่ดังกล่าว ทางเราจึงได้สำเนาหนังสือทั้งสองฉบับให้พนักงานสอบสวนเป็นการเพิ่มเติม และสำหรับที่ดินจังหวัดตอบว่า ต้องให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ยื่นคำร้องขอสอบเขต เราจึงทำหนังสือแจ้งนางจวงฯ ผู้เป็นบุตร นางจวงฯ จึงขอให้ศาลแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของบิดา เสร็จแล้วจึงไปยื่นสอบเขต ผลการสอบเขต...
ขอให้ผู้อ่านได้โปรดติดตามในตอนเจ้าหน้าที่ที่ดินเบิกความในชั้นศาล...
สำหรับเอกสารสิทธิ์ ที่นางกิ่งดาวฯ นำ น.ส.3ก ของนางวิไลภรณ์ฯ มาอ้าง ผู้เขียนกลับมาสำนักงานฯ จำได้ว่าเอกสารฉบับนี้เคยเห็นที่ไหน จึงค้นดูปรากฏว่า น.ส.3ก ของนางวิไลภรณ์ฯ ฉบับที่ใช้อ้างกับเรา นายระพีพัฒน์ฯ ได้เคยใช้ต่อสู้ไม้ของตนที่ถูกอายัดที่อำเภอเขมราฐ โดยส่งสำเนาให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขมราฐ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2549 เป็นการใช้อ้างก่อนที่จะถูกคณะของเราจับกุมเป็นเวลา 6 เดือน จึงได้สำเนาเอกสารของนายระพีพัฒน์ฯ ส่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญเป็นการเพิ่มเติม...
จุดใดที่เรามองว่าจะเป็นจุดอ่อนคณะทำงานของเรารีบปิดช่องโหว่ ทั้งๆ ที่คดีไม้รายนี้มีไม้พะยูงเพียง 19 ท่อน/ เหลี่ยม แต่เป็นการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี หากเธอชนะ เจ้าหน้าที่ไม่ว่าป่าไม้ ปกครองหรือ ตำรวจไม่กล้าเข้าไปยุ่งกับเธออีกต่อไป สำหรับทีมของเราหากเอาไม่อยู่เห็นทีต้องล้างมือในอ่างอลูมิเนียมเป็นแน่ ถือว่าหมดน้ำยาจริงๆ...
และแล้ววันที่คณะของเราจะต้องขึ้นศาลเพื่อเบิกความ ก่อนที่จะดำเนินการท่านผู้พิพากษาท่านได้เมตตาบอกกับจำเลยว่าควรจะสารภาพ โทษจะได้เบา และยังได้เรียกทนายไปบอกอีก ท่านว่าฝ่ายโจทก์ หลักฐานเข้าแน่นมาก แต่เธอยังยืนยันว่าจะสู้ วันนั้นเป็นวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ผู้เขียนไม่เห็นคุณวีระพงษ์ฯ หัวหน้าหน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพยานโจทก์คนแรก แสดงว่าคงเบิกความไปก่อนแล้ว วันนี้จึงเห็นแต่คุณประเวศฯ เจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานปฏิรูปที่ดิน และฝ่ายจำเลยทั้ง 2 คน และทนายหนึ่งคน พอเข้าห้องพิจารณา ผู้เขียนในฐานะพยานโจทก์ อีกคนจึงอยู่นอกห้องพิจารณามีบรรดาผู้พิทักษ์ป่าของหน่วยมานั่งฟังกันหลายคนเพราะผู้เขียนเกณฑ์ ให้มาหาประสบการณ์ ขณะที่ข้างในกำลังเบิกความกันอยู่นั้นเสมือนมีเสียงแว่วๆ ดังออกมานอกห้องว่า คุณทศนารถ นั่งอยู่ในห้องหรือเปล่า ถ้าอยู่ให้ออกนอกห้อง รู้สึกว่าจะเป็นเสียงของทนายฝ่ายจำเลย แต่ก็มีเสียงตอบจากผู้พิทักษ์ป่า ว่าไม่อยู่ แล้วทุกอย่างก็ดำเนินไป ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษๆ...
คุณประเวศฯ ออกมาเรียก ผู้เขียนเดินเข้าห้อง ขึ้นไปที่คอกพยาน สาบานตนแล้ว ทนายฝ่ายโจทก์คือท่านอัยการ ท่านซักตัดตอนไปถึงข้อเท็จจริงในตอนที่ตรวจไม้ในที่ดินนางจวงฯ ว่าที่ดินนางจวงฯ มีสภาพเช่นไร ผู้เขียนเบิกความว่ามีสภาพเป็นที่นาถาวร หมายถึงมีสภาพการทำนา มีคันนาและตอซังข้าว ถัดจากที่ดินนางจวงฯ ไปจะมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์แบ่งแยกให้เป็นอย่างชัดเจน ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ จึงคิดว่าอาจมีการตัดไม้มาจากป่าแถบนี้ จึงให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระจัดกระจายกำลังออกค้นหาซากตอไม้ จึงพบตอไม้ 1 ตอ ถูกทอนโคน ห่างจากใจกลางที่นานางจวงฯประมาณ 200 300 เมตร ได้ใช้แผ่นพลาสติกใสทาบแล้วเขียนลายตอไม้ พบว่าเข้ากันได้กับไม้ของกลาง จำนวน 1 ท่อน ซึ่งเป็นไม้ถากกลมของกลางที่ยึดได้มีจำนวน 7 ท่อน ได้ตรวจสอบวิธีเดียวกันพบว่าไม้ถากกลมทั้ง 7 ท่อน เป็นไม้ที่ตัดมาจากต้นเดียวกัน เมื่อผู้เขียนกลับไปสำนักงานฯ พบเอกสารสำเนา น.ส.3ก ของนางวิไลภรณ์ฯ ที่ทางพ่อค้าที่อำเภอเขมราฐใช้ต่อสู้ในคดีอื่น จึงได้ส่งให้พนักงานสอบสวนเป็นเพิ่มเติม...
พอจบเรื่องราว ต่อไปศาลจะสืบเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญต่อ...
จากการสืบพยานจากเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ความว่า ตนในฐานะรักษาราชการแทนได้ให้เจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบปรากฏว่า จุดที่พบตอไม้ตรงกันกับจุดที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ตรวจและตนไม่ได้ไปตรวจสอบด้วยตนเอง จึงไม่ทราบว่าบริเวณดังกล่าวยังคงเหลือสภาพป่ามากน้อยเพียงไร มีการทำประโยชน์แล้วหรือไม่ แต่ทราบว่าจุดที่พบตอไม้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้มอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน เมื่อปี 2537 ขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา จึงยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่ ส่วนหลักเขต สปก. ที่พบ คาดว่าคงจะเป็นหลักเขตที่ดินที่มีการรังวัดที่ดินข้างเคียง....
สำหรับจำเลยที่ 1 นางกิ่งดาวฯ ได้เบิกความไปก่อนนี้แล้วสาระสำคัญที่สรุปได้คือว่า ได้ให้นางจวงฯ ไปยื่นสอบเขตกับสำนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ แล้วผลปรากฏว่า จุดที่ตอไม้ขึ้นอยู่ อยู่ในเขตที่ดินของนางจวงฯ จริง
จุดไคลแม็ก ของเรื่องนี้จะอยู่ที่การเบิกความของเจ้าหน้าที่ที่ดินที่อยู่ไปรังวัดสอบเขตว่าจะเป็นอย่างไร...
โปรดติดตามตอน...(16)
Last updated: 2014-11-01 10:35:39