หวังดีต่อตัวเอง หวังดีต่อผู้อื่น หวังดีต่อสังคม (3 ดี)
 
     
 
พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (14)
เมื่อคณะของเราหาตอไม้ในที่นาไม่พบ เมื่อมีการอ้างเอกสารฉบับนี้ ผู้เขียนคิดว่ามันน่าจะต้องมีไม้อยู่จริง คิดได้ดังนั้นแล้วจึงให้พวกเรากระจายเดินค้นหาทางทิศใต้ที่มีสภาพป่า
 

                ในตอนที่ (13)  เราได้ทิ้งเรื่องราวการลักลอบตัดไม้ของหญิงเหล็กที่เธอสู้ทุกคดี ถึงการลักลอบขนไม้พะยูง      ไปส่งพ่อค้าจำนวนไม่มาก ขอสรุปสั้นๆ สำหรับท่านที่ไม่ได้อ่านตอน (13) นางกิ่งดาวฯ ถูกจับกุมขณะขับรถขนไม้พะยูงจำนวน 19 ท่อน/เหลี่ยม โดยรถยนต์ปิกอัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ในชั้นแรกเธอต่อสู้ว่าไม้ที่ขนเป็นไม้ที่ถูกต้อง โดยนำหนังสือของสำนักอัยการจังหวัดอำนาจเจริญ ที่เคยสั่งไม่ฟ้องคดีเธอเมื่อวันที่  22  ธันวาคม  2549  ซึ่งครั้งนั้นเธอขนไม้ เพียง 15 ท่อน ทางเราจึงได้ทำการตรวจสอบเปรียบเทียบให้ ปรากฏว่าไม้จำนวน  15  ท่อน  ในตอนที่เธอรับคืนมีรูปถ่ายอยู่ด้วยและมีบัญชีไม้ประกอบ ปรากฏว่าดูแล้วภาพก็ไม่ตรงกันขนาดความยาวและความโตก็แตกต่างกัน ทางเราจึงสรุปว่าไม่ใช่ไม้เก่าที่เคยถูกสั่งไม่ฟ้อง...

                 ต่อมาเธอนำ น.ส.3ก.  ของนางวิไลภรณ์ฯ มาอ้าง คณะเราจึงเข้าพื้นที่ตรวจที่ดินของนางวิไลภรณ์ ปรากฏพบตอไม้พะยูง 2 ตอ ได้จัดการวาดรูปหน้าตัดลงบนแผ่นพลาสติกใส นำมาทาบกับไม้ของกลางที่จับทั้ง 19 ท่อน เข้ากันไม่ได้อีกเช่นกัน ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 นางกิ่งดาวฯ ได้นำเอกสารสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์   (น.ส.3) ของนายแสน ต้นโพธิ์ เนื้อที่ 9 – 2 – 70 ไร่ ซึ่งนายแสนฯ เสียชีวิตแล้วมี นางจวง คำผุย ซึ่งเป็นบุตรสาวเป็นผู้ถือเอกสารฉบับนี้ โดยนางกิ่งดาวฯได้นำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวนางจวงฯ ซึ่งตนเองรับรองสำเนามามอบให้เพื่ออ้างว่าได้ตัดไม้จากที่ดินของนางจวงฯ  คณะของเราจึงจำเป็นต้องไปตรวจสอบอีกครั้งโดยมีนางจวงนำตรวจ...

                ในตอนต่อไปนี้จะเป็นตอนที่น่าติดตาม....

                วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550  ตอนบ่ายสองโมงทางคณะของเราได้นัดหมายนางจวง คำผุย เพื่อตรวจสอบพื้นที่ ในการตรวจสอบครั้งนี้ ผู้เขียนกลับจากอบรมที่กรมฯ แล้วจึงร่วมไปด้วย ที่ดินนายแสน ต้นโพธิ์ บิดาของนางจวง มี  เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 70 ตารางวา อยู่ที่หมู่ 5 ตำบลป่าก่อ อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ จากการตรวจสอบพื้นที่ปรากฏว่า...

                ที่ดินซึ่งนางจวงฯ นำตรวจสภาพเป็นที่นา ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นการทำนามาใหม่ๆ ยังคงสภาพของตอซังข้าว  ปรากฏอยู่แปลงที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยม  ตาม น.ส.3 ระบุว่า ทิศเหนือจดป่า  ทิศใต้จดป่า ทิศตะวันออกจด นายโจม พันธ์แดง  ทิศตะวันตกจดป่า...

                ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเสียก่อนว่า น.ส. 3 ฉบับนี้เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ไม่มีจุดยึดโยงเหมือน น.ส.3ก. ที่มีระวางให้ตรวจสอบได้ ฉบับนี้ระบุเพียงทิศเหนือ ยาว 5 เส้นจดป่า ทิศใต้ ยาว 5 เส้น จดป่า ทิศตะวันออกยาว 2 เส้น จดนายโจม พันธ์แดง ทิศตะวันตก ยาว 2 เส้นจดป่า แต่ก็เป็น น.ส.3 ที่ยังดีว่าระบุจดที่ดินของบุคคลอยู่หนึ่งด้าน มิฉะนั้นแล้วคงเป็น น.ส.3 พรมวิเศษ ที่จะเอาไปครอบที่ใดก็ได้ ถ้าจดป่าทุกด้าน  ตรวจบริเวณที่ทำนาแล้วไม่พบตอไม้พะยูง ที่มีขนาดพอทำเป็นสินค้าได้ มีตอเล็กๆ อยู่บนจอมปลวกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว เก่าอยู่ 1 ตอ แต่ทางด้านใต้ที่ระบุว่าจดป่ามีความยาว 2 เส้น โดยสภาพที่เห็นยังคงมีสภาพป่า มีไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น เมื่อคณะของเราหาตอไม้ในที่นาไม่พบ เมื่อมีการอ้างเอกสารฉบับนี้  ผู้เขียนคิดว่ามันน่าจะต้องมีไม้อยู่จริง คิดได้ดังนั้นแล้วจึงให้พวกเรากระจายเดินค้นหาทางทิศใต้ที่มีสภาพป่า และแล้วเราก็พบตอไม้พะยูงขนาดย่อม 1 ตอ มีท่อนที่เป็นโพรงถูกตัดทอนโคนทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุหนึ่งท่อน  รูปร่างตอเหมือนกับท่อนโคนของไม้ของกลาง วัดระยะห่างจากคันนาที่กั้นระหว่างนากับป่าได้ 80 เมตร และบริเวณนั้นที่มุมแปลงด้านทิศตะวันออกพบหลักเขต สปก. ปักอยู่ ตอไม้พะยูงวัดได้สูง 55 เซนติเมตร วัดรอบตอได้ 193 เซนติเมตร ท่อนที่ทอนอยู่ข้างๆวัดความยาวได้ 85 เซนติเมตร วัดรอบโต 159 เซนติเมตร ไม้ถูกตัดมาประมาณ 1 เดือน โดยใช้เลื่อยมือ รอบๆบริเวณพบเปลือกและกระพี้ไม้ตกอยู่พอสมควร เจ้าหน้าที่ได้นำแผ่นพลาสติกใสที่ได้วาดภาพไม้ที่อายัดไว้ทาบกับท่อนปลายของไม้ที่ถูกทอนทิ้งไว้ ปรากฏว่าเข้ากันได้ สภาพพื้นที่บริเวณตอไม้เป็นสภาพป่ามีไม้หนาแน่น และมีชนิดและขนาดต่างๆ ไม่ปรากฏว่าพื้นที่โดยรอบผ่านการทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรมมาก่อนแต่อย่างใด จากการสอบถามนางจวง คำผุย ว่าพื้นที่ดังกล่าวได้รับมรดกตกทอดมาจากบิดา       ซึ่งเสียชีวิตแล้ว คณะเราได้นำสำเนาเอกสารที่ดินที่นางกิ่งดาวฯ นำไปอ้างให้ดูแล้วรับว่าเป็นของตนจริง แต่ไม่ได้เป็นคนรับรองสำเนา พื้นที่ที่พบตอไม้ไม่เคยทำประโยชน์ทางเกษตรกรรมแต่อย่างใด ไม่เคยรู้จักกับนางกิ่งดาวฯ สำหรับไม้พะยูงได้ขายให้นายแหล่ ไม่ทราบนามสกุลไปประมาณ เดือนหนึ่งแล้ว คณะของเราจึงได้ทำบันทึกพร้อมจัดทำแผนที่เกิดเหตุ ให้นางจวงฯ เป็นผู้นำตรวจเป็นเอกสาร จำนวน 6 แผ่น

                วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ได้ทำหนังสือจากสำนักฯ ถึงปฏิรูปที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ขอทราบรายละเอียดการครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงคำเดือนแปลที่ 1

                วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ได้ทำหนังสือจากสำนักฯ ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญ ขอเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบการถือครองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ของนายแสน ต้นโพธิ์

                วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา 13.00 – 17.40 น. คณะของสำนักฯ และเจ้าหน้าที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ได้นำพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ และเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอประทุมราชวงศา ได้ร่วมกันตรวจตอไม้ที่เจ้าหน้าที่ไปพบ ทำการลอกลายหน้าตัดตอไม้ด้วยแผ่นพลาสติกใส ได้ถ่ายภาพเก็บรายละเอียดทุกด้าน แล้วจึงนำหลักฐานแผ่นพลาสติกใสที่ได้ นำกลับไปตรวจทาบกับไม้ที่อายัดไว้ปรากฏว่าเข้ากันได้ตรงกัน จึงสรุปว่าไม้ที่ถากกลมใหม่จำนวน 7 ท่อน มาจากตอที่อยู่นอกเขตแปลงที่ดินของนางจวง คำผุย ได้จัดการทำบันทึกแล้วให้คุณประเวศฯ ไปบันทึกลงประจำวันไว้ที่สถานีภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ...

                เมื่อเราตรวจสอบรวบรวมหลักฐานแล้ว จึงกลับสำนักฯ...

                วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550 เตรียมเอกสารภาพถ่ายและบัญชีไม้เรียบร้อยแล้ว คุณประเวศฯ จึงได้ทำการบันทึทกการจับกุม โดยขึ้นหัวว่า...ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 แล้วก็ร่ายยาวว่ามีเจ้าหน้าที่จากที่ใดบ้างร่วมจับกุม และเล่าพฤติการณ์ของการจับกุม ไล่เรียงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 รวมเป็นเวลา 20 วัน ที่เราอายัดไม้และสืบสวนสอบสวนแสวงหาหลักฐานข้อเท็จจริงในการดำเนินคดี แม้ว่าจะเป็นคดีเล็ก มีไม้เพียง 19 ท่อน แต่ผู้ต้องหาต่อสู้ หากไม่กระทำเช่นนี้อะไรจะเกิดขึ้นขอให้ท่านผู้อ่านติดตาม...

                มาถึงตอนท้ายของบันทึก ในหัวข้อ “การพิจารณา” ความว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วสรุปได้ว่า    ไม้พะยูงมาจากพื้นที่มีสภาพเป็นป่า ไม่เคยทำกินมาก่อนแต่อย่างใด จึงมีความเห็นร่วมกันว่า นางกิ่งดาวฯ และนายสงกรานต์ฯ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 ข้อหา ร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 69 ข้อหา ร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้จัดทำเรื่องราวและมอบให้นายวีระพงษ์ฯ เจ้าหนักงานป่าไม้ 5 หัวหน้าหน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ นำเรื่องราวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 1 – 20 กุมภาพันธ์ 2550...

                จะเห็นว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้ขอให้เจ้าหน้าที่จากสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอำนาจเจริญ และผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้มาตรวจสอบรับรองไม้เหมือนคดีเก่าที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง  เพราะทีมงานเราได้พาพนักงานสอบสวนไปตรวจที่เกิดเหตุและดำเนินการพิสูจน์ให้เห็นว่าไม้ที่อายัดเป็นไม้มาจากตอในป่าจริง...

                ติดตามการต่อสู้คดีในตอน (15...)


Last updated: 2014-10-11 09:10:32


@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (14)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (14)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,209

Your IP-Address: 3.144.101.75/ Users: 
1,208