ในตอนที่แล้วเราทิ้งปรัศนีไว้ว่า เราจับไม้พะยูง 19 ท่อน จำนวน 9 ท่อนแรก ผู้ต้องหาได้อ้างหนังสือสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีเก่า ที่ผู้ต้องหาได้รับไม้คืนมา แล้วอีก 10 ท่อนเธอจะใช้อะไรมาอ้าง...
มาดูข้อเท็จจริงของไม้ 10 ท่อนก่อน มีจำนวน 3 ท่อนที่เป็นไม้แก่นล่อนอันเนื่องมาจากล้ม
ขอนนอนไพรแล้วถูกไฟไหม้ อีก 7 ท่อน เป็นไม้ใหม่สดที่ถูกถากกระพี้ออกเหลือแต่แก่นสีแดงอมม่วง ผู้ต้องหาได้ใช้สำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) ของนางวิไลภรณ์ฯ อยู่ที่ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ มีเนื้อที่ 3 – 1 - 30 ไร่ มาอ้าง...
วันที่ 2 ภุมภาพันธ์ 2550 คณะเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ร่วมกันตรวจสอบตอไม้พะยูง มีนางกิ่งดาวฯ และนายสงกรานต์ฯ เป็นผู้นำชี้ตรวจสอบที่ดิน น.ส.3ก เลขที่ 379 เล่ม 4ข หน้า 29 เนื้อที่ 3 – 1 - 30 ไร่ ออกให้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2540 โดยมี ชื่อนางวิไลภรณ์ฯ เป็นเจ้าของสิทธิ์ โดยเจ้าหน้าที่ได้วางหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบคือ...
1. ตรวจสอบชนิดไม้ตรงกันหรือไม่ ?
2. ตรวจสอบไม้ที่ตอกับไม้ที่ตรวจจับกุมว่าตรงกันหรือไม่ โดยใช้แผ่นพลาสติกใสทาบหน้าตัดของไม้ ที่ตอ และไม้ที่ทำการอายัดไว้ว่าสามารถเข้ากันได้หรือไม่ ?
3. เปรียบเทียบบัญชีไม้ที่นางกิ่งดาวฯ นำมาอ้างซึ่งถูกจับกุมเมื่อ 28 ตุลาคม 2549 และอัยการ สั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง กับไม้ที่อายัดว่าตรงกันหรือไม่
4. ตรวจสอบวงปีที่ตอและไม้ที่ทำการอายัด ตรงกันหรือไม่ โดยใช้เข็มหมุดและดูด้วยตาเปล่า
5. ตรวจสอบกำลังผลิตของไม้ ความเป็นไปได้ระหว่างความสูงกับท่อนไม้
เจ้าหน้าที่ได้จัดทำแผ่นพลาสติกใสทาบหน้าตัดของไม้ที่อายัดไว้เพื่อตรวจสอบแก่นไม้ วงปี พร้อมวัด
ขนาดภาพถ่าย เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับตอไม้ และได้นำสำเนาหนังสืออัยการจังหวัดอำนาจเจริญที่ อส (อจ) 0031/2784 และที่ อส (อจ.) 0031/2785 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 พร้อมคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการจังหวัดอำนาจเจริญ และบันทึกการส่งมอบ – รับมอบ ฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2549 จำนวนเอกสาร 4 แผ่น ในจำนวนเอกสาร 4 แผ่น ไม่ปรากฏบัญชีไม้ของกลางรวมอยู่ด้วยอีกทั้งเป็นเรื่องที่แปลกที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า(นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นผู้จับ คนส่งมอบไม้กลายเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นผู้มอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อมอบต่อ นางกิ่งดาวฯ ก็ไม่มีบัญชีไม้อีกเช่นกัน ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ของเราจึงจำเป็นต้องใช้บัญชีรายการไม้ท่อน – ไม้แปรรูปที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ตรวจยึดในครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2549 มาเปรียบเทียบกับไม้ที่กำลังอายัดเพื่อที่จะทำการตรวจยึดในขณะนี้คือ ไม้พะยูง 19 ท่อน...
ก่อนที่จะดำเนินเรื่องการดำเนินคดีกับนางกิ่งดาวฯ ซึ่งเป็นหญิงเหล็กที่ค้าไม้พะยูงและสร้างความเกรงขามให้กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในท้องที่ในเรื่องการฟ้องกลับ จนทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้แทบจะไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวหากไม่จำเป็น...
ในคืนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ขณะที่พวกเรากำลังบันทึกการจับกุมโดยการอายั
ดไม้นางกิ่งดาวฯ ไว้ตรวจสอบ ผอ.ณรงค์ฯ กับพนักงานพิทักษ์ป่า ได้เบาะแสว่า เจอรังของขุมทองคำเขียวแล้ว ผู้เขียนซึ่งกำลังนั่งดูคุณประเวศฯ บันทึกปากคำนางกิ่งดาวฯ บอกว่ารอก่อนจะไปด้วย รีบลุกออกสำนักงานหน่วยฯ ออกไปขึ้นรถของ ผอ.ณรงค์ฯ มีพิทักษ์ป่าเป็นคนขับขณะนั้น ในราวสองทุ่มเห็นจะได้ รถพาเราไปที่แห่งใดไม่ทราบได้ พอมาถึงป่ายูคาลิบตัสซึ่งคาดว่า อยู่ในเขตอำเภอเมือง มีถนนลูกรังเป็นเส้นทางหลัก และมีซอยเข้าเหมือนกับมีการแบ่งแปลง พอรถเลี้ยวเข้าไปในซอยหนึ่งเป็นที่โล่ง พลันสายตาของเราก็จับภาพได้ว่าสิ่งที่กองอยู่ตรงหน้า พระเจ้าช่วย เป็นไม้พะยูงกองเป็น หย่อมๆ กองหนึ่งไม่น่าต่ำกว่า 100 ท่อน ภายในจะมีถนนเชื่อมถึงกัน มีไม้พะยูงที่มีขนาดความยาวมาตรฐาน 2 เมตร 10 เซนติเมตร หรือ 2 เมตร 20 เซนติเมตร ส่วนสภาพมีตั้งแต่ใหม่สดจนถึงเป็นไม้แก่นล่อน ลักษณะไม้ล้มขอนนอนไพร แต่ละกองไม่น่าจะเกิน 500 ท่อน ร่วมเป็น 4 จุด ในความมืดพวกเราไม่สามารถมองอะไรได้ชัดเจนนัก พยายามวิ่งรถโดยใช้ไฟหน้ารถให้น้อยที่สุด ใช้เวลาตรวจไม่ถึง 30 นาที รีบเดินทางกลับเกรงว่า เจ้าของไม้จะไหวตัวเสียก่อน...
พอกลับมาถึงหน่วยประเวศฯ เขียนบันทึกเสร็จพอดี จึงร่วมกันลงนามในบันทึกจนครบทุกคน พอผู้ต้องหาทั้งสองไปแล้ว พวกเราเข้าห้องปิดประตูประชุมกันทันที สรุปว่า เราจะทำการจับกุมตอนย่ำรุ่งราวตีห้า เพราะต้องรอกำลัง คุณณรงค์ฯ ได้แจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักทราบ ท่านว่าจะมาร่วม ได้ขอกำลังไปยังศูนย์ควบคุมไฟป่าอุบลราชธานีมี คุณธานนท์ โสภิชา เป็นหัวหน้า และกำลังจากหน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า(นปป.)ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกับสายตรวจปราบปรามฯของสำนักฯ ทั้ง 2 สาย วันนี้โชคไม่เข้าข้างเรา เพราะผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ป้องกันทรัพยากรไม่อยู่ และผู้เขียนต้องเดินทางไปเข้ารับการอบรมที่กรมในวันถัดไป แต่อย่างไรก็ขอจับก่อนแล้วค่อยไปคงไม่สาย เมื่อโทรศัพท์นัดหมายกำลังพลแล้ว ....
ประมาณเวลา 4 ทุ่ม กำลังพลเดินทางมาที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมแล้ว ผู้เขียนในฐานะอาวุโสจำเป็นต้องเป็นกัปตันเรือในครั้งนี้ ให้กำลังพลยืนเรียงหน้ากระดานแล้วนับจนครบ มีกำลังพลทั้งสิ้น 40 นาย แล้วให้กระจายเป็นแถว ตอนละ 10 คน ให้พนักงานขับรถมาเตรียมไว้ครบ 4 คัน แล้วให้กำลังทั้งหมดแยกย้ายกันขึ้นคันละ 10 คน...
สำหรับตอน 1 ตอน 2 ให้คุณธานนท์ฯ ควบคุมไป ตอน 3 ตอน 4 ให้หัวหน้าหน่วยฯ อำนาจเจิญ คุมให้ขับตามรถผู้เขียนไป ซึ่งในรถมีคุณณรงค์ฯ คุณประเวศฯ ไปด้วย ทุกอย่างยังเป็นความลับ กำลังพลทุกคนไม่รู้ว่าเราจะพาไปที่ไหน ทำอะไร แต่ก็ไม่มีใครซักถามเพราะรู้หน้าที่ดีว่า ต้องรับปฏิบัติเท่านั้น แม้แต่คุณธานนท์ฯ หัวหน้าศูนย์ควบคุมไฟป่าอุบลราชธานี ก็ไม่รู้ พอไปถึงป่ายูคาลิปตัสทิศเหนือบ้านน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ปล่อยรถเข้ายังจุดกองไม้ทั้ง 4 จุด แล้วโทรศัพท์แจ้งการปฏิบัติให้ทราบว่าหากพบให้จับกุมไว้ และทำการเข้าตรวจสอบไม้ และควบคุมทุกอย่างไว้อย่าให้เล็ดลอดไปได้...
ผู้เขียนและคณะมาจุดสุดท้าย เป็นจุดที่ 4 พอลงจากรถใช้ไฟฉายที่ติดตัวมาส่องดู พระเจ้าช่วย...
มันเป็นรถสิบแปดล้อ บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ที่นั่งคนขับมีชายฉกรรจ์ นั่งอยู่อย่างไม่สะทกสะท้านอะไร เดินไปดูท้ายรถมีไม้พะยูงบรรทุกอยู่ครึ่งคันรถ ในคืนนั้นเป็นคืนที่หนาวพอสมควร พวกเราจึงได้จุดเศษไม้ที่เป็นกระพี้ของ ไม้พะยูงเพื่อเป็นแสงส่องสว่าง ห่างออกไปไม่ไกลมากนักพบรถสิบล้อ เป็นรถเครนบรรทุกเป็นหางปลา (ขนาดบรรทุก 15 – 20 ตัน) ใช้ในงานลากและยกสินค้าที่มีน้ำหนักมาก และรถจักรยานยนต์อีก 6 คัน ขวานถากอีก 6 เล่ม ควบผู้ต้องหานายสมบัติฯ กับพวก 3 คน พอพวกเราตรวจทั้ง 4 จุดเรียบร้อย แล้วนำผู้ต้องหาไปที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า(นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ สำหรับที่เกิดเหตุได้จัดให้พนักงานพิทักษ์ป่าและพนักงานดับไฟป่าเฝ้า ไว้รุ่งเช้า จะเข้ามาดำเนินการ.....
พอรุ่งเช้าข่าวแพร่สะพัดไปทั่ว มีหน่วยงานมาร่วมตรวจสอบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดก็มาด้วย มีเจ้าหน้าที่ร่วมจับกุมตั้งแต่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 เจ้าหน้าที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) ชุดเฉพาะกิจตำรวจภูธร ภาค 3 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลน้ำปลีก เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทุกหน่วยงานมาร่วมลงนามในบันทึกการจับกุม (ผู้เขียนเมื่อจับแล้วในตอนเช้าพาผู้บริหารดูที่เกิดเหตุแล้ว พอบ่ายก็ต้องเดินทางเข้ากรมเพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 7 วัน) ในบันทึกไม่มีผู้เขียนลงนามร่วม แต่ได้โทรศัพท์จากกรมให้คุณประเวศฯ และคุณณรงค์ฯมาร่วมลงนาม เพราะการจับกุมครั้งนี้มอบให้กรมป่าไม้เป็นเจ้าภาพ กรมป่าไม้ได้มอบให้หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้เขียนซึ่งอบรมที่กรมฯ รู้สึกสังหรณ์และร้อนใจเกรงว่าหัวหน้าหน่วยนปป. จะตามเกมส์พ่อค้าไม้ไม่ทัน และสุดท้ายก็เป็นไปตามที่คิดไว้ มันเป็นเรื่องน่าอดสูและอัปยศสำหรับคนจับกุมมาก ไม่อยากจะนำมาเล่าให้ฟัง จะเป็นการหมิ่นประมาทกันเปล่าๆ...
คิดว่ากรรมคือตุลาการที่เที่ยงตรงที่สุด คดีนี้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 พาดหัวข่าว “ยึด 2,500 ท่อน แก๊งไม้เถื่อน ลอบขนส่งขายนอก คุมตัว 3 คน เค้นสอบไม่ยอมซัดผู้บงการฯ”
เมื่อข่าวการลักลอบตัดไม้ทางอีสานใต้ถูกหนังสือพิมพ์ประโคมข่าวไม่เว้นแต่ละวัน จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้จัดให้มีการประชุม เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ทั้งอีสานใต้และอีสานตอนบน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมมิตรไมตรี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน...
เมื่อประชุมเสร็จท่านรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูไม้ของกลางที่พวกเราจับ ที่หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า(นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ และเดินทางเข้าพบผู้ว่าที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้เดินทางไปต้อนรับและชี้แจง และได้เดินทางไปประชุมต่อที่จังหวัดมุกดาหารแล้วเดินทางกลับ...
จะเห็นได้ว่า ผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้ให้ความสนใจกรณีการลับลอบตัดไม้พะยูงข้ามชาติมาก ต่อไปสมควรจะเป็นหน่วยงานระดับล่างมิใช่หรือ ที่จะทำให้ไม้พะยูงไม่สูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เรื่องการจับกุมไม้ที่อำนาจเจริญ การดำเนินคดีไม่อยากจะเล่าต่อ เป็นเรื่องน่าอดสูและน่าอับอาย ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดจิตสำนึก และที่น่าอายที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบโดยตรง แต่การจับกุมในครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนพอจะรู้เส้นสายปลายทางและกลุ่มบุคคล ที่ร่วมขบวนการลักลอบตัดหรือซื้อไม้พะยูงส่งขายข้ามชาติ เหตุที่ไม่ได้ดำเนินการต่อ เนื่องจากมีความต้องการที่จะ ออร์รี่รีไท เพราะหาบุคคลที่จะร่วมอุดมการณ์ไม่ได้ อยู่ไปรังแต่จะอายฟ้าดิน จึงเก็บข้อมูลไว้ในใจ มิอาจนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ ขอให้กรรมเป็นตุลาการในเรื่องนี้ เราจะตามคดีของหญิงเหล็กต่อในตอนที่ (14)...

Last updated: 2014-09-05 16:27:35