พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (12)
ผู้เขียนในฐานะประธานในที่ประชุม ไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับการทำงานที่เมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงก็แต่งตั้งกรรมการไว้ก่อน เป็นยันต์ป้องกัน แต่ทางปฏิบัตินั้นค่อยว่ากันอีกที ระบบราชการจึงมีแต่ นามธรรม ไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม
คดีที่จบไปในตอน (11) ท่านผู้อ่านคิดเหมือนผู้เขียนหรือไม่? หน่วยงานอื่นที่มีอำนาจในการจับกุมแท้ๆ ลงทุนลงแรงจับนำของกลางไปเก็บรักษา กลับมีอีกหน่วยงานหนึ่งเข้าไปขอแทรกตั้งข้อหา และทางอัยการกลับฟ้องให้กับฝ่ายที่เข้าไปแทรก ประหลาดแท้ แล้วที่มีการจับไม้ที่ท่าเรือเป็นสิบๆตู้คอนเทนเนอร์ หน่วยงานป่าไม้ที่เกี่ยวข้องได้ไปร่วมสอดแทรกบ้างหรือไม่ หรือว่าเราไม่มีอำนาจน่าจะลองดูบ้างเพราะ โทษทางป่าไม้เราสำหรับไม้จำนวนมากแล้ว โทษไม่เบาทีเดียว โดนไปคนละ 5 ปี 10 ปี คงเข็ดไปอีกนาน...
เรามาว่าเรื่องของเราต่อดีกว่า หลังจากที่ได้เข้าจับกุมไม้ที่ศุลกากรยึดแล้ว ก็มีข่าวการลักลอบตัดไม้ ขนโดยรถตู้คอนเทนเนอร์มากมาย สิ่งที่ผิดปรกติคือ ตามหลักแล้วเราจะเห็นรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์วิ่งตามถนนหลวง และมักจะพบแถวทางแยกไปภาคตะวันออก แต่คราวนี้กลับพบว่ามีการนำมาวิ่งตามแนวชายแดน ตามตำบล หมู่บ้านเป็นสิ่งที่ผิดสังเกต ...
ข่าวพวกนี้เริ่มมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงตีพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน หน่วยงานภาคสนามในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 เริ่มรายงานการจับกุมพวกที่บุกรุกลักลอบเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์ประปราย ผู้เขียนในฐานะที่รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักฯบ่อยครั้งและแต่ละครั้งหลายวัน เพราะผู้อำนวยการสำนักฯท่านติดราชการกรมและต้องเข้ารับการฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูงนานถึง 6 เดือน และเรื่องการจับกุมการลักลอบตัดไม้พะยูงหนาหูขึ้นผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเพื่อชี้แจงให้กรมได้รับทราบ ทางกรมได้มอบให้รองอธิบดีที่คุมสำนักป้องกันฯเป็นผู้ดูแลสำหรับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 เจ้าของพื้นที่ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร ซึ่งมีความรู้ความสามารถทันต่อเหตุการณ์ เร่งรีบเรียกประชุม หัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม ผู้อำนวยการส่วนทุกส่วน หัวหน้ากลุ่มกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่อาคารอเนกประสงค์ของสำนักงาน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549 เวลา 10.00 น. สรุปได้ว่า...
ให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นศึกษาขบวนการลักลอบทำไม้พะยูงเพื่อการค้า ในพื้นที่รับผิดชอบของ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ให้ผู้อำนวยการสำนัก เป็นประธาน ผู้อำนวยการส่วนทุกส่วนเป็นกรรมการ และ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร เป็นเลขานุการ ผู้เขียนในฐานะประธานในที่ประชุม ไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับการทำงานที่เมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงก็แต่งตั้งกรรมการไว้ก่อน เป็นยันต์ป้องกัน แต่ทางปฏิบัตินั้นค่อยว่ากันอีกที ระบบราชการจึงมีแต่ นามธรรม ไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม ผลจึงไม่ไคร่จะประสบความสำเร็จ หลังจากที่ทางสำนักได้ประชุม ต่อมาอีก 4 เดือน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งที่ 1897/2549 เรื่อง ให้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง ไม้ประดู่ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 โดยให้ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า เป็น ผอ.กอ.ปปอ. ให้ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เป็นเลขานุการ โดยให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2550 ในเวลา 3 เดือน จึงสรุปผลให้กรมทราบว่า จับกุมดำเนินคดีป่าไม้ ครอบครองไม้พะยูง ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน และไม้สาธร จำนวนทั้งสิ้น 115 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 62 ราย ตรวจยึดไม้ของกลาง จำนวน 5,355 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร 451.06 ลูกบาศก์เมตร จับในป่าอนุรักษ์ 34 คดี นอกเขตป่าอนุรักษ์ 81 คดี ที่นำตัวเลขมาให้ดูเพื่อจะให้ทราบว่า เมื่อมีการจับกุมตามแผนดำเนินการ เฉลี่ยแล้วจับได้กันแทบทุกวัน แล้วที่หนีรอดไปอีกไม่ทราบว่าจะเป็นเท่าใด...
ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร ท่านมีความรอบรู้มากและขยันได้รายงานผลการปฏิบัติ โดยได้แจกแจงตั้งข้อสังเกตรายงานปัญหาอุปสรรค ได้อย่างละเอียดและต่อมาท่านยังได้ประสานงานขอกำลังทหารจากกองกำลังสุรนารีสนับสนุนการปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง ไม้ประดู่ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 60 คน ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 และขอสนับสนุนอากาศยานจากกองกำลังสุรนารี ในการบินตรวจป่าอีกด้วย โดยของบประมาณไปยังกรม ซึ่งได้รับการอนุมัติเป็นเงิน 614,100 บาท สำหรับเป็นเบี้ยเลี้ยงกำลังพล สำหรับค่าน้ำมันเครื่องบินอนุมัติให้ 136,000 บาท ผลการบินสำรวจ จำนวน 17 เที่ยว ตั้งแต่ 28 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ตรวจพบการกระผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ จำนวน 15 จุด ตรวจยึดไม้พะยูง ไม้พะยอม ฯลฯ จำนวน 240 ท่อน/แผ่น/ เหลี่ยม ปริมาตร 17.411 ลูกบาศก์เมตร ผู้ต้องหา 1 คน ตรวจยึดพื้นที่ป่าบุกรุก เนื้อที่ 34 1 02 ไร่ ไม่พบตัวผู้กระทำผิด...
ที่เล่ามานี้ต้องการให้ท่านทราบว่าทางสำนัก และกรมอุทยาน มิได้นิ่งนอนใจได้หาวิธีการและบูรณาการกับหน่วยงานอื่นมาตลอด มีบางท่านที่รู้และไม่รู้ ผู้เขียนพยายามนำเสนอเรื่องในอดีตเพราะเปรียบได้กับเราจะร่างหนังสือซักฉบับจำเป็นต้องค้นหาแฟ้มเรื่องเดิม นำมันมาอ่านจบทะลุปรุโปร่งแล้ว จึงจะทำการร่างได้ถูกต้องตรงประเด็น ตอนนี้ขอเป็นผู้ขี่ม้าเลียบค่ายเสียก่อนที่จะเข้าตีเมือง หวังว่าผู้อ่านคงเข้าใจ....
ตั้งแต่กรมได้มีการจัดตั้ง กอ.ปปอ.เป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนไม่ใคร่จะได้อยู่รักษาราชการมากนัก เพราะเป็นช่วงผลัดเปลี่ยนผู้อำนวยการสำนัก และเป็นจังหวะที่สายข่าวแจ้งให้ทราบว่า พบแหล่งรวมหมอนไม้พะยูงแล้วอยู่ที่อำนาจเจริญแต่กำลังหาพิกัดอยู่ ผู้เขียนช่วงนี้ไม่ได้รักษาราชการแทน และคำสั่งเกี่ยวกับการปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงไม่ว่าจะเป็นสำนักฯตั้ง หรือกรมแต่งตั้งจะไม่มี หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ เป็นกรรมการแม้แต่ฉบับเดียว เมื่อได้รับข่าวจำเป็นจะต้องไป จึงขออนุมัติไปราชการเพื่อสำรวจพันธุ์ไม้ที่ วนอุทยานภูสิงห์ ภูผาผึ้ง ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงบังอี่และป่าดงหัวกอง ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ คราวนี้มาติดที่ไม่มียานพาหนะ จึงไปชวนผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นน้ำ คุณณรงค์ อุทยารัตน์ โดยให้ไปตรวจหน่วยจัดการต้นน้ำ รวบรวมกำลัง คุณประเวศ คุณไมตรี ซึ่อยู่ในสายป้องกันทั้งสองคนไปร่วมด้วย เนื่องจากหากไปตรวจพบจะได้มอบเรื่องให้สายงานโดยตรง โดยพากันออกเดินทางในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ไปประสานกับสายข่าวที่อยู่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อจ.1 (อำนาจเจริญ) จึงนำกำลังเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า ซึ่งรู้พื้นที่ดีตามไปด้วย ขณะเดินทางถึงบริเวณ เส้นทางบ้านดอนหวาย ตำบลบุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ไปยังบ้านหนองไฮ ตำบลหนองไฮ อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ขณะเดินทางถึงบ้านหนองมะเสี่ยง ตำบลหนองไฮ อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ พบรถปิคอัพ สีแดงโครงหลังคาสูง หมายเลขทะเบียน บง 1407 อำนาจเริญ ดูท่าทางจะบรรทุกหนักแต่วิ่งรวดเร็ว จึงได้ติดตามจากเส้นทางบ้านหนองมะเสี่ยง ถึงบ้านโคกสำราญ ตำบลนาแต้ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจิญ จึงเรียกให้หยุดแล้วแสดงตัวเพื่อขอตรวจสอบ เมื่อรถหยุดได้ให้ตรวจสอบแต่โดยดี มีนางกิ่งดาวฯ อายุ 42 ปี เป็นผู้ขับขี่ และมี นายสงกรานต์ฯ อายุ 33 ปี นั่งคู่มาด้วยในตอนหน้ารถ ตรวจสอบด้านหลังกระบะรถยนต์ โดยเปิดผ้าใบคลุมรถ พบไม้เต็มกระบะ ลักษณะใหม่สด ตรวจดูเป็นชนิดไม้พะยูง ไม่ปรากฎรูปรอยตราประทับของพนักงานเจ้าหน้าที่ของทางราชการ ตีประทับแต่อย่างใด จากนั้นจึงได้ควบคุมรถขนไม้และผู้ต้องหา ไปทำการสอบสวนที หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจิญ...
เมื่อถึงที่หมายได้เอาไม้ลงจากรถ เจ้าหน้าที่ได้ร่วมตรวจสอบกับนางกิ่งดาวฯ เป็นไม้พะยูง จำนวน 19 ท่อนและได้คัดออกมา 9 ท่อน โดยนางกิ่งดาวฯ อ้างว่าเป็นไม้ที่เคยถูกจับมาแล้วและเพิ่งได้รับคืนจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หลังจากพนักงานอัยการจังหวัดอำนาจเจริญ สั่งไม่ฟ้องคดี และนำเอกสารการได้มาของไม้มาแสดง เป็นสำเนาหนังสือสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการจังหวัดอำนาจเจริญที่ตนเองลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง สำหรับไม้พะยูง อีก 10 ท่อน เป็นไม้แก่นล่อน บางท่อนมีรอยไฟไหม้ไม้ ทั้งหมดไม่เคยประกอบเป็นสิ่งปลูกสร้าง สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้มาก่อน...
ท่านผู้อ่านลองดูว่าหญิงเหล็ก เธอจะสู้คดีอย่างไร ในเมื่อไม้พะยูง 9 ท่อนแรก มีหนังสือสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจากอัยการแล้ว จำนวน 10 ท่อนหลัง เป็นไม้พะยูงจะใช้อะไรเป็นหลักฐาน...
ติดตามตอน (13)
Last updated: 2014-07-27 07:09:39
|
@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (12) |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (12)
|