การหนีปัญหาเป็นสิ่งที่ดี แต่การเผชิญหน้ากับมันย่อมดีกว่า
 
     
 
พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (11)
แต่มีตอนหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนต้องหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะศาลท่านถามว่า ไม้พะยูงเป็นไม้หวงห้ามใช่หรือไม่?
 

                คดีประวัติศาสตร์ที่ป่าไม้เราควรศึกษา  เรามาว่ากันต่อ มาดูสาระสำคัญในบันทึกการจับกุม ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากร บันทึก เอาเป็นว่าเราย้อนไปเรื่องเดิมสักนิด  เจ้าหน้าที่ศุลกากรจับรถตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 2 คัน ได้ผู้ต้องหา 2 คน และมีนายระพีพัฒน์ฯ มาแสดงตนว่าเป็นเจ้าของไม้  มาดูบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นขบวนการขั้นต้น จะสรุปประเด็นหลักคือ      เมื่อนายระพีพัฒน์ฯ มามอบตัวแล้ว ผู้จับกุมได้สอบถามดังต่อไปนี้ ...  

                “นายระพีพัฒน์ฯ ได้มาแสดงตนและให้ปากคำยืนยันว่า นายวสันต์ฯ (คนขับรถ) และ หจก.ชาญชัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเพียงผู้ถูกจ้างให้ขนส่งเท่านั้น และได้ให้ปากคำต่อไปว่า  ตนเองรับซื้อไม้พะยูงจากบุคคล 3 คน คือ นายเล็ก นายบุญมี และนางหนูค่าย ซึ่งเป็นคนรู้จักกันนำมาขายในราคาถูกและตนทราบดีว่า เป็นไม้ที่ไม่ได้ผ่านการชำระภาษีศุลกากร เพราะบุคคลทั้ง 3 ได้แจ้งแก่ตนไว้ และตนต้องการซื้อเพื่อขายต่อทำกำไร  โดยต้องการส่งให้ลูกค้าที่อยู่ต่างประทศ  เนื่องจากมีญาติชื่อนายดำจะเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร ณ ท่าเรือบางประกง  จังหวัดฉะเชิงเทรา  โดยตนเองไม่มีหลักฐานการชำระภาษีศุลกากร และไม่มีเอกสารใบอนุญาตส่งออกสินค้าไม้พะยูงแต่อย่างใด”

                ตอนท้ายขมวดว่านายระพีพัฒน์ฯ ยินยอมรับสารภาพโดยนายวสันต์ฯ เป็นประจักษ์พยาน  ความหมายก็คือกันคนขับรถออกไม่ต้องเป็นผู้ต้องหา ให้ลงนามในช่องพยาน กับรถอีกคันที่ถูกจับก็ให้นายวิชิตฯ พนักงานขับรถเป็นพยานเช่นเดียวกัน  กรณีนี้ถ้าเป็นทางป่าไม้จับจะตั้งข้อหาร่วมกันกระทำความผิด คือเป็นตัวการทั้ง 3 คน…

                มาดูการดำเนินการชั้นพนักงานสอบสวนบ้าง  ได้ทำการสอบปากคำนายนิมิต ผู้จับก็ได้ให้การไปตามบันทึกการจับกุม โดยแจ้งข้อกล่าวหาตาม มาตรา 27ทวิ ว่าช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ    ซึ่งของที่รู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักร  โดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้าม ข้อจำกัด และพนักงานสอบสวนได้สอบผู้ต้องหาทั้งสาม และได้แจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. ศุลกากร ให้ผู้ต้องหาทั้งสามทราบในเบื้องต้น  ผู้ต้องหาที่หนึ่งรับสารภาพ ผู้ต้องหาที่สองและสามให้การปฏิเสธ  ต่อมาเมื่อสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 มาทำการตรวจสอบไม้ ผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ยังยืนยันว่าได้ซื้อไม้จากราษฎรลาว 3 คน อยู่เมืองไชยภูทอง แขวงสะหวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ตรงข้ามอำเภอชานุมาน ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ว่าจ้างนายสุพจน์ฯ เจ้าของเรือหางยาวขนไม้ของกลาง 16 เที่ยวค่าจ้าง 30,000 บาท จากนั้นจ้างรถบรรทุก 6 ล้อ ขนไม้มาเก็บไว้ที่โกดังอำเภอวารินชำราบ  เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และได้เรียกรถจากระยองมาขนจนถูกจับ…  

                สรุปว่า พนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง 2 พ.ร.บ. โดยตาม พ.ร.บ.ศุลกากร นายระพีพัฒน์ฯ รับเป็นผู้ต้องหาคนเดียว คนขับรถ นายวสันต์ฯ นายวิชิตฯ ปฏิเสธ  แต่ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ปฏิเสธทั้งสามคน คราวนี้มาถึงในชั้นอัยการ กลับเป็นว่าฟ้องเพียง พ.ร.บ. เดียวคือ พ.ร.บ.ป่าไม้  จึงจำเป็นจะต้องนำสืบให้ได้ว่า เป็นไม้ที่ไม่ได้ลักลอบหลีกเลี่ยงการเสียภาษี   มาดูการพิจารณาในชั้นศาลบ้าง…

                ประเด็นแรก คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร และมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง เกินกว่ายี่สิบท่อนหรือรวมปริมาตร เกินกว่าสี่ลูกบาศก์เมตร โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง หรือรอยตรารัฐบาลขาย โดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?...

                ประเด็นนี้ทางป่าไม้เรามีนายอดุลย์ศักดิ์ขึ้นเบิกความ วันนั้นผู้เขียนได้ไปฟังที่ศาลด้วย แต่ไปไม่ได้พบกับอดุลย์ศักดิ์ จึงไม่ได้ให้ข้อแนะนำ แต่คิดว่า ท่านอัยการที่เป็นโจทก์คงจะคอยแนะนำอยู่แล้ว แต่มีตอนหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนต้องหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะศาลท่านถามว่า ไม้พะยูงเป็นไม้หวงห้ามใช่หรือไม่ อดุลย์ศักดิ์ฯ ตอนแรกนิ่งเงียบท่าทางอึกอัก ผู้เขียนนั่งอยู่ไม่ไกลจากอัยการที่ยืนซัก เหมือนกับท่านพูดเบาๆ กับอดุลย์ศักดิ์ฯ ว่า “เขาจับกันทุกวัน” นั้นแหละทำให้อดุลย์ศักดิ์     หลุดปากตอบศาลท่านว่า เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. พวกเรามีประเวศ ไปนั่งฟังต่างพากันหายใจโล่งอก...

                ประเด็นนี้ศาลท่านถามอัยการท่านช่วยชักให้อยู่ในกรอบจึงได้ใจความสรุปได้ว่า นายอดุลย์ศักดิ์ หลังจากร่วมตรวจสอบไม้ของกลางแล้ว ได้มีความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาว่าไม้พะยูงของกลางน่าจะตัดในราชอาณาจักร เนื่องจากไม่มีรูปรอยตราของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประทับไว้  และไม่มีรอยตราป่าไม้ประเทศลาว (ปมล) ประทับไว้ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจยึดไม้ของกลางได้บริเวณอำเภอวารินชำราบ  ซึ่งห่างจากชายแดนไทย – ลาว ประมาณ 120 กิโลเมตร ภูมิประเทศดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ที่จะนำไม้ของกลางเข้ามาห่างจากชายแดนขนาดนี้  ทั้งไม้พะยูงของกลางในประเทศไทยมีจำนวนมากในเขตจังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร ยโสธร เชื่อว่าไม้ของกลางถูกตัดในประเทศไทย   ศาลท่านเห็นว่านายอดุลย์ศักดิ์ฯ เป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสีย คำให้การจึงมีน้ำหนัก...

                คราวนี้มาดูว่าผู้ต้องหาต่อสู้บ้าง...    

                ส่วนการต่อสู้ของจำเลยที่ 1 (นายระพีพัฒน์ฯ) ที่เบิกความว่า ไม้ของกลางเป็นไม้ที่นำเข้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำเลยที่ 1 ได้ซื้อจากคนลาว 3 คน มีนางหนูคล้าย จำนามสกุลไม่ได้ ท้าวบุญมี และท้าวเล็ก ไม่มีนามสกุลที่อยู่เมืองไชยภูทอง แขวงสะหวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  จากนั้นได้ว่าจ้างเรือหางยาวขนไม้ของกลางเข้าฝั่งไทยและใช้รถบรรทุก 6 ล้อ ขนไม้ของกลางไปเก็บที่โกดังซอยสหกรณ์โคนมเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร แต่เมื่อตอนถูกศุลกากรจับในวันแรก จำเลยที่หนึ่งกลับให้การกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรทันทีที่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าของไม้ว่า  ซื้อสินค้าจากนายเล็ก นายบุญมี และนางหนูค่าย ที่อยู่อำเภออำนาจเจริญ ซึ่งเป็นข้อพิรุธขัดแย้งกันว่าซื้อไม้จากที่ใดแน่? จึงมีน้ำหนักน้อยหักล้างพยานโจทก์ไม่ได้   และคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอีกว่า นายวสันต์ฯ กับนายวิชิตฯ กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่  ประเด็นนี้ถ้าผู้อ่านได้อ่านผ่านมาจะเห็นว่าศุลกากรกัน 2 คนนี้เป็นพยาน พอมาถึงกฎหมายป่าไม้  เราตั้งข้อหาร่วมกันหมายถึงเป็นตัวการทั้งสามคนมีโทษเท่ากัน...

                คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่สอง และที่สาม ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่?...

                พยานโจทก์นายนิมิตรฯ กับพวก อีก 2 คน เจ้าหน้าที่ศุลกากรเบิกความตรงกันว่า  ขณะเข้าตรวจค้นรถจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ความร่วมมือให้การว่าการขนส่งไม้นี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ใบกำกับการขนสินค้า และไม้ของกลางแต่ละท่อนไม่มีรูปรอยตราของเจ้าหน้าที่ประทับไว้  ประกอบกับจำเลยที่ 1 เบิกความตอบถามค้านโจทก์ว่า  หลังจากขนไม้ขึ้นรถแล้วได้แจ้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าไม้ของกลางไม่มีใบเบิกทางเนื่องจากเป็นไม้หวงห้ามมิชอบด้วยกฎหมาย ห้ามขนย้าย จำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่า  เป็นไม้ที่ลักลอบตัดในประเทศเป็นไม้เถื่อนยังรับที่จะขนไม้ไปส่งอีก จึงถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาร่วมข้ออ้างที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิเสธจึงพังไม่ขึ้น...

                พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามซึ่งเป็นไม้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 10 ปี รวมจำคุกคนละ 11 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 7 ปี 4 เดือน ริบไม้ของกลางและให้นับโทษจำเลยที่ 1 (นายระพีพัฒน์ฯ) ต่อจากโทษในคดีหลายเลขแดงที่ 1778/2550  ของศาลนี้...

                คดีแดงที่ว่านี้อยู่ในตอน (8) (9) ...

                เรื่องนี้เปรียบได้กับคำที่ว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา”

                ติดตามเรื่องสนุกประหลาดในตอน (12)....

 

พัน  ชาดไพร

 


Last updated: 2014-07-05 07:44:47


@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (11)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (11)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,101

Your IP-Address: 18.116.24.111/ Users: 
1,100