พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๖)
...ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๙ การออกตรวจสอบที่ดินในท้องที่จริงเสร็จสิ้นลงจำนวน ๑๐ ราย ได้บันทึกปากคำเจ้าของที่ดิน ๑๐ ราย และตอไม้ที่ตรวจเป็นชนิดไม้พะยูง ไม้ประดู่ ไม้สาธรกลับมาสำนักงานได้ให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพหน้าตัดของตอไม้ทั้งหมดที่ได้ไปลอกลายวงปีมา ทั้งของโคนไม้ของกลางด้วยแล้วนำมาทำภาพเชิงซ้อนดูว่ามีท่อนใดบ้างที่เข้ากันได้ ปรากฏผลว่า เข้ากันไม่ได้แม้แต่ท่อนเดียว จึงได้นำแผ่นพลาสติกใสที่มีภาพตอไม้ไปทำการทาบกับโคนของท่อนไม้ของกลางที่ตรวจยึดอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ปรากฏว่าเข้ากันไม่ได้อีกเช่นกัน ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าไม้ประดู่ พะยูง และสาธร แก่นไม้มีสีสันที่แตกต่างจากกระพี้มาก การกระทำวิธีนี้หากเป็นไม้ที่มีที่มาจากต้นเดียวกันย่อมต่อกันได้ หรือแม้จะทอนโคนออกไปบ้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หรือมากกว่านั้น พอจะอนุมาณรูปร่างของวงปีได้เช่นกัน เว้นแต่ไม้ของกลางจะเป็นกิ่ง แต่เท่าที่ตรวจไม้พะยูง และไม้ประดู่ ไม้สาธร ของกลาง ไม่ได้มีขนาดเล็กพอที่จะเป็นกิ่ง และตอไม้ที่ไปตรวจก็มีขนาดไม่ใหญ่นัก จึงเชื่อได้ว่าไม้ของกลางที่ตรวจยึดไม่ได้มาจากที่ดินกรรมสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้างจริง จึงสรุปประเด็นการสืบสวนได้ ๓ ประเด็นหลัก คือ
๑. เอกสารที่นำมาอ้างได้จัดทำขึ้นอย่างผิดปรกติวิสัย บางฉบับมีการลบแล้วเขียนขึ้น นำไปถ่ายซ้ำบางฉบับรับรองกันมาว่าไม้พะยูง ๑ ต้น ในโฉนดตัดฟันได้ ๓๐ ท่อน ท่อนละ ๒ เมตร ๑๐ เซนติเมตร แสดงว่าไม้พะยูงต้นนี้ต้องมีความสูงอย่างน้อย ๖๐ เมตร
๒. ต้นตอไม้ในที่ดินตรวจแล้วเข้ากันไม่ได้
๓. ราษฎรเจ้าของที่ดินทั้งหมดให้การตรงกันว่าไม่เคยรู้จักกับผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของไม้ และไม่ได้ขายไม้ให้กับคนที่อ้างเป็นเจ้าของไม้ ซึ่งได้ลงนามรับรองสำเนาเอกสารทุกฉบับ แต่ยอมรับว่าเอกสารตรงตามตัวจริงของต้นฉบับ แต่ไม่ทราบว่าไปอยู่กับคนอ้างได้อย่างไร ?
...มีประเด็นหนึ่งที่พวกเราจะต้องวินิจฉัย คือในโกดังมีการสร้างโรงเรือนกว้างประมาณ ๔ เมตร คูณ ๔ เมตร หลังคามุงด้วยสะแลนหรือตาข่ายสีดำกันแดดไว้ที่พื้นล่างเต็มไปด้วยปีกไม้เศษขี้เลื่อย และเปลือกกะพี้กระจายเต็มบริเวณมีความหนาประมาณ ๑ ฟุต ประเวศเสนอว่าข้อเท็จจริงตรงนี้เข้าข่ายโรงงานแปรรูปไม้ตอนบันทึกการจับกุมตนเองได้หารือกับเจ้าหน้าที่จากสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด แล้วเขาบอกว่า ไม่ได้ ถ้าจับในข้อหาตั้งโรงงานเขาจะไม่ร่วมด้วย จึงได้มาหารือผู้เขียน ผู้เขียนให้ตั้งได้เลย ข้อเท็จจริงมันสมบูรณ์แล้ว ตั้งข้อหาว่า ตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตร่วมไปอีกหนึ่งข้อหาเจ้าหน้าที่จากจังหวัดไม่ร่วมจับกุมก็ไม่เป็นไร เราจับกันเองได้...
มาถึงการพิจารณาจากพยานเอกสาร พยานแวดล้อม และพยานวัตถุ คณะเจ้าหน้าที่ลงความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ มาตรา๖๙ ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครองครองเกิน ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร และมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต จึงได้ร่วมกันตรวจยึดไม้ประดู่ ไม้พะยูง ไม้สาธร จำนวน ๒๒๐ ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร ๒๔.๑๖๗ ลูกบาศก์เมตร ไว้เป็นของกลางในการกระทำผิด และนำส่งพนักงานสอบสวนสภ.อ.พิบูลมังสาหาร ตามคดีอาญา ๓๙๔/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ เหตุเกิดระหว่างวันที่ ๘ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ บริเวณบ้านไม่มีเลขที่ ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในการแจ้งความครั้งนี้พวกเรามั่นใจแล้ว และเริ่มทยอยจัดส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้ สภ.อ.พิบูลมังสาหาร ตรวจสอบอะไรเสร็จก็รีบสรุปส่ง หลังจากเข้าแจ้งความในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ แล้ว ยังเหลืออีก ๔ ราย ยังไม่ได้ตรวจสอบในวันที่ ๔ ถึง ๕ กันยายน ๒๕๔๙ ได้ไปทำการตรวจสอบส่งผลการตรวจสอบให้สภ.อ.พิบูลมังสาหาร ในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๙ ขอทำความเข้าใจเพิ่มเติมสักนิด การแจ้งความในชั้นต้นเราจะแจ้งความระบุเพียง ชนิด จำนวนไม้ของกลาง และตั้งข้อกล่าวหาไว้ หลังจากนั้นเราออกแสวงหาหลักฐานเพิ่มเติมโดยการตรวจแปลงที่ดินและสอบปากคำเจ้าของที่ดินเท่าที่จะให้โอกาส เนื่องจากเราไม่มีอำนาจในการออกหมายเรียก หากเขาไม่ให้ความร่วมมือก็ทำไม่ได้ แต่ทุกรายที่ไปพบได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อตรวจสอบ ๑๐ รายแรกแล้วก็กลับมาจัดทำหลักฐานการทำภาพเชิงซ้อน และนำแผ่นพลาสติกใสไปทาบที่ไม้ของกลางอีกครั้ง ซึ่งมีบางครั้งที่พนักงานห้างหุ้นส่วนไปร่วมด้วย แต่การปฏิบัติงานในสนามเราแจ้งให้มานำพิสูจน์ทุกครั้ง ทั้ง ๑๐ รายนี้ได้จัดทำเอกสารทั้งหมด ๒๘๖ แผ่น จัดส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.อ.พิบูลมังสาหาร เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ และที่เหลืออีก ๔ ราย ตรวจสอบในทำนองเดียวกับรายแรก เสร็จสิ้นเมื่อ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๙ และจัดส่งให้สภ.อ.พิบูลมังสาหารเมื่อ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๙ สาเหตุที่แยกตรวจ ๔ รายหลัง เนื่องจากจังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ อยู่นอกอำนาจเขตศาลอุบลราชธานี ได้จำนวนเอกสาร ๑๓๒ แผ่น จำนวนเอกสารที่คณะทำงานในครั้งนี้ส่งให้ สภ.อ.พิบูลมังสาหารรวมทั้งสิ้นจำนวน ๔๗๒ แผ่น นับว่าไม่น้อยเลยในการจับกุมคดีไม้ จำนวน ๒๒๐ ท่อน/เหลี่ยม หากเป็นการปฏิบัติงานธรรมดา เอกสารน่าจะมีบันทึกการจับกุมที่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อหา รายนามผู้ร่วมจับกุม ประมาณ ๔-๕ หน้า บัญชีไม้ ๑๐ แผ่น แผนที่เกิดเหตุ ๑-๒ แผ่น รูปถ่าย ๒ แผ่น รวมไม่เกิน ๒๐ แผ่น ผู้เขียนมานั่งนึกดู ไม่ขอปรามาสผู้ใด แต่ขอเรียนว่า เป็นงานที่สาหัสสากันมาก ใช้ทั้งแรงงานและมันสมอง แล้วเราจะรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของเราทำงานในลักษณะนี้ จะได้บ้างหรือไม่ท่านผู้อ่านช่วยเป็นแรงใจให้ทีมงานนี้ด้วย ว่าคดีนี้จะจบลงด้วยเสียงหัวเราะหรือเศร้าซึม...มาว่ากันต่อ เราได้กล่าวถึงพวกเราที่เป็นพนักงานสืบสวน ต่อไปมาดูพนักงานสอบสวนบ้าง พอทางป่าไม้เราไปแจ้งความว่า นายระพีพัฒน์ฯ ในฐานกรรมการห้างหุ้นส่วนจำกัด รับว่าเป็นเจ้าของไม้ เนื่องจากนางสาวฐิติมาฯ พนักงานแจ้งให้ทราบ พนักงานสอบสวนจึงได้ขออำนาจศาลออกหมายจับนายระพีพัฒน์ฯ และพนักงานสอบสวนเห็นว่า เราเอาใจใส่ในคดีมาก จึงได้แจ้งให้เราทราบว่า พนักงานสอบสวนจะออกไปสอบปากคำเจ้าของที่ดินด้วยตนเอง ทั้ง ๕ จังหวัด ๑๔ ราย เพราะหากมีหมายเรียกไปเกรงจะล่าช้า ผู้เขียนจึงเสนอว่า ทางเราได้ไปพื้นที่มาแล้ว จะให้พนักงานขับรถเป็นไกด์นำทางจะสะดวกและรวดเร็วกว่าไปเอง พนักงานสอบสวนตอบตกลง พนักงานขับรถพาไปพื้นที่ประมาณ ๖ วัน ก็สอบสวนราษฎรเสร็จ สำหรับนายระพีพัฒน์ฯ เมื่อมอบตัวแล้วขอประกันตัวออกไปสู้คดี ได้มอบหลักฐานเอกสารให้พนักงานสอบสวน ๑๔ ราย เช่นกัน มีเอกสารที่ตรงกับที่ยื่นให้กับคณะเราได้รับเพียง ๑๒ ราย แต่พนักงานสอบสวนได้สอบตามที่ได้ยื่นให้กับเรา เนื่องจากเราไปสอบมาก่อนและพนักงานสอบสวนได้มีหนังสือไปยังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ขอผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์ไม้ ได้รับคำตอบว่าไม่มี แต่จะขอไปที่กรมป่าไม้ให้ ต่อมาผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้ได้มาทำการตรวจไม้ นายระพีพัฒน์ผู้ต้องหาไม่ได้มานำตรวจ ทางผู้จับจึงให้คุณประเวศฯเป็นผู้นำไปตรวจเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจจำนวน ๒ ราย พักหนึ่งคืนเดินทางกลับ ได้ส่งผลการตรวจสอบให้พนักงานสอบสวน ซึ่งตามมารยาททางคณะเราจะไม่ถามว่ามีความเห็นว่าอย่างไร แต่คิดว่า คงจะไม่ใช้พิจารณาแบบที่เคยพบมาว่า ตอไม้ที่ปรากฏมีปริมาตรครองคลุมไม้ของกลาง ฯลฯ เนื่องจากตอไม้ที่เราตรวจทั้งสิ้นมีเพียง ๒๐ ตอ ไม้ของกลางจำนวน ๒๒๐ ท่อน/เหลี่ยม ไม้ของกลางยาว ๒.๑๐ เมตร หากจะครอบคลุมจริง ทุกต้นต้องสูงเกิน ๒๐ เมตร เป็นอย่างต่ำ ซึ่งจะไปหาไม้พะยูงที่ไหนจะได้ขนาดและสูงเท่าเทียมกัน ปัญหาข้อนี้ตัดไปได้ เมื่อพนักงานผู้จับกุมได้ทำหน้าที่สืบสวนแสวงหาหลักฐาน ทั้งพยานเอกสาร (รูปถ่าย) บันทึกปากคำเจ้าของที่ดิน รูปถ่ายภาพเชิงซ้อน ตลอดจนผลการตรวจพิสูจน์ ในทางกายภาพส่งให้พนักงานสอบสวนหมดสิ้นแล้วต่อไปเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนบ้างว่าจะต้องทำอะไร...ขอให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษา
รูปภาพแสดงการเปรียบเทียบ
หน้าตัดของตอไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองกับไม้ที่รา กองไว้หมอนไม้ออป. อ. พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
Last updated: 2014-03-29 10:03:50
|
@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๖) |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๖)
|