พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๕)
เมื่อมีการสั่งไม่ฟ้องคนจับก็หมดกำลังใจ เพราะอุตส่าห์อดหลับอดนอนดักจับ และเจ้าหน้าที่บางคนที่ไม่อยากจับจะใช้เป็นข้ออ้าง จับไปก็หลุด
...ในตอนที่ (๒), (๓), และ(๔) เราได้กล่าวถึงองคาพยพของหน่วยงานที่ดูแลปกป้องไม้พะยูงและบุคคลากรไปบ้างแล้ว ต่อไปเรามาดูการต่อสู้คดีของพ่อค้า ซึ่งเราได้เกริ่นไปในตอนต้นและต่อจากนี้ไปจะเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง ว่าบทลงโทษของกฎหมายป่าไม้เรานั้นมีโทษสถานเบาจริงหรือไม่ ในกรณีที่หน่วยป้องกันรักษาป่า หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับรถบรรทุกขนไม้พะยูงมีทั้งแปรรูปและไม้ท่อนจำนวนมาก ตั้งแต่ร้อยท่อนขึ้นไป สิ่งแรกที่พ่อค้าจะยื่นให้เมื่อเราถามถึงหลักฐานการได้มาของไม้ คือ โฉนดที่ดิน บางรายก็ ๔ ฉบับ บางรายก็ ๘ ฉบับ แล้วแต่พ่อค้าจะหาสำเนาโฉนดได้ และมีหนังสือรับรองการตัดฟัน ๑ ต้น ตัดได้ ๒๓ ท่อน บางต้นตัดได้ถึง ๓๐ ท่อน และมีเอกสารประกอบแสดงว่าไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายป่าไม้ ประกอบอีก ๔-๕ ฉบับ และบางฉบับยังระบุว่าใครไปละเมิดสิทธิของเขาจะถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งจนถึงที่สุด และจะจัดการเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของเราไม่กล้าจับกุม หรือถ้าจับกุม ก็ต้องทำเรื่องขอผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ไม้จากกรมป่าไม้ ซึ่งมีอยู่น้อยมาก บางหน่วยรอไม่ไหวกลัวว่าเขาจะฟ้องกลับต้องปล่อยรถไปก็มี เพราะตนเองในชั้นต้นเพียงอายัดไว้ตรวจสอบเท่านั้น กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ของเราต้องตกเป็นเบี้ยล่างโดยปริยาย รายที่ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจเมื่อไม้มีจำนวนมาก ไปตรวจไม่ทั่วถึงก็มาทำความเห็นในการตรวจพิสูจน์ไม้ ซึ่งมีสาระสำคัญเพียง ๓-๔ บรรทัดว่า ตอไม้ที่ปรากฏมีปริมาตรไม้ครอบคลุมปริมาตรของไม้พะยูงของกลางได้ และจากการตรวจสอบความเก่าของไม้พะยูงของกลางกับตอไม้ในที่ดินที่มีโฉนด น.ส.๓ก มีความเก่าใหม่ใกล้เคียงกัน จึงน่าเชื่อได้ว่าไม้พะยูงของกลาง ถูกตัดทอนมาจากตอไม้ในที่ดินที่มีโฉนด น.ส.๓ก ของบุคคลทั้งสี่จริง เมื่อพนักงานสอบสวนเห็นก็รีบสั่งไม่ฟ้อง พอไปถึงพนักงานอัยการไม่รอช้าเช่นกัน มีคำสั่งไม่ฟ้องส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนลงนามอนุมัติ คดีจึงเป็นเด็ดขาดไม่ฟ้อง ต้องคืนของกลางทั้งหมด หากคนจับรายใดที่เคราะห์ร้ายหน่อยอาจถูกฟ้องกลับได้ จึงทำให้ผู้จับกุมเข็ดขยาดไปตาม ๆ กัน เราลองมาวิเคราะห์ความเห็นที่ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ไม้ให้ความเห็น จะเห็นได้ว่าผู้เชี่ยวชาญพยายามที่จะกล่าวหลบเลี่ยงขนาดความโตของตอไม้มาเป็นส่วนเปรียบเทียบ เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อท่อน จะใช้องค์รวมของปริมาตรและความเก่าใหม่ เมื่อมีการสั่งไม่ฟ้องคนจับก็หมดกำลังใจ เพราะอุตส่าห์อดหลับอดนอนดักจับ และเจ้าหน้าที่บางคนที่ไม่อยากจับจะใช้เป็นข้ออ้าง จับไปก็หลุด เคยไปถามพนักงานอัยการ ท่านบอกว่า ป่าไม้พวกคุณรับรองกันมาเอง ช่วยไม่ได้ ให้ไปตกลงกัน ถ้ามานั่งคิดเล่น ๆ ก็จริงเหมือนที่ท่านพูด พวกเราเผาเรือน แต่เรื่องในลักษณะนี้จะแก้อย่างไร...? มีตัวอย่างที่เป็นเรื่องจริง ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วกรุณาอ่านเป็นกรณีศึกษา...!!!?
...เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๙ หลังจากที่เราเข้าตรวจคลังสินค้าของศุลกากรแล้ว เดินทางกลับในขณะนั้น กำลังพลของเรามี จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ สังกัดกรมอุทยานฯ หน่วยป้องกันรักษาป่า สังกัดกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่จากสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ได้รับรายงานจากสายของเราว่ามีคลังสินค้าหรือโกดังตั้งอยู่ในทางที่ผ่านมีการเก็บไม้ไว้จำนวนมาก จึงพากันไปตรวจสอบปรากฏว่า เรายังเข้าไม่ได้แต่มีช่องให้ดูข้างในโกดังได้ เพราะเป็นโกดังที่ล้อมรอบไปด้วยด้านหน้าเป็นไม้ไผ่ขัดแตะล้อมรอบด้วยตาข่ายสีดำ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ มองลอดช่องเข้าไปจะเห็นไม้พะยูง มีทั้งที่แปรรูปแล้ว และยังเป็นท่อน ผู้เขียนขณะนั้นในฐานะอาวุโสที่สุด ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๙ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ของสำนัก ๒ นายดำเนินการโดยแบ่งแยกหน้าที่กันทำ คนที่หนึ่งไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ คนที่สอง ไปขอหมายค้นจากศาลจังหวัด และทราบว่าหมายค้นจะได้ในวันรุ่งขึ้น จึงให้หัวหน้าหน่วยป้องกันในพื้นที่ที่มาร่วมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าไม้เกรงว่าจะมีการขนหนีในตอนกลางคืน...พอวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ ได้นำหมายค้นมาทำการค้นโดยเจ้าของโกดังได้มอบอำนาจให้พนักงานสตรีมานำค้นโดยเปิดประตูให้ ตรวจภายในปรากฏว่ามีไม้แปรรูป และไม้ที่ยังมิได้แปรรูป (ไม้ท่อน) ปีกไม้และเศษไม้ที่หลงเหลือจากการแปรรูป จำนวนมากกองอยู่ทั่วไป โดยไม้ทั้งหมดไม่ปรากฏรูปรอยตราของเจ้าพนักงาน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหลังคาป้องกันแดด และลมปกคลุมไม้ดังกล่าวไว้ด้วย ในระหว่างตรวจค้น พนักงานสตรีของห้างหุ้นส่วนเจ้าของโกดังได้นำเอกสารการได้มาของไม้ เป็นเอกสารสิทธิ์ มีทั้งโฉนด น.ส.๓ สค.๑ และ สปก.๔-๐๑ มีการมอบ ๒ ครั้ง รวมเอกสาร ๑๔ ชุด เอกสาร ๑๘๖ แผ่น เมื่อนายไมตรีซึ่งเป็นผู้นำหมายค้นมาทำการค้นและรับเอกสารแล้วรายงานให้ผู้เขียนทราบ ลักษณะการต่อสู้เช่นนี้เคยรับฟังผู้ใต้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้เล่าให้ฟัง มาเจอด้วยตนเอง ความที่เป็นผู้อาวุโสสุดทั้งตำแหน่งและวัยวุฒิ คิดว่าลองจับงานนี้ด้วยตนเองซักตั้งก็ดี จึงให้คุณไมตรี คุณสุชีพ คุณเชษฐา ตรวจสอบไม้ในโกดังโดยร่วมกับพนักงานบริษัทตรวจสอบไม้ และผู้เขียนให้ทำการยึดโดยให้ขนไม้ที่ตรวจยึดไปเก็บรักษาไว้ที่สวนป่า ออป.พิบูลมังสาหาร มอบหน้าที่ให้คุณไมตรีและคณะในการจัดทำแผนที่เกิดเหตุ ตรวจวัดตีตรายึดนำไปเก็บรักษา เริ่มตั้งแต่ ๘-๑๗ สิงหาคม ก็เสร็จสิ้นคราวนี้มาดูสายของผู้เขียนบ้าง กลยุทธ์ ของการดำเนินคดีที่ผู้เขียนเข้าใจ เสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้จบกฎหมายเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต เข้าใจเพียงว่าในระบบศาลไทยเป็นระบบกล่าวโทษ เมื่อกล่าวโทษเขาอย่างไร หรือตั้งข้อหาเขาว่าเขาทำผิดอะไร แม้ตัวบทกฎหมายจะกล่าวว่า หากผู้ครอบครองไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าสิ่งนี้ได้มาชอบด้วยกฎหมายถือว่าของหรือสิ่งนั้นผิด ผู้ครอบครองหรือผู้กระทำต้องผิดด้วย จึงได้คิดว่าระบบนี้หากเรามัวมานั่งงอมืองอเท้าให้เขานำพิสูจน์มันจะสายเกินไป เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว จึงสั่งให้สายคุณไมตรีจัดการกับไม้ของกลาง พยายามจัดเรียงไม้ของกลางทั้ง ๒๒๐ ท่อน จะเป็นกี่แถวก็ได้เท่าที่พื้นที่จะอำนวย ให้ทิศทางของท่อนที่คิดว่าเป็นโคนต้นไปในทิศเดียวกัน แล้วใช้แผ่นพลาสติกใสทาบวาดภาพ โดยลอกลายวงปีขอบนอกของไม้ทั้งหมด หากมีใจไม้ให้วาดและทำตำหนิรอยแยกหรือแตกของใจไม้ ลงบนแผ่นพลาสติกให้ได้ตำหนิให้มากที่สุด แล้วถ่ายภาพหน้าตัดทั้ง ๒๒๐ ท่อน/เหลี่ยมให้เรียบร้อย... คราวนี้มาทางด้านผู้เขียนบ้าง วันนั้นผอ.ส่วนจัดการต้นน้ำ คุณณรงค์ไปด้วย จึงขอความร่วมมือร่วมทีม โดยมีคุณประเวศ คุณเจริญวัย ดำเนินการในเรื่องเอกสารและได้อธิบายให้ทีมงานทราบว่า ในระบบกล่าวหาหากเราสามารถที่จะหาหลักฐานมารัดหรือมัดเขาให้แน่นจนดิ้นไม่หลุด ผู้ต้องหาจะจำนวนในหลักฐาน หากเรามัวแต่รอพนักงานสอบสวน เสมือนทิ้งความรับผิดชอบให้เขาทั้งหมด เขาจะใช้แต่วิธีหรือตำราที่เรียนมาออกหมายเรียก ขอผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ ซึ่งในขณะนี้เราเป็นพนักงานสืบสวนแม้อำนาจไม่มากแต่การเสาะแสวงหาหลักฐานเราก็ทำได้เท่าขีดกฎหมายกำหนด จึงได้วางหลักเกณฑ์ในการออกเสาะแสวงหลักฐานโดยวางหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบดังนี้...
๑. ตรวจเอกสารที่เจ้าของไม้นำมาอ้างว่าถูกต้องเพียงใด ใครเป็นผู้รับรองสำเนาเอกสาร
๒. ตรวจคำนวณไม้ในบัญชีหลักฐานที่ผู้เป็นเจ้าของกล่าวอ้างว่าควรมีปริมาตรใกล้เคียงกับไม้ของกลางหรือไม่? เพราะหนังสือรับรองการตัดไม้ที่ผู้เป็นเจ้าของไม่ได้ทำบันทึกว่า ไม้พะยูง ๑ ต้น ตัดฟันได้ ๓๐ ท่อน ท่อนละ ๒ เมตร แสดงว่าต้นพะยูงต้องสูง ๖๐ เมตร เป็นไปได้หรือไม่?
๓. เข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบตอไม้ในแปลงที่ดินจริงทำการถ่ายภาพและใช้แผ่นพลาสติกใสทาบจำลองหน้าตัดไม้ลากขอบเส้นวงปีเส้นสุดท้ายพร้อมตำหนิใจไม้หรือรอยแตก โพรง ณ จุดใดวาดให้หมดทุกตอหากเจ้าของไม้ไม่มานำตรวจให้ขอความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินและผู้ปกครองท้องที่เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสักขีพยาน
๔. อาศัยพยานแวดล้อมจากที่เกิดเหตุคำนวณความสูงของต้นไม้ในที่ดิน เช่น การตัดไม้ส่วนใหญ่จะล้มไม้ลงแล้วทอนเอาแต่ท่อนไม้ส่วนเรือนยอดคงทิ้งไว้ เราทำการวัดระยะจากโคนไปถึงตำแหน่งที่ตัดของเรือนยอดเราก็จะได้ความสูงของไม้ต้นนั้น มาคำนวณจำนวนท่อนและเทียบเคียงกับการรับรองในเอกสารได้ หากต้นใดไม่เหลือเรือนยอดไว้ก็สอบถามจากเจ้าของที่ดินหรือดูจากต้นไม้ใกล้เคียงเพื่อประมาณการ
๕. ตรวจสอบตอไม้ว่าเป็นตอเก่าหรือตอใหม่ ดูจากความโตและความสูงของกิ่งที่แตกแขนงออกข้างลำต้นเป็นตัวคำนวณว่า ได้ตัดผ่านพ้นไปแล้วกี่ปี
๖. หากพิสูจน์ไม่ได้จริง ๆ ว่า ไม้ควรสูงเท่าใดให้ใช้วิชาการเข้าช่วย เพราะไม้พะยูงที่เราเคยพบจะสูงที่สุดระหว่าง ๒๐-๒๕ เมตร เท่านั้น
ทีมงานของผู้เขียนรีบเข้าพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ เป็นเวลา ๑๘ วัน ในการตรวจสอบครั้งนี้ได้ทำหนังสือให้ผู้เป็นเจ้าของไม้มานำตรวจด้วยทุกราย และยังมีการประสานเตือนทางโทรทัศน์ ทุกครั้งเพื่อให้นำพิสูจน์ แต่ผู้เป็นเจ้าของรับปากว่าจะมานำ แต่ที่สุดก็ไม่มา พวกเราก็เดินหน้าโดยขอกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นพยานทุกครั้งไป โดยได้ตรวจสอบในท้องที่อำนาจเจริญ อุบลราชธานี... เรามาติดตามดูว่าการดำเนินคดีกับพ่อค้ารายใหญ่จะดำเนินการในรูปแบบใดต่อในตอน (๖)....
Last updated: 2014-03-10 19:06:23
|
@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๕) |
|
|
|
|
|
|
|
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๕)
|